วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2025 คณะนักวิจัยที่วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์เกรนเจอร์ (Graineger College of Engineering) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เออร์แบนา-แชมเปญจน์ (University of Illinois Urbana-Champaign) สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานในวารสารเปิด arXiv ผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ChatGPT ในการศึกษาหลักสูตรวิชาหนึ่ง พบว่า ChatGPT ช่วยให้สอบผ่านได้ แต่ “มีราคาที่ต้องจ่าย”
“วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูผลการศึกษาวิจัยที่ดูจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง ดังเช่น ChatGPT ในการศึกษา สภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้น ผลกระทบต่อทั้งนักศึกษา อาจารย์ผู้สอน และระบบการศึกษา ถึงที่สุดคือ ความก้าวหน้าของประเทศ !
ที่มาของโจทย์การศึกษาวิจัย
ผลงานที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ เป็นผลงานของคณะนักวิจัยที่แผนกวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เออแบนา-แชมเปญจน์
สำหรับที่มาของโจทย์การศึกษาวิจัย อย่างตรง ๆ คือ บทบาทของเครื่องมือช่วยในการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมมา ก็เป็นเครื่องมือที่นักศึกษาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทุกคนต้องมี คือ ไม้บรรทัดคำนวณ หรือ สไลด์รูล ต่อมาก็เป็นเครื่องคำนวณไฟฟ้า ต่อมาอีกก็ถึงโทรศัพท์มือถือ เป็นทั้งเครื่องคำนวณ และเครื่องช่วยหาหรือตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ...
และล่าสุด ก็เข้ามาถึงโทรศัพท์มือถือ ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงขึ้น ดังเช่น
* ChatGPT ของ OpenAI สหรัฐอเมริกา
* Bard ของ Google สหรัฐอเมริกา
* Bing ของ Microsoft และ OpenAI สหรัฐอเมริกา
* ERNIE ของ Baidu จีน
สำหรับการศึกษาวิจัยวันนี้ คณะวิจัยเลือกศึกษากับ ChatGPT เนื่องจากเป็นที่แพร่หลายมาก และมีทั้งส่วนที่ให้ใช้ฟรีในโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ ได้ และส่วนที่ต้องเสียค่าสมัครเป็นสมาชิก เพื่อใช้งานได้อย่างไม่จำกัดเวลา...
สาเหตุที่คณะวิจัยเลือกศึกษากับ ChatGPT ส่วนให้ใช้ได้ฟรี เพราะเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นได้จริง นั่นคือ นักศึกษาส่วนใหญ่ สามารถจะเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเป็นการประเมินด้วยว่า ส่วนของ ChatGPT ที่ให้ใช้ได้ฟรี เพียงพอสำหรับนักศึกษาแค่ไหน ?
อีกเป้าหมายหนึ่ง เป็นเป้าหมายต่อเนื่อง หรือเป็นผลต่อคุณภาพการศึกษา สำหรับนักศึกษาประเภท “ขี้เกียจ” ที่จะอ่านตำราหนังสือ หรือลงมือทำโจทย์คำนวณยาก ๆ หรือมาก ๆ ด้วยตนเอง ถ้ามี “ใคร” หรือ “อะไร” ทำแทนได้ ก็จะใช้ให้ทำแทน และ ChatGPT ก็ทำแทน “ได้มาก” ทีเดียว
จริง ๆ แล้ว คณะวิจัยดูจะให้ความสำคัญเรื่องการใช้ ChatGPT ในกรณีสุดโต่ง คือ นักศึกษาที่ “ขี้เกียจ” เอามาก ๆ ...ถึงมากที่สุด และให้ ChatGPT “ศึกษาหรือเรียนแทน” ทั้งหมด...
ซึ่งคณะวิจัย ก็ออกแบบการวิจัยเปรียบเทียบผลการศึกษาของนักศึกษาที่ใช้ ChatGPT เต็มที่ เปรียบเทียบกับผลการศึกษาของกลุ่มนักศึกษาปรกติ ที่ใช้ ChatGPT บ้างหรือไม่ใช้ เป็นกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ...
และซึ่งก็แสดงออก โดยการตั้งชื่อรายงานผลการศึกษาวิจัยนี้ ที่ตีพิมพ์ใน arXiv เป็น “The Lazy Student’ s Dream : ChatGPT Passing an Engineering Course on Its Own” ถอดเป็นพากย์ไทยก็คือ “ความฝันของนักศึกษาขี้เกียจ : ChatGPT สอบผ่านหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ได้เอง”
ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า เจ้า ChatGPT ไปเรียนและไปสอบด้วยตัวเจ้า ChatGPT เอง เพราะยังไม่มีหุ่นยนต์ ChatGPT ที่ทำทุกอย่าง ดังเช่นนักศึกษามนุษย์จริง ๆ ได้ทั้งหมด
แต่จากการออกแบบของคณะวิจัย ก็สร้างสภาพการณ์ให้ “คล้าย ๆ” กับเป็นเจ้า ChatGPT ได้เข้าเรียนวิชาในหลักสูตร ทำการบ้าน ทำรายงาน และเข้าสู่ห้องสอบปลายเทอมด้วย ChatGPT เอง นั่นคือ ให้นักศึกษาที่เป็นมนุษย์จริง ๆ ทำตัวเป็นนักศึกษาที่ “ขี้เกียจ” อย่างที่สุด ใช้ ChatGPT ทำแทนหมดทุกอย่าง ทั้งเข้าเรียน ทำการบ้าน ทำรายงาน และทำข้อสอบ
ChatGPT ในการวิจัยครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนกับนักศึกษามนุษย์คนหนึ่งจริง ๆ ได้เข้าเรียน ได้เรียนรู้ และได้เข้าสอบ เหมือนกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ
แล้วรายละเอียดวิธีการศึกษาวิจัยและผลเป็นอย่างไร ?

วิธีการศึกษาวิจัย
คณะวิจัยประกอบด้วย นายโกคุล ปูทุนาเนลแลม (Gokul Puthunanaillan) และ ดร.เมลเคียร์ ออร์นิค (Melkior Ornik) โดย นายโกคุล ปูทูนาเนลแลม เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ส่วน ดร.เมลเคียร์ ออร์นิค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ในรายงานตีพิมพ์ มีชื่อของ โกคุล ปูทูนาเนลแลม เป็นชื่อแรก ซึ่งแสดงว่า โกคุล ปูทูนาเนลแลม เป็นผู้ทำการวิจัยหลัก
หลักสูตรวิชาที่ใช้ในการศึกษาวิจัย เป็นหลักสูตรวิชา “ระบบควบคุม” (control systems) ระดับปริญญาตรี ใช้เวลาในการทดลองหนึ่งภาคการศึกษา
ในการทดลอง เน้นดูผลการศึกษาจากการทำงานหรือการตอบของนักศึกษาแต่ละคน รวมทั้ง ChatGPT ที่เป็นเสมือนกับนักศึกษาคนหนึ่ง นั่นคือ ไม่มีการประเมินผลจากผลงานประเภททำงานเป็นทีม ดังเช่น การทำรายงานแบบเป็นกลุ่ม
สำหรับรูปแบบของการทดสอบ หรือข้อสอบใช้หลายแบบหลายวิธี คือ :-
*ข้อสอบแบบปรนัย มีหลายคำตอบให้เลือก
*ข้อสอบแบบอัตนัย ระดับซับซ้อน
*ข้อสอบเขียนรายงานเป็นบทความวิเคราะห์ขนาดยาว
เพื่อประเมิน “จุดแข็ง” และ “ขีดจำกัด” ของ ChatGPT ในการจัดการกับโจทย์
*ในรูปของสมการ
*คำถามที่ซ่อนรหัสซับซ้อน
*หลักทฤษฎีและแนวคิดของวิศวกรรมควบคุม
*หลักทฤษฎีหรือหลักคิด (concept) ของ control systems engineering (วิศวกรรมควบคุมหรือวิศวกรรมอัตโนมัติ) ซึ่งเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์เกี่ยวข้องกับระบบควบคุม

ผลการศึกษาวิจัย
ผลการศึกษาวิจัยโดยภาพรวม คือ ChatGPT หรือนักศึกษาที่ใช้ ChatGPT เต็มที่ ในการศึกษา ในการทดสอบและการสอบสุดท้าย สามารถสอบผ่านหลักสูตรที่ศึกษาได้ แต่มีราคาที่ต้องจ่าย !
กล่าวคือ ChatGPT ได้เกรด A สำหรับข้อสอบหรือคำถามที่เป็นแบบตรง ๆ ชัดเจน...
แต่ได้คะแนนเพียง 62 คะแนนสำหรับคำถามชนิดปลายเปิด...
ทำให้ ChatGPT ได้คะแนนรวมทั้งหลักสูตร 82 คะแนน คือ ได้เกรด B ต่ำ (low B)
เปรียบเทียบกับนักศึกษา (เป็นมนุษย์จริง ๆ) ในชั้น ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 84.85 คะแนน
หมายความว่า นักศึกษาที่ขี้เกียจและใช้ ChatGPT เต็มที่ สามารถสอบผ่านหลักสูตรที่ศึกษาได้ คือ ได้คะแนนรวมเป็นเกรด B จาก เกรด A+ (A บวก) ของข้อสอบที่ใช้คณิตศาสตร์อย่างตรง ๆ และได้เกรด D- (D ลบ) ของข้อสอบที่ต้องใช้การวิเคราะห์
สรุปรวบยอด คือ นักศึกษาที่ขี้เกียจ และใช้ ChatGPT เต็มที่ ต้องเสียไปหนึ่งภาคการศึกษา โดยได้ความรู้ที่สำคัญ ดังเช่น การวิเคราะห์เพิ่มขึ้น ไม่มากเลย !
ผลการศึกษาวิจัยที่ละเอียดขึ้น ที่สำคัญ และที่น่าสนใจ มีเช่น
*เปรียบเทียบความเร็วหรือเวลาที่นักศึกษามนุษย์กับ ChatGPT ใช้ ในการทำโจทย์คำถามโดยทั่วไป ChatGPT ชนะขาดอย่างเทียบกันไม่ได้เลย คือ โจทย์ที่นักศึกษามนุษย์ใช้เวลาทำ 20 นาที เจ้า ChatGPT สามารถทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 20 วินาที...
แต่คำตอบของ ChatGPT ก็มีทั้งถูกและผิด
*การเรียนรู้จากความผิดพลาด เมื่อ ChatGPT ทำข้อสอบชนิดปรนัยมีหลายคำตอบและผิด เมื่อรู้คำตอบที่ถูกต้อง ChatGPT ก็ “เรียนรู้” และทำได้ดีขึ้น ในการทำข้อสอบคล้ายกันครั้งต่อไป...
แต่โดยรวม คณะวิจัยสรุปว่า ChatGPT ก็เรียนรู้เพิ่มขึ้นบ้าง ทว่า ไม่มากนัก เช่น ถ้า ChatGPT ทำการบ้านได้ 90 คะแนน เมื่อถึงปลายภาคการศึกษา คะแนนที่ได้ คือ 90 คะแนนเท่าเดิม หรือสูงขึ้นบ้าง เป็น 92 คะแนน
*คำตอบเป็นภาษาและความหมายแปลก ๆ หรือผิดจาก ChatGPT ที่ไม่มีในการสอน ในเอกสารประกอบการเรียนการสอน และในตำรา ตัวอย่างเช่น quasi periodic oscillation
โดยปรกติ ในการเรียนการสอนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับมหาวิทยาลัย การฝึกให้นักเรียนนักศึกษา มีความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ รวมไปถึงการสร้าง “คำ” หรือ “ศัพท์” แปลกใหม่ เป็นสิ่งที่ถือว่า “ดี” “พึงประสงค์” ...
แต่สำหรับการศึกษาวิจัยนี้ คณะวิจัยตั้งเป็นข้อสังเกตใน “พฤติกรรม” หรือ “ความคิด” ของ ChatGPT (ในกรอบของโจทย์การศึกษาวิจัย) ที่ “แปลก”

ก้าวต่อไปจากผลการศึกษาวิจัย
ก้าวต่อไปที่จะเกิดขึ้นทันที จากผลการศึกษาวิจัย ก็คือ กับตัว ดร.เมลเคียร์ ออร์นิค เอง
ดร.เมลเคียร์ ออร์นิค จบปริญญาเอกวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา เป็นนักวิจัยสนใจทางด้าน controls , Dynamic Systems and Estimation (การควบคุม , ระบบไดนามิก และประมาณการ) , Space Systems (ระบบอวกาศ) และ Unmanned Aeriel Vehicle (ยานบินไร้คนขับ) หรือ ยูเอวี (UAV)
ในฐานะเป็นนักวิจัยและนักการศึกษา งานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นทั้งผู้สร้างงานพัฒนาหลักสูตรและเป็นผู้สอน ดร.เมลเคียร์ ออร์นิค กล่าวถึงผล การศึกษาวิจัย และส่วนที่จะเกิดเป็นมรรคผลตามมาว่า เขาเอง จะนำผลจากการศึกษาวิจัย ไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรวิชาของเขา ที่จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมการศึกษาแบบใหม่ ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังเช่น ปัญญาประดิษฐ์ระดับ ChatGPT ในการเรียนการศึกษามากขึ้น
“จากผลของการศึกษา” ดร.เมลเคียร์ ออร์นิค กล่าว “บอกผมว่า ผมจำเป็นต้องปรับตัวผมเอง ในฐานะเป็นผู้ให้การศึกษา”
ปรับอย่างไร ?
“ในการออกแบบหลักสูตรวิชาต่อ ๆ ไป ผมจะเพิ่มคำถามระดับสูงมากขึ้น อาจจะหมายถึงการเพิ่มการทำรายงานเฉพาะเรื่องมากขึ้น...
นักศึกษายังจะใช้โปรแกรมดังเช่น ChatGPT ในการทำโจทย์คณิตศาสตร์ง่าย ๆ แต่โดยการเพิ่มคำถามประเภทปลายเปิดมากขึ้น นักศึกษาก็จะเข้าถึงระดับการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ลึกขึ้น และเรียนรู้เนื้อหาได้จริง ๆ”
นายโกคุล ปูทูนาเนลแลม กล่าวคล้ายสรุปถึงการนำเอา ChatGPT ไปใช้ในการศึกษาว่า ถึงแม้ ChatGPT จะเร็วและให้คำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามที่ชัดเจน แต่ก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง !

ในชั่วชีวิตการทำงานของผู้เขียน มีโอกาสได้ทำงานหลายด้าน แต่สำหรับเรื่องของเราวันนี้ เกี่ยวข้องกับ 2 ด้านมากเป็นพิเศษ คือ
(1) ด้านการศึกษา ในฐานะเป็นครู-อาจารย์ผู้สอน และในฐานะเป็นผู้บริหารเกี่ยวข้องกับงานการพัฒนาและการบริหารจัดการหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย
(2) ด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ในฐานะเป็นนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการเขียน (บทความ, บทกวี, สารคดี, นิยายวิทยาศาสตร์ ที่เป็น warning literature หรือวรรณกรรมเตือนถึงสิ่งไม่พึงประสงค์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ นำเสนอประเด็นและเรื่องราวความเคลื่อนไหวทางวิทยาศาสตร์ ที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาประเทศ
ในส่วนสุดท้ายสำหรับเรื่องของเราวันนี้ ผู้เขียนมีความคิดเห็นและข้อสังเกต สำหรับผลงานการศึกษาวิจัยที่เป็นโฟกัสเรื่องวันนี้ มาฝากให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดด้วย 2 ข้อ
หนึ่ง : การวิจัยสะท้อนคุณภาพการศึกษาและความก้าวหน้าของประเทศ
ไม่ว่าผลการศึกษาวิจัยดังเช่นที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ปริมาณการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ออกมาจากประเทศใดก็ตาม ก็สะท้อนความสำคัญของประเด็นในประเทศนั้น ๆ และผลที่จะเกิดตามขึ้นมาอย่างแน่นอน ก็คือ การตื่นตัวในการปรับปรุงระบบการศึกษา ให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่มีหยุดยั้ง ซึ่งผลที่จะตามมา ก็คือ คุณภาพของคนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในเรื่องการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ สหรัฐอเมริกา ทำให้คนอเมริกันเอง และคนในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอยากไปศึกษาไปวิจัยไปทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา
ผลที่ตามมา ก็จึงทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับหนึ่งของโลก ถึงปัจจุบัน
แล้วต่อไปล่ะ ?
สหรัฐอเมริกาจะยังรักษาความเป็นเลิศ อันเป็นผลจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ต่อไปหรือไม่? เพราะอะไร ?
เป็นประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง ที่จะต้องจับตากันต่อไป
สอง : ChatGPT กับการศึกษาของประเทศไทย
สำหรับการศึกษาของไทย ถึงแม้นักศึกษาส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึง ChatGPT ได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องเสียค่าสมัตรสมาชิกเป็นรายเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นสถานการณ์เดียวกันกับในสหรัฐอเมริกา
ผู้เขียนเองก็สนับสนุนให้นักศึกษาได้ใช้เทคโนโลยีช่วยในการศึกษาให้มาก ซึ่งก็จะช่วยให้นักศึกษาได้มีความรู้ที่ก้าวหน้าขึ้น และระบบการเรียนการสอน ซึ่งรวมทั้งตัวครู-อาจารย์ผู้สอนและหลักสูตร ก็ต้องปรับตัว ปรับวิธีการเรียนการสอนและหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
แต่ผู้เขียนก็ยังกังวลถึงคุณภาพของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายนักศึกษาว่า ตระหนักในความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี เช่น ChatGPT อย่างเหมาะสมหรือไม่
เพราะเทคโนโลยีสามารถช่วยปลดปล่อยให้นักศึกษาได้มีเวลามากขึ้น ในการพัฒนาความคิดที่ลึกซึ้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เฉพาะจากการต้องใช้สมองใช้ความคิด ในการแก้โจทย์ ซึ่งจะเป็น “ความรู้” และ “ความคิด” ที่ฝังติดอยู่ในสมองของนักศึกษาจริง ๆ มิใช่ได้เพียง “คำตอบ” สุดท้ายจาก ChatGPT ซึ่งก็จะช่วยให้ “สอบได้” แต่ในสมอง ไม่มีความรู้เชิงลึก ที่จะเรียกหามาใช้ในอนาคตได้โดยตัวนักศึกษาเอง
ผู้เขียนเชื่อว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยพัฒนาการศึกษาและความก้าวหน้าของประเทศได้ แต่ทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับคนไทยเราเองว่า ใช้เทคโนโลยี เช่น ChatGPT อย่างไร ? แค่ไหน ?
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร ?
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech