ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ช่องโหว่กฎหมายแรงงานต่างด้าว เปิดช่องนายทุนเอาเปรียบแรงงาน

15:01
523
ช่องโหว่กฎหมายแรงงานต่างด้าว เปิดช่องนายทุนเอาเปรียบแรงงาน

แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแล้ว แต่ว่าความต้องการแรงงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ก็ยังคงไม่ลดน้อยลงทำให้เราต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อบ้านปีละหลายแสนคน ขณะที่แรงงานเหล่านั้น ต่างก็คาดหวังว่า การทำงานในประเทศไทยจะทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเรามีกฎหมายรองรับในสิทธิ ความปลอดภัย และสวัสดิการตามหลักสิทธิมนุษยชน

<"">
 
<"">

เกือบ 20 ปีมาแล้วที่กฎหมายไทยบัญญัติให้แรงงานข้ามชาติ จากประเทศ ลาว พม่า และกัมพูชา เข้ามาเป็นแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่จนถึงวันนี้ ปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบจากช่องโหว่ของกฎหมายก็ยังคงอยู่ แรงงานหญิงชาวพม่าคนหนึ่ง ที่มาทำงานในย่านอุตสาหกรรมฝั่งตะวันตกของไทยอย่างถูกกฎหมาย เธอต้องตกงานและไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด มิหนำซ้ำเธอยังถูกเอาเปรียบจากนายหน้าจัดหางานจนทำให้รู้สึกท้อและตัดสินใจที่จะกลับประเทศ

โดย เขม หนึ่งในเป็นแรงงานในระดับล่างที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไทยบ้าน โดยเธอผ่านการทำงานมาหลายรูปแบบ ซึ่งแม้จะไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือ แต่ก็เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง และก็เป็นงานที่คนไทยปฎิเสธ นี่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาด้านกฎหมายที่แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายกำลังเผชิญอยู่

ตามความเป็นความจริง แรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติประกันสังคมปี 2533 ในกรณีที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย พิการ ชราภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร รวมทั้งได้รับเงินสงเคราะห์บุตร และในกรณีว่างงาน ด้วย

รวมถึงประเทศไทยยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติอีกหลายฉบับ โดยที่มีการบังคับใช้เป็นหลักก็คือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ส่วนอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานข้ามชาติ

เซนเทย์ ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติมองว่า กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติของไทยมีหลายฉบับ และต่างก็เป็นกฎหมายที่ดีแต่ในทางปฎิบัติแล้ว กลับพบว่า ทั้งแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมายบางส่วน ถูกนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้กฎหมายเป็นข้อต่อรองเพื่อเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติกับแรงงาน 

ณ เวลานี้ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซียพยายามทำให้กฎหมายแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการทำข้อตกลงร่วมกัน เรื่องการนำแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาเข้าสู่ระบบ ผ่านการจูงใจด้วยระเบียบที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงาน เช่น การประกันค่าแรงขั้นต่ำ มีมาตรฐานระบบจ่ายค่าแรงที่ถูกต้องและตรวจสอบได้ รวมถึงมีหน่วยเฉพาะกิจที่จะเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดข้อโต้แย้ง ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

กฎหมายแรงงานข้ามชาติ บัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ขณะเดียวกันก็อยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่หากการบังคับใช้ยังไม่สามารถทำได้อย่างจริงจัง นอกจากทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้แย่งลงแล้ว ยังเป็นการผลักให้แรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ยิ่งกลายเป็นแรงงานใต้ดิน

ขณะที่แรงงานถูกกฎหมาย ก็อาจตัดสินใจกลับประเทศบ้านเกิด หรือย้ายไปทำงานยังประเทศอื่นที่มีความเป็นธรรม ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ค่าแรง และสวัสดิการมากกว่า ที่ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเอง ก็เตรียมปรับเพิ่มค่าจ้าง เพื่อดึงดูดให้แรงงานชาวพม่า เข้าไปทำงานในประเทศของตน