ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบอดีตอธิการบดี ม.อุบลฯ สร้างหอพักแพง อาจขัดระเบียบราชการ

24 มิ.ย. 55
15:00
146
Logo Thai PBS
ตรวจสอบอดีตอธิการบดี ม.อุบลฯ สร้างหอพักแพง อาจขัดระเบียบราชการ

การก่อสร้างหอพักนักศึกษา 4 หลังของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อปี 2548 ถูกตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการบริหารจัดการโครงการก่อสร้าง โดยอธิการบดีคนปัจจุบัน ตรวจสอบการทำสัญญาของอดีตอธิการบดี พบ ราคาก่อสร้างหอพักรวมดอกเบี้ยสูงถึง 690 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบก็พบว่า โครงการจัดทำเป็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน ไม่มีการกำหนดราคากลาง และไม่มีแบบแปลนก่อสร้าง จนนำไปสู่ข้อสงสัยว่าอาจขัดต่อระเบียบของทางราชการ

หอพักนักศึกษา 4 หลัง ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2548 ในราคากว่า 265 ล้านบาท และต้องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยอีก 423 ล้านบาท ในการผ่อนชำระ 25 ปี ซึ่งหมายถึงหอพักทั้ง 4 หลังนี้มีราคาถึง 690 ล้านบาท จนเป็นที่มาของการตรวจสอบการจัดทำโครงการนี้เมื่อถึงวาระเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยข้อมูลในปัจจุบันว่า มหาวิทยาลัยได้พยายามแก้ปัญหาภาระที่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างหอพักเป็นเงินจำนวนมากในแต่ละเดือนไปแล้ว ด้วยการเจรจากับบริษัทผู้รับเหมา หลังผู้รับเหมายื่นข้อเสนอขายอาคารทั้ง 4 หลังแบบขายขาดให้มหาวิทยาลัย และพบว่าผู้รับเหมารายนี้กู้เงินจากธนาคารมาทำโครงการนี้ จึงเจรจาขอลดราคากับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริงได้ที่ราคา 125 ล้านบาท รวมกับที่ผ่ินชำระไปก่อนแล้ว 92 ล้านบาท ทำให้ราคาหอพักทั้ง 4 หลัง ลดลงเหลือ 217 ล้านบาทเศษ พร้อมระบุว่า การตรวจสอบสัญญาเกิดขึ้นเพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคนในสภามหาวิทยาลัยตั้งข้อสังเกตว่า สัญญาที่มหาวิทยาลัยทำกับบริษัทเอกชนนี้ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ โดยจัดทำเป็นสัญญาร่วมลงทุน เปิดให้เอกชนเข้ามาเสนอทั้งแบบแปลน และราคา โดยไม่ตั้งราคากลาง และไม่มีแบบแปลนของมหาวิทยาลัยเอง

ศ.ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาก่อสร้างหอพักทั้ง 4 หลัง ชี้แจงว่า โครงการนี้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ เพราะเป็นสัญญาร่วมลงทุน โดยอธิบายความจำเป็นต้องทำเป็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน เพราะมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างหอพักให้กับนักศึกษาเพิ่ม แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จึงต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนผ่านระเบียบของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดหารายได้หรือใช้ประโยชน์จากที่ดิน

โครงการนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2545 โดยอดีตอธิการบดี ยืนยันว่า ผ่านความเห็นชอบของสภาแล้วให้จัดทำเป็นสัญญาร่วมลงทุน แต่อธิการบดีคนปัจจุบัน ยืนยันว่า มีเพียงวาระแจ้งให้สภารับทราบเท่านั้น

เมื่อพิจารณาเฉพาะประเด็นการทำสัญญาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้บริหารปัจจุบันอ้างอิงความเห็นจากการสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และได้คำตอบว่า โครงการนี้มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างโดยผ่อนชำระค่าก่อสร้างจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบของราชการ

ขณะที่ผู้บริหารชุดเดิม อ้างเอกสารที่ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาที่จัดสร้างหอพักสวัสดิการนักศึกษา 141 ล้านบาท ด้วยวิธีเดียวกันนี้ โดยศาลเห็นว่า ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ

เมื่อตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินโครงการนี้ พบว่า มหาวิทยาลัยใช้วิธีเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโดยเสนอโครงการทั้งหมด ทั้งแบบแปลน ทั้งงบประมาณก่อสร้างและแนวทางการบริหารจัดการหลังก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสนอตัว 3 ราย อยู่ในข่ายการพิจารณา 2 ราย ซึ่งยื่นข้อเสนอมาแตกต่างกันมาก ทั้งราคาก่อสร้าง แบบแปลน ซึ่งรวมถึงจำนวนห้องพัก จำนวนห้องปรับอากาศ รวมไปถึงนโยบายในการบริหารจัดการหลังก่อสร้างเสร็จ จึงเป็นประเด็นที่อธิการบดีคนปัจจุบัน ตั้งข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้รับเหมา เพราะยากจะเปรียบเทียบข้อเสนอที่แตกต่างกัน โดยไม่มีทั้งราคากลาง และแบบแปลนกลาง

ขณะที่อดีตอธิการบดี ชี้แจงว่า มีข้อกำหนดให้ก่อสร้างหอพักเพื่อรองรับนักศึกษาจำนวน 2,000 คน และต้องมีมาตรฐานของห้องพักตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งเมื่อได้ข้อเสนอมาเช่นนี้ จึงพิจารณาเลือกจาก นโยบายการบริหารจัดการ ซึ่งบริษัทแรก มีนโยบายที่จะดูแลรับผิดชอบเองทั้งหมด ไม่เป็นภาระของมหาวิทยาลัย แต่ต่อมา กลับขอปรับเพิ่มราคา โดยอ้างว่าราคาวัสดุสูงขึ้น มหาวิทยาลัยในขณะนั้น จึงไปเจรจากับบริษัทที่ 2 คือ บริษัทกำจรกิจก่อสร้าง ผู้เป็นคู่สัญญาในที่สุด และยอมรับข้อเสนอของบริษัทนี้ แม้ว่าจะยืนยันให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบการดูแลรักษาเองก็ตาม โดยอดีตอธิการบดี ให้เหตุผลว่า เพราะความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องมีหอพักเพื่อรองรับนักศึกษาเพิ่มขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง