ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบการปะทุของ “ภูเขาไฟ” บนดาวศุกร์จากข้อมูลเก่า “ยานแมกเจลแลน”


Logo Thai PBS
แชร์

พบการปะทุของ “ภูเขาไฟ” บนดาวศุกร์จากข้อมูลเก่า “ยานแมกเจลแลน”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1266

พบการปะทุของ “ภูเขาไฟ” บนดาวศุกร์จากข้อมูลเก่า “ยานแมกเจลแลน”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

การนำข้อมูลเรดาร์เก่าที่ได้จาก “ยานแมกเจลแลน” มาวิเคราะห์ พบว่ามีการปะทุของ “ภูเขาไฟ” สองลูกบนพื้นผิวของดาวศุกร์ ซึ่งเป็นการค้นพบภูเขาไฟที่ยังมีพลังบนดาวศุกร์เพิ่มขึ้นอีก จากข้อมูลเก่าร่วม 30 ปี

ภาพถ่ายของยานแมกเจลแลนขณะกำลังทำการปล่อยออกจากกระสวยอวกาศแอตแลนติส

หลักฐานการปะทุของภูเขาไฟบนดาวศุกร์เพิ่งถูกค้นพบอีกครั้งในปี 2023 จากข้อมูลเก่า 30 กว่าปีจากยานแมกเจลแลน (Magellan) ของ NASA การศึกษาครั้งนี้ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากอิตาลีที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลในคลังจากภารกิจแมกเจลแลนของ NASA เพื่อเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวที่บ่งชี้ถึงการก่อตัวของหินใหม่จากการไหลของลาวา ซึ่งผลจากการศึกษานั้นพบว่าดาวศุกร์อาจมีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่มากกว่าที่คาดคิดเอาไว้

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากยานแมกเจลแลนนั้นพบว่ามีภูเขาไฟมากถึงสองลูกกำลังคุกรุ่นและพ่นลาวาออกมาขณะที่ยานแมกเจแลนโคจรผ่านและเก็บข้อมูล ซึ่งพบว่ากิจกรรมของภูเขาไฟบนดาวศุกร์นั้นมีลักษณะที่เทียบได้กับกิจกรรมภูเขาไฟบนโลก

ภาพสามมิติของภูมิภาค Sif Mons

ในการค้นพบครั้งนี้ใช้วิธีการเปรียบเทียบข้อมูลเรดาร์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในคลังข้อมูลถาวรของ NASA ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เปรียบเทียบข้อมูลจากการทำแผนที่ในปี 1990 กับข้อมูลในปี 1992 ในสองพื้นที่ ได้แก่ ภูเขาไฟ Sif Mons ในเขต Eistla และทางตะวันตกของ Niobe Planitia ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟจำนวนมาก จากการวิเคราะห์ผลข้อมูลดิบของเรดาร์พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงระดับของสัญญาณที่สะท้อนกลับมามากขึ้นจากพื้นผิวของภูมิภาคที่ทำการวิเคราะห์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสัญญาณที่พบในปี 1992 นั้นเมื่อนำมาเทียบรูปร่างของสัญญาณแล้วพบว่ามีรูปร่างคล้ายกับร่องลาวาไหลบนพื้นผิวที่แข็งตัวกลายเป็นก้อนหินแล้ว

ภาพสามมิติของภูมิภาค Lavinia Planitia

สำหรับปริมาณลาวาที่ถูกปลดปล่อยออกมา ในงานวิจัยได้กล่าวว่าในพื้นที่ภูเขาไฟ Sif Mons มีการปลดปล่อยลาวาออกมาและเกิดหินใหม่กินพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร และ ในพื้นที่ Niobe Planitia ที่มีแนวภูเขาไฟหลายลูกมีการปลดปล่อยลาวาออกมากินพื้นที่ 45 ตารางกิโลเมตร หากรวมปริมาตรของลาวาที่ปลดปล่อยออกมานั้นสามารถมากพอที่จะเติมสระว่ายน้ำโอลิมปิกได้เต็มถึง 100,000 สระ หรือ 1.5 ลูกบาศก์กิโลเมตร

การค้นพบกิจกรรมบนพื้นผิวของดาวศุกร์เพิ่มเติมอย่างการระเบิดของภูเขาไฟบนดาวศุกร์นั้นทำให้การศึกษาดาวศุกร์มีความน่าสนใจมากขึ้น ทาง NASA ได้มีแผนการกลับไปสำรวจดาวศุกร์เพิ่มเติมทั้งในภารกิจ DAVINCI และ VERITAS ในภารกิจ VERITAS นั้นจะเน้นไปที่การศึกษาพื้นผิวของดาวศุกร์ด้วยเรดาร์ความละเอียดที่สูงกว่าในสมัยของโครงการยานแมกเจลแลน การสำรวจความโน้มถ่วงของดาวศุกร์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดขึ้นและสะสมตัวใหม่จากกิจกรรมบนพื้นผิวของดาวศุกร์ และการหาคำตอบว่าเนื้อในของดาวศุกร์นั้นมีลักษณะเหมือนกับโลกหรือไม่ ใจกลางของดาวศุกร์ยังคงคุกรุ่นเหมือนกับโลกหรือไม่ แล้วหากร้อนอยู่ทำไมถึงสูญเสียสนามแม่เหล็กไปไม่เหมือนกับโลก และเป็นการตอบคำถามถึงวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ที่จะเป็นองค์ความรู้เพื่อการนำไปใช้ในการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะต่อไป

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : nature, NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยานแมกเจลแลนภูเขาไฟดาวศุกร์สำรวจดาวศุกร์อวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด