ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มัดรวมทุก "โรคหน้าฝน" ที่คุณควรรู้ เตรียมตัว - ป้องกันอย่างไร ?


Thai PBS Care

อธิเจต มงคลโสฬศ

แชร์

มัดรวมทุก "โรคหน้าฝน" ที่คุณควรรู้ เตรียมตัว - ป้องกันอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2716

มัดรวมทุก "โรคหน้าฝน" ที่คุณควรรู้ เตรียมตัว - ป้องกันอย่างไร ?

 

เข้าสู่ช่วงหน้าฝนสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ โรคหน้าฝน และโรคที่มากับน้ำท่วม

Thai PBS มัดรวมโรคหน้าฝนพร้อมการเตรียมตัวและป้องกันเพื่อช่วยไม่ให้คุณป่วย และช่วยดูแลป้องกันโรคหน้าฝนจากคนที่คุณรัก มีอะไรบ้าง ? มาดูกัน

โรคหน้าฝน กลุ่มโรคติดต่อทางเดินหายใจ

โรคหน้าฝนที่พบได้บ่อยกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มโรคติดต่อทางเดินหายใจ มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากช่วงฤดูฝนอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้ดี โอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ จึงเกิดได้ง่าย

โรคหวัดหรือไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common Cold) พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนรวมถึงหน้าหนาว มีหลายสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อโรค สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ มักพบบ่อยในเด็กเล็ก ความรุนแรงไม่มากนัก และสามารถหายได้เอง อาการส่วนใหญ่เป็นการคัดจมูก น้ำมูกไหลมีลักษณะไส ไอ จาม เจ็บคอ และปวดหัวเล็กน้อย โรคหน้าฝนนี้ติดต่อผ่านการไอจาม สัมผัสเชื้อ

วิธีเตรียมตัวป้องกัน โรคหน้าฝนนี้ติดต่อผ่านเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 100 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่เชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) ติดต่อผ่านน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ผ่านการหายใจ ไอ จามที่ทำให้เชื้อกระจายออก สามารถติดผ่านเชื้อที่เปื้อนอยู่ที่มือเมื่อสัมผัสกับจมูกหรือตา การป้องกันจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการไอหรือจาม ลดการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือล้างมือหลังสัมผัส พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดการอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนแออัดในช่วงที่มีการระบาด ทั้งนี้ การรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันได้เนื่องจากเป็นไวรัสคนละชนิดกัน

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคหน้าฝนที่มักระบาดใหญ่ตามฤดูกาล พบบ่อยในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว เกิดจากการติดไวรัสอินฟลูเอนซา อาการป่วยเกิดรุนแรงแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วจะมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดหัว มีน้ำมูก อ่อนเพลีย และสามารถหายได้เอง แต่จะอาการแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้โดยมากเกิดเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง 7 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเล็ก (6 เดือน – 2 ปี) ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) สตรีมีครรภ์ (อายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (เช่น โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต หอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด) ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคธาลัสซิเมีย

วิธีเตรียมตัวป้องกัน สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง 7 กลุ่มข้างต้น สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สำหรับปีนี้สามารถรับวัคซีนได้ในช่วงวันที่ 1 พ.ค. – 31 ส.ค. 2568 สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ดูรายชื่อหน่วยบริการได้ที่แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง สำหรับคนทั่วไปมีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุก 1 ปี เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้ นอกจากการรับวัคซีนป้องกันแล้ว การหลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้คนในช่วงที่มีการระบาด ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอก็มีส่วนช่วยป้องกันได้

โรคคออักเสบ (Acute Pharyngitis) ถือเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก มักมีอาการกลืนแล้วเจ็บคอ แสบคอ มีไข้ต่ำ ไอ จาม สามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Rhinovirus, Adenovirus และ Coronavirus รองลงมาเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียส่วนมากเป็นกลุ่มกลุ่มสเตรปโตคอกคัส อาการมักจะเกิดการอักเสบที่คอ อยู่ที่ระหว่างหลังโพรงจมูกและกล่องเสียง จะดีขึ้นเองใน 7 – 10 วัน กรณีเกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ต้องรักษาด้วยการกินยาฆ่าเชื้อ(ยาปฏิชีวนะ) จนหมดปริมาณที่แพทย์สั่งจ่าย

วิธีเตรียมตัวป้องกัน ล้างมืออย่างสม่ำเสมอก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ โดยล้างให้ถูกต้อง 7 ขั้นตอนให้ครบทุกส่วน 1 ฝ่ามือถูกัน 2 ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3 ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4 หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5 ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6 ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ 7 ถูรอบขัอมือ ล้างนาน 20 วินาที ลดการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือใช้แก้วน้ำหรือข้าวของร่วมกัน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโทรศัพน์ ลูกบิดประตู สวิตซ์ไฟ รีโมท และคีย์บอร์ด

โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อที่ปอด ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย และเกิดจากสารเคมี เช่น ควันต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดการอักเสบและบวมที่ปอด โรคหน้าฝนนี้พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่กลุ่มที่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงได้คือกลุ่มเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 4 ปี) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีการทำงานของม้ามผิดปกติ และผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) ผู้ป่วยมักจะเกิดอาการไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

วิธีเตรียมตัวป้องกัน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย อยู่ให้ห่างจากควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในกลุ่มเสี่ยงมีข้อแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงได้

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสคล้ายหวัด การติดเชื้อจะทำให้เยื้อบุหลอดลมเกิดอักเสบบวม ทำให้เกิดอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก หากเกิดหลอดลมตีบตันมาก ๆ จะหายใจดังวี๊ดได้ ส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เองใน 7 – 10 วัน แต่อาการไอแห้งอาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลักเดือน แต่หากมีอาการหนักขึ้นควรพบแพทย์

วิธีเตรียมตัวป้องกัน ลดการอยู่ใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วยเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หรือหากจำเป็นต้องใกล้ชิดควรล้างมือหลังสัมผัส และอย่าเอามือมาสัมผัสจมูกเพื่อป้องกันเชื้อโรค พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ อยู่ห่างควันบหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์รวมถึงอากาศหนาวเย็น งดการเข้าพื้นที่คนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือโควิด-19 ที่ระบาดหนักจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น และจะมีการระบาดเกิดขึ้นได้ตามฤดูกาลจะพบได้มากในหน้าฝนและหน้าหนาว จากประกาศของกรมควบคุมโรคปี 2567 ที่ผ่านมา ถือให้โควิด-19 เป็นโรคหน้าฝน เป็นภัยสุขภาพเข้ามาแทนที่โรคปอดอักเสบ อาการของโควิด-19 ไม่ได้รุนแรง อาการเบื้องต้นจะได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ปวดหัว อ่อนเพลีย สูญเสียการรับรสและกลิ่น ยังข้อควรระวังพิเศษเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น หรือกลุ่มเสี่ยง 608 (ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, มะเร็งและเบาหวาน ) หากผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง

วิธีเตรียมตัวป้องกัน ลดการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ล้างอย่างถูกวิธี ล้างมือแบบ 7 ขั้นตอน ตามที่กล่าวมาข้างต้น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าสู่พื้นที่ปิดหรือมีผู้คนหนาแน่น มาตรการเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่ช่วยลดการติดต่อได้

โรคติดต่อทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงหน้าฝน

โรคหน้าฝน กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง

กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง หรือโรคติดต่อจากการสัมผัส มักมีการติดจากน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อและป่วยเป็นโรคที่แตกต่างกัน มักเกิดในพื้นที่น้ำท่วม ทำให้น้ำเกิดการปนเปื้อนและติดเชื้อขึ้นได้

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis, Weil Disease) ถือเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู ม้า สุนัข ควาย รวมถึงสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ โดยฉี่จะปนเปื้อนมาในน้ำฝน ดินที่เปียกชื้น โครน ร่องน้ำเป็นตัวนำเชื้อสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อยุของปาก ตา จมูก มักเกิดในกลุ่มเกษตกร ชาวไร่ ชาวนา คนสวน คนทำงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อาการของโรคหน้าฝนนี้จะเกิดหลังได้รับเชื้อโรคประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยจะมีไข้สูง ปวดหัวรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ในผู้ที่มีอาการระดับรุนแรง จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ไตวายเฉียบพลัน อาเจียนเป็นเลือด และถึงขั้นเสียชีวิต ควรรีบพบแพทย์หากพบว่าติดเชื้อ โรคนี้รักษาได้ด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อตามแพทย์สั่งอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

วิธีเตรียมตัวป้องกัน ล้างมือทุกครั้งหากต้องสัมผัสกับเนื้อ ซากสัตว์ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือพื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกัน หรืออาบน้ำล้างทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือล้างเท้าให้สะอาดทันทีหลังลุยน้ำ กำจัดหนูที่เป็นพาหะน้ำโรคสำคัญ ปิดฝาถังขยะ กำจัดเศษอาหารขยะไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู พื้นที่เลี้ยงสัตว์ควรให้เป็นพื้นเรียบและแห้งอยู่เสมอ หากมีสัตว์เลี้ยงป่วยต้องแจ้งสัตวแพทย์เพื่อรักษา

โรคตาแดง หรือ โรคเยื่อบุตาอักเสบ (pink eye หรือ conjunctivitis) เกิดจากการอักเสบติดเชื้อที่เยื่อบุตา ถือเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และระบาดตามโรงเรียน โรคหน้าฝนนี้เกิดจากการติดเชื้อโรคจากขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วย รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน สามารถติดต่อผ่านการหายใจได้ อาการที่พบคือ ตาแดง และมีอาการปวดเบ้าตา คันละคายเคืองตา เปลือกตาบวม หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะทำให้มีขี้ตามาก ลืมตาได้ยากเวลาตื่น โดยมากแล้วจะหายได้เองในเวลา 2 สัปดาห์ สามารถใช้น้ำตาเทียมหรือประคบเย็นเพื่อลดการละคายเคืองและอักเสบที่เกิดได้

วิธีเตรียมตัวป้องกัน ล้างมือบ่อย ๆ และล้างอย่างถูกวิธีทุกครั้งก่อนใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา หลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตา ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผ้าห่ม รวมถึงเครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น

โรค มือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) พบบ่อยในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ประเทศไทยมีข่าวการระบาดอยู่บ่อยครั้ง ตามโรงเรียนอนุบาลรวมถึงสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก น้ำในตุ่มพอง แผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อทางอ้อมผ่านการสัมผัสของเล่น ภาชนะใช้ร่วมกัน มือของผู้ดูแลเด็ก น้ำ อาหารที่ปนเปื้อน เด็กที่ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จะมีอาการเป็นไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อยลง เนื่องจากเกิดแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นจุดแดงหรือตุ่มใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้น และอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัวและแขนขา มักมีอาการอยู่ประมาณ 1 – 2 วัน และจะดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง สามารถหายได้เอง รักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดื่มน้ำเกลือแร่ในกรณีป้องกันการขาดน้ำจากการรับประทานอาหารได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม กรณีที่พบอาการรุนแรงซึ่งมีส่วนน้อย หากพบอาการเด็กมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น อาเจียนมาก ควรรีบพบแพทย์ทันที

วิธีเตรียมตัวป้องกัน มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งป้องกันได้เฉพาะเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงแต่พบได้น้อย โดยทั่วไปจึงป้องกันด้วยการฝึกให้เด็กล้ามมือให้สบาย ทำความสะอาดของเล่นของใช้ที่เด็กใช้ร่วมกัน ระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารหรือสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปากด้วย

โรคไข้ดิน หรือเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายจากสิ่งแวดล้อมทั้งดินน้ำรวมถึงอาหารที่มีการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสดิน ดื่มกินน้ำหรืออาหาร รวมถึงการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีการปนเปื้อนเข้าไป  พบได้มากในช่วงหน้าฝนโดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำบ่อย ๆ อย่างกลุ่มคนทำอาชีพเกษตรกร สำหรับประเทศไทยพบได้มากในภาคอีสาน โรคหน้าฝนนี้มีอาการของผู้ป่วยแตกต่างกันมาก มีตั้งแต่ไม่พบอาการเลยจนถึงเสียชีวิตได้ อาการแสดงหลัก ๆ คือมีฝีตามผิวหนัง อวัยวะภายใน เนื้อเยื่อปอดอักเสบ รักษาด้วยการเร่งพบแพทย์รับการตรวจวินัจฉัยให้เร็วที่สุด และรับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง

วิธีเตรียมตัวป้องกัน กลุ่มเสี่ยงที่หากติดโรคนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโลหิตจางหรือทาลัสซิเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงคนไข้มะเร็ง และกลุ่มเกษตรกร หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าบู๊ท หรือถุงพลาสติกหุ้นรอบเท้าไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง ล้างมือล้างเท้าอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ หากเกิดแผลต้องรีบทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและยาฆ่าเชื้อ พยายามอยู่ในพื้นร่มในช่วงที่ฝนตกหรืออากาศแปรปรวนเพื่อป้องกันฝุ่นดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเข้าตาได้แล้วโรคหน้าฝนนี้จะไม่สามารถทำอะไรคุณได้

ฝนตกทำให้เกิดน้ำท่วม ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้

โรคหน้าฝน กลุ่มโรคที่มากับยุง

ฝนตกทำให้เกิดน้ำขังตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่าย กลายเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงนำมาซึ่งโรคหน้าฝน กลุ่มโรคที่มากับยุง หรือมียุงเป็นพาหะนำโรคนั่นเอง

โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เกิดขึ้นได้ตลอดปี แต่พบได้มากขึ้นในช่วงที่มีฝนชุก ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 5 – 24 ปี ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังจากถูกยุงลายกัด 5 – 8 วัน โดยจะมีไข้สูงอย่างกะทันหันคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ มีอาการจุดเลือดออกใต้ผิวหลังตามแขนขาข้อพับ ตับโต กดแล้วเจ็บบริเวณชายโครง อาการรุนแรงได้ถึงขั้นเกิดภาวะช็อกเลือดจากอวัยวะภายใน

วิธีเตรียมตัวป้องกัน กำจัดลูกน้ำและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัย ได้แก่ บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ฝาภาชนะ รวมถึงกระถางต้นไม้ สวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาวและทายากันยุง สังเกตสัญญาณโรค หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการซึม อ่อนเพรีย กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ ควรพบแพทย์โดยเร็ว การรักษาโรคไข้เลือดออกไม่มียาเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ดูแลผู้ป่วยด้วยการให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้เป็นระยะ รับประทานอาหารอ่อน กินยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามกินยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน เนื่องจากยากลุ่มนี้ทำให้เลือดออกมากขึ้น

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก มีอาการสำคัญคือข้อบวม และข้ออักเสบจนเกิดการผิดรูป โดยจะเริ่มจากข้อเล็ก ๆ ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า มักปวดหลายข้อ อาการปวดจะลุกลามไปยังข้อที่ใหญ่ขึ้น เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก อาการปวดเกิดอาจติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ และสามารถเรื้อรังยาวนาน 3 – 5 ปี

วิธีเตรียมตัวป้องกัน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคสำคัญ หากอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดควรสวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาว ทายากันยุงเพื่อป้องกัน การรักษาไม่มียาเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ห้ามกินยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) หรือโรคไข้ซิกา พบครั้งแรกในลิงแสมที่อาศัยอยู่ในป่าซิกา (Zika forest) ประเทศยูกันดา ยุงลายเป็นพาหะนำโรคหลัก อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง อาจมีไข้ต่ำ ผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวของโรคนี้คือการติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ที่อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิดได้ เช่น ทารกศีรษะเล็ก (microephaly) อาจพบหินปูนในสมอง ตัวเล็กผิดปกติ และพิการอวัยวะส่วนอื่นด้วย

วิธีเตรียมตัวป้องกัน คล้ายกับโรคอื่น ๆ ในกลุ่มนี้คือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บกวาดที่อยู่อาศัยให้สะอาด ทำลายแหล่งน้ำท่วมขัง ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทายากันยุง นอนกางมุ้งและติดมุ้งลวด โรคหน้าฝนนี้ไม่มียาหรือวัคซีนป้องกัน ใช้การรักษาตามอาการ และห้ามรับประทานยาในกลุ่มกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เช่นกัน

โรคมาลาเลีย (Malaria) หรือไข้จับสั่นป่า ไข้ป่า ไข้ดง เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม มียุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะหลัก พบได้มากตามป่าเขาในชนบทที่มีน้ำสะอาด ซึ่งเป็นแหล่งที่ยุงก้นปล่องชอบวางไข่ อาการจะเกิดขึ้นหลังถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10 – 14 วัน โดยจะมีไข้ต่ำ ๆ ไม่เป็นเวลา ปวดหัว เมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร จากนั้นจะเริ่มมีไข้เป็นเวลา มีอาการแบ่งออกเป็น 3 ระยะสลับกัน ได้แก่ ระยะหนาว ผู้ป่วยโรคหน้าฝนนี้จะรู้สึกตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว 1 – 2 ชั่วโมง ระยะร้อน ตัวร้อนจัด หน้าแดง กระหายน้ำ 1 – 4 ชั่วโมง และระยะเหงื่อออก มีเหงื่อออกจนเปียกชุ่ม ร่างกายจะค่อย ๆ เย็นลงและวนกลับเป็นอีกครั้ง

วิธีเตรียมตัวป้องกัน โรคหน้าฝนนี้ไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกัน หลีกเลี่ยงการโดนยุงก้นปล่องกัด อยู่ห่างจากแหล่งวางไข่ เช่น แอ่งน้ำสะอาดในป่า ธารน้ำไหล หรือน้ำตก ยุงชนิดนี้มักจะกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึกและเช้าตรู่ หากจำเป็นควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาทากันยุง หรือจุดยากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยากันยุง

น้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝนทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะนำโรคมากมาย

โรคหน้าฝน กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร

ช่วงหน้าฝนอากาศมักมีความเย็นและชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค นอกจากนี้หากเกิดเหตุน้ำท่วม ยิ่งมีส่วนทำให้อาหารรวมถึงน้ำเกิดการปนเปื้อนได้ มีหลายโรคติดต่อทางน้ำและอาหารที่ควรระมัดระวัง

โรคตับอักเสบ (Hepatitis) คือภาวะอักเสบทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย สามารถแบ่งเป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลัน และโรคตับอักเสบเรื้อรัง โดยโรคหน้าฝนนี้มักจะเกิดจากการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบ เอ ส่วนไวรัสตับอักเสบ อี พบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น อาการสำคัญของโรคหน้าฝนนี้จะมีไข้นำก่อนร่วมกับปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ส่วนใหญ่แล้วหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น มีปัญหากับการตั้งสมาธิ มีจ้ำเลือด เลือดออกง่ายหรืออาเจียนกะทันหัน ควรรีบพบแพทย์

วิธีเตรียมตัวป้องกัน รับประทานอาหารปรับสุกเสมอ ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกัน ล้างมืออย่างถูกวิธีก่อนรับประทานอาหารและเข้าห้องน้ำ สามารถรับวัคซีนป้องกันได้ สำหรับการรักษายังไม่มียาสำหรับไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ และส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดกับไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ซึ่งต้องรับยาเพื่อรักษาโดยเฉพาะก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน)

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) หรือโรคท้องร่วงเฉียบพลัน เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิตต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีอาการปวดท้องบิด คลื่นไส้ มีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย หากอาการไม่รุนแรงจะดีขึ้นใน 3 – 5 วัน แต่หากมีไข้สูงนานเกินกว่านั้น ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียนรุนแรง ควรรีบพบแพทย์

วิธีเตรียมตัวป้องกัน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด ไม่รับประทานอาหารหมดอายุ ล้างมือให้บ่อยและถูกวิธีทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคหน้าฝนนี้ได้แล้ว

โรคอหิวาตกโรค (Cholera) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน ติดต่อผ่านการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลย ในกลุ่มที่อาการของโรคหน้าฝนนี้มักจะรุนแรงน้อย พบการถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน ส่วนที่มีอาการรุนแรง โดยมากมักเกิดในเด็ก จึงควรเฝ้าระวังและพบแพทย์หากมีอาการโดยด่วน 

วิธีเตรียมตัวป้องกัน รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ ถูกหลักอนามัย ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้ถูกวิธีก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ กำจัดหรือควบคุมป้องกันแมลงวันซึ่งถือเป็นพาหะนำโรค หากพบว่าป่วยจำเป็นต้องรักษาให้ทันท่วงทีด้วยการดื่มน้ำที่มีสารละลายเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย แก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดและภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ สามารถรับวัคซีนเพื่อป้องกันได้หากพบกรณีระบาดในพื้นที่

ฝนตกทำให้เชื้อโรคเติบโตได้ง่าย ทำให้เกิดโรคติดต่อทางน้ำและอาหารที่ต้องระวัง

โรคที่มากับฝนหรือโรคหน้าฝนส่วนใหญ่แล้ว มีปัจจัยร่วมกันที่สามารถป้องกันได้คือความเย็นและชื้นที่ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดี การล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี สวมหน้ากากอนามัย ระมัดระวังแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึงระมัดระวังด้านสุขอนามัยพื้นฐานมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้คุณปล่อยภัยได้

อ้างอิง

  • กระทรวงสาธารณสุข
  • กรมควบคุมโรค
  • องค์การอนามัยโรค
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
    โรงพยาบาลศิริราช
     

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ป่วยหน้าฝนโรคที่มากับฝนน้ำท่วมโรคหน้าฝนโรค
อธิเจต มงคลโสฬศ

ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด