โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง เข้าสู่ปี 2568 แล้ว โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น การจัดการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง
Thai PBS รวบตึงข้อปฏิบัติเมื่อมีอาการต้องสงสัย ตรวจแล้วพบว่าตัวเองติดโควิด-19 ควรทำอย่างไร ? และในกรณีจำเป็นต้องทำงานต้องกักตัวกี่วัน ? พิจารณาอย่างไรจึงจะออกไปทำงานได้ ?
โควิด-19 ในปี 2568 เช็กอาการรุนแรงหรือไม่ ?
กรมควบคุมโรคได้ประกาศให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ทำให้ในระยะหลังมานี้จะมีการติดต่อเกิดขึ้นได้ง่าย นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน ทำให้ไม่ได้มีอาการรุนแรงเหมือนอย่างที่ผ่านมา
โควิดสายพันธุ์ล่าสุดนี้คือโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน XEC เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสมตัวใหม่ในตระกูลโอมิครอนพบครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 เกิดจากการรวมกันของ 2 สายพันธุ์ย่อยได้แก่ KS.1.1 (FLiRT) และ KP.3.3 (FLuQE) สามารถแพร่เร็วขึ้นจากการกลายพันธุ์หลายจุดด้วยกัน
อาการเบื้องต้นจะได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ปวดหัว อ่อนเพลีย สูญเสียการรับรสและกลิ่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย หากมีอาการต้องสงสัยเหล่านี้สามารถตรวจ ATK เพื่อตรวจการติดโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ มีข้อควรระวังพิเศษเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น หรือกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน ) หากผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรงจะมีอาการดังนี้
1. มีไข้สูง (39 องศาเซลเซียลขึ้นไป)
2. หอบเหนื่อย
3. หายใจลำบาก
หากพบอาการเหล่านี้รวมถึงอาการแย่ลงควรรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ ยังคงควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงข้างต้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
โควิด-19 ในปี 2568 ป่วยกี่วันหาย ?
โควิด-19 ในปี 2568 ยังคงเป็นโรคที่ใช้การรักษาตามอาการ มนุษย์เงินเดือนที่ติดโควิด-19 สามารถรับประทานยาควบคู่ไปกับการพักผ่อน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ สำหรับกลุ่มที่มีอาการน้อยไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในระยะเวลา 5 – 7 วัน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาการจะเริ่มดีขึ้นในช่วง 3 – 5 วัน และหายใน 7 – 10 วัน ขณะที่หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์
โควิด – 19 ในปี 2568 ต้องกักตัวกี่วัน ?
การกักตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงใช้วิธีกักตัวเหมือนเดิมคือการกักตัวแบบ 5 + 5 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ คนทำงานต้องพิจารณาพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อช่วยให้หายจากโควิด-19 ได้เร็วขึ้น
โดยการกักตัวที่บ้าน 5 วันแรกมีขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงเวลานี้ การกักตัวควรแยกห้องนอน ห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว และรักษาตามอาการ
ขณะที่อีก 5 วันหลังให้พิจารณาอาการของตัวเอง หากอาการเหลือเพียงเล็กน้อย ไม่มีอาการไอ จาม บ่อย ๆ ไม่มีน้ำมูกไหลแล้ว สามารถเลิกการกักตัว แต่ยังคงต้องสวมหน้ากากพร้อมยึดมาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ทั้งนี้ โอกาสการแพร่เชื้อนั้นจะมีเปอร์เซ็นต์ลดลงตามระยะเวลาที่ติดเชื้อ โดย 5 วันแรกจะมีโอกาสแพร่เชื้อที่ 50% หากผ่านไปราว 7 วัน โอกาสแพร่เชื้อจะอยู่ที่ 25% และ 10 วันจะลดลงเหลือเพียง 10% และจะปลอดภัยที่สุดคือ 14 วัน จึงจะไม่แพร่เชื้ออีก
โควิด-19 ทำงานได้หรือไม่ ?
ข้อแนะนำสำหรับการทำงานเมื่อติดโควิด -19 ในปี 2025 มีข้อแนะนำให้กักตัว 5 วันแรกก่อน เมื่ออาการดีขึ้น ไม่มีอาการแพร่เชื้อ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล หากมีความจำเป็น สามารถพิจารณาเข้าทำงาน โดยปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างเคร่งครัด ได้แก่
- เว้นระยะห่าง (Distancing)
- สวมหน้ากากอนามัย (Mask) ตลอดเวลา
- ล้างมือบ่อย ๆ (Hand Hygiene)
ทั้งนี้ หากในช่วง 5 วันแรกมีอาการเพียงเล็กน้อย ที่ผ่านมามีการยืดหยุ่นให้ไม่ต้องกักตัว แต่ให้สามารถทำงานหรือเดินทางได้แต่ต้องยึดมาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมืออย่างเคร่งครัด
แต่ในกรณีที่แม้จะผ่านระยะเวลา 5 วันแล้ว หากยังคงมีอาการไอบ่อย มีน้ำมูกมาก ต้องสั่งน้ำมูกบ่อย ยังห้ามออกไปทำงาน หรือออกเดินทาง เนื่องจากอาการดังกล่างจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย
โควิด-19 Work from home อย่างไร ให้เวิร์ก ?
กรณีที่ยังมีอาการที่ต้องกักตัว รวมถึงที่ทำงานมีมาตรการให้คนทำงานต้อง Work from home เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ คนทำงานอาจต้องทำงานจากที่บ้าน มีข้อแนะนำเพื่อทำงานจากที่บ้านให้ได้ทั้งงาน และป้องกันโรคง่าย ๆ มีหลักการอะไรบ้าน ไปดูกัน
1 จัดพื้นที่ทำงานให้ปลอดภัย โดยให้อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง แต่ห่างไกลจากสมาชิกในบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แยกของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น ๆ พร้อมทำงานสะอาดให้บ่อยครั้ง
2 สังเกตตัวเองให้ดี ต้องตรวจวัดอุณหภูมิตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนแอหรือป่วยหนักขึ้น รวมถึงแบ่งเวลาขยับร่างกายออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุก 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกักตัว
3 โฟกัสการทำงานเหมือนอยู่ที่ทำงาน อาจดำเนินชีวิตเหมือนไปทำงาน เช่น อาบน้ำเปลี่ยนชุดเพื่อสร้างบรรยากาศเหมือนไปทำงานจริง ลิสงานที่ต้องทำในแต่ละวัน ห้ามไม่ให้เรื่องอื่น ๆ ภายในบ้านมารบกวนการทำงานโดยไม่จำเป็น
4 เตรียมอุปกรณ์การทำงานให้พร้อม เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเหมือนการทำงานที่ออฟฟิศทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ มีจอเสริมเพื่อช่วยให้ทำงานได้มากขึ้นเพราะการทำงานที่บ้านทำให้ต้องสื่อสารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น มีซอฟต์แวร์เพื่อช่วยแจ้งการทำงานต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
โควิด-19 ต้องฉีดวัคซีนป้องกันหรือไม่ ?
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าโควิด-19 ในปี 2568 ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบันมีการวิวัฒนาการตัวเองที่ลดความรุนแรงของโรคลงมาก ทำให้ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อป้องกัน แนะนำให้ฉีดเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่เคยติดโควิด-19 และไม่เคยได้รับวัคซีนเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำให้ป้องกันด้วยการมาตรการที่ไม่ใช่ยาหรือวัคซีนหรือ NPI (Non Phamaceutical Intervention) ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงรับประทานอาหารที่สะอาด ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการระบาดของโควิด-19 ไปอีกทาง
อ้างอิง
- คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- กระทรวงสาธารณสุข
- กรมควบคุมโรค
- กรมอนามัย