ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แผ่นแปะวัดอารมณ์ วิเคราะห์ความรู้สึกผ่านกล้ามเนื้อใบหน้า ช่วยคนที่มีปัญหาการสื่อสาร


Logo Thai PBS
แชร์

แผ่นแปะวัดอารมณ์ วิเคราะห์ความรู้สึกผ่านกล้ามเนื้อใบหน้า ช่วยคนที่มีปัญหาการสื่อสาร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2698

แผ่นแปะวัดอารมณ์ วิเคราะห์ความรู้สึกผ่านกล้ามเนื้อใบหน้า ช่วยคนที่มีปัญหาการสื่อสาร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

นักวิจัยพัฒนาแผ่นแปะขนาดจิ๋วที่สามารถวัดอารมณ์ของผู้สวมใส่ผ่านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ช่วยให้แพทย์เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ความสามารถในการเดาใจ หรือการทำความ “เข้าใจอารมณ์” ของมนุษย์ ก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ยากเกินไป ยิ่งในวงการแพทย์ด้วยแล้วยิ่งต้องทำด้วยความเข้าใจและระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกของตนออกมาเป็นคำพูดหรือสีหน้าได้อย่างชัดเจน ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่เปราะบาง จึงต้องมีผู้ช่วยที่ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น

งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ซึ่งเป็นการวิจัยเกี่ยวกับแผ่นแปะอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากกล้ามเนื้อบนใบหน้า ซึ่งเชื่อมโยงกับอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ความดีใจ เสียใจ หรือเครียด แผ่นแปะนี้มีความแม่นยำสูงถึง 90% ในการวิเคราะห์ความรู้สึกจริงของผู้สวมใส่ โดยไม่ต้องอาศัยการสังเกตสีหน้าหรือกล้องถ่ายภาพแบบเดิม และสามารถติดบนผิวหนังได้ตลอดวันโดยไม่ระคายเคือง

แผ่นแปะมีขนาดเล็กกะทัดรัดและบาง จึงสามารถติดบริเวณใบหน้าได้โดยไม่จำกัดการเคลื่อนไหวหรือการแสดงอารมณ์ ผู้พัฒนาระบุว่าอุปกรณ์ทำงานแบบเรียลไทม์ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแปลผลสัญญาณจากกล้ามเนื้อออกมาเป็นการประเมินอารมณ์อย่างละเอียด เทคโนโลยีนี้เหมาะกับการใช้งานในสถานพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้แพทย์เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้

ภาพ 1 -  การใช้งานแผ่นแปะวัดอารมณ์จากการหดเกร็งกล้ามเนื้อบนใบหน้า

สิ่งที่ทำให้แผ่นแปะนี้แตกต่างจากระบบวิเคราะห์อารมณ์แบบใช้กล้อง คือความสามารถในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจากภายใน ไม่ใช่เพียงภาพใบหน้าภายนอก จึงช่วยลดข้อผิดพลาดจากการแกล้งแสดงอารมณ์และสีหน้า หรือการเข้าใจผิดจากการแปลผลด้วยสายตา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงสีหน้าอย่างชัดเจน เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ออทิสติก หรือผู้มีภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำไปใช้วินิจฉัยอารมณ์ที่แฝงอยู่โดยไม่ต้องพึ่งการแสดงออกทางพฤติกรรม

วัสดุที่ใช้ทำแผ่นแปะถูกออกแบบให้ยึดเกาะผิวหนังได้โดยไม่ระคายเคือง สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องหลายชั่วโมง และไม่รบกวนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้พัฒนาเผยว่าแผ่นแปะนี้สามารถผลิตในต้นทุนต่ำ และมีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นเวอร์ชันสำหรับใช้งานจริงในอนาคตอันใกล้ ทั้งในโรงพยาบาล หน่วยเคลื่อนที่ หรือแม้แต่บ้านของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนของการประเมินภาวะอารมณ์ และเพิ่มความแม่นยำในการวางแผนดูแลสุขภาพจิต

ทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเชื่อมต่อแบบไร้สายที่สามารถส่งข้อมูลอารมณ์ของผู้ป่วยไปยังแพทย์หรือผู้ดูแลแบบเรียลไทม์ผ่านสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์พกพา เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงของภาวะอารมณ์ได้ตลอดวัน ป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าหรือความเครียดเรื้อรังตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง หรือผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร

เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร

ที่มาข้อมูล: newatlas, psu, wearable-technologies, eurekalert
ที่มาภาพ: psu, ภาพ 1
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Scienceแผ่นแปะแผ่นแปะวัดอารมณ์
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด