NASA ประกาศแผนการสำรองพานักบินอวกาศจากยาน Boeing Starliner กลับโลกด้วยยาน SpaceX Dragon ร่วมกับภารกิจ Crew-9 ของ NASA ซึ่งนั่นจะทำให้นักบินอวกาศทั้งสองติดอยู่ในอวกาศนานจนถึงปีหน้าเลยทีเดียว
วันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา NASA ออกมาประกาศว่า ได้มีการวางแผนให้นักบินทั้งสองเดินทางกลับโลกด้วยยาน Dragon ที่จะถูกส่งขึ้นไปในภารกิจ Crew-9 โดยลดจำนวนนักบินอวกาศในภารกิจ Crew-9 จาก 4 คน เหลือ 2 คน ในระหว่างนี้ NASA จะคอยประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นครั้งแรกที่ NASA แสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของยาน Boeing Starliner ที่กำลังมีปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ว่า Starliner อาจจะไม่ปลอดภัยพอสำหรับการพานักบินอวกาศทั้งสองกลับโลก
ยาน Boeing Starliner ได้พาสองนักบินอวกาศบุตช์ วิลมอร์ (Butch Wilmore) และสุนิตา วิลเลียมส์ (Sunita Williams) เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติและเชื่อมต่อสำเร็จในวันที่ 6 มิถุนายน 2024 เดิมทีนั้นมีแผนให้พวกเขาภารกิจทดสอบเกี่ยวกับตัวยาน Starliner ทั้งหมดแค่ 8 วันเท่านั้น แต่ในตอนนี้ตัวยาน Starliner ก็ยังคงอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากการรั่วไหลของก๊าซฮีเลียมที่อยู่ในระบบขับดันหลักของยาน Boeing Starliner
ในสถานการณ์ตอนนี้ NASA ได้ส่งสัมภาระเพิ่มเติมขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติให้แก่บุตช์และสุนิตา ผ่านเที่ยวบินขนส่งเสบียงของยาน Cygnus เที่ยวบิน CRS-21 ที่ประกอบไปด้วยเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวของทั้งสอง รวมไปถึงการเลื่อนภารกิจ Crew-9 ของ SpaceX ออกไปจากเดิมที่จะถูกส่งขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2024 ไปเป็น 25 กันยายน 2024 แทน
ในตอนนี้แผนการนี้จะยังไม่ถูกนำมาใช้และ NASA ยังให้โอกาสกับ Boeing ในการแก้ไขปัญหาของยาน Starliner ออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากตอนนี้ส่วนเชื่อมต่อของสถานีอวกาศนานาชาตินั้นเต็มหมดทุกตำแหน่งเชื่อมต่อแล้ว และตำแหน่งที่ยาน Dragon ในเที่ยวบิน Crew-9 จะเข้ามาต้องเชื่อมต่อที่ตำแหน่ง Harmony ซึ่งในขณะนี้มียาน Starliner จอดขวางอยู่ หากยาน Dragon จะมาเชื่อมต่อจะต้องนำยาน Starliner ปลดออกก่อน
หากเป็นไปตามแผนการนี้ นักบินอวกาศทั้งสองคนจะต้องติดอยู่บนสถานีอวกาศนานไปจนถึงเดือนมีนาคม 2025 และจะไม่ได้กลับกับยาน Boeing Starliner แต่ต้องกลับมากับยาน Dragon แทน และต้องตัดนักบินอวกาศจากในภารกิจ Crew-9 ออกไป 2 คนเพื่อมีพื้นที่นั่งพอสำหรับนักบินอวกาศทั้งสองที่อยู่บนสถานีอวกาศด้วย
ทำให้ก็เกิดคำถามต่อมาว่าในเมื่อยาน Crew Dragon ของ SpaceX สามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้มากถึง 7 คนทำไมทาง SpaceX ถึงไม่จัดวางเก้าอี้ใหม่ให้สามารถรองรับ 6 ที่นั่งเพื่อที่จะได้ไม่ต้องตัดใครคนใดคนหนึ่งออกไปจากภารกิจแรกเริ่ม ซึ่งทาง NASA เองออกมาตอบว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะกระทบต่อแผนการเดิมไปยิ่งกว่า แถมยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับโซนเก็บสัมภาระอื่น ๆ ทำให้การใช้ความจุของยาน Dragon แบบ 4 ที่นั่ง เป็นแผนที่ดีที่สุด
ถือว่าแผนนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของ Starliner อย่างชัดเจน แต่ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศเอง ทาง NASA นั้นเคยมีบทเรียนจากการสูญเสียนักบินอวกาศมามากมายหลากหลายเที่ยวบินในอดีตที่ยอมให้นักบินอวกาศเดินทางกับยานอวกาศที่ไม่มีความพร้อม เราจึงอาจมองได้ว่า การตัดสินใจที่ NASA มีต่อ Starliner นี้ เป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจที่เป็นบทเรียนมาจากการสูญเสียในอดีต
และจะไม่มีนักบินอวกาศคนไหนถูกทิ้งไว้กลางอวกาศ
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : spaceth
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech