นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวยุโรปใต้ถ่ายภาพพื้นผิวของดาวฤกษ์ดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งภาพถ่ายมอบความละเอียดที่สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของดาวฤกษ์ได้เลยทีเดียว
นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวยุโรปใต้ (European Southern Observatory) หรือ ESO ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA) ในการสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ R Doradus ดาวยักษ์แดงที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์มากถึง 350 เท่า และอยู่ห่างจากโลกไป 180 ปีแสง ซึ่งได้เริ่มต้นการสังเกตการณ์ในเดือนมิถุนายน 2023 เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน
R Doradus เป็นดาวยักษ์แดงที่อยู่ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง (Dorado) มันมีมวลใกล้เคียงกับมวลดวงอาทิตย์ของเรา ทำให้เราคาดการณ์ว่าเมื่อดวงอาทิตย์ถึงช่วงเวลาที่ใกล้หมดอายุขัยและเปลี่ยนแปลงขนาดของมันกลายสภาพเป็นดาวยักษ์แดงแล้ว ดวงอาทิตย์ของเราจะขยายขนาดเทียบเท่ากับดาวยักษ์แดงดวงนี้
เมื่อมองเข้าไปในภาพถ่ายล่าสุดของดาว R Doradus นี้ เราจะสามารถมองเห็นรายละเอียดของพื้นผิวที่เกิดจากก๊าซร้อนขยายและหดตัว ซึ่งน่ามหัศจรรย์มากที่ฟองก๊าซที่ลอยอยู่บนพื้นผิวของดาวยักษ์แดงดวงนี้ แต่ละฟองมีขนาดที่ใหญ่มากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 75 เท่า อีกทั้งมันยังมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและขนาดของฟองที่รวดเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ด้วย ซึ่งจากเดิมเราคาดการณ์ว่าฟองก๊าซที่เกิดขึ้นคล้ายกับบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์เราน่าจะมีการลอยขึ้นและจมตัวลงที่ค่อนข้างช้าคล้ายกับที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ของเรา แต่สำหรับดาว R Doradus นี้กิจกรรมการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวนั้นรวดเร็วมากในเวลาแค่หลักสัปดาห์เท่านั้น
จากภาพถ่ายพื้นผิวของ R Doradus ที่ได้มานั้น ยังไม่สามารถตีความถึงวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวของดาว R Doradus ได้ แต่นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าการนำพาความร้อนของดาวฤกษ์นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อดาวฤกษ์มีอายุที่มากขึ้นและเปลี่ยนแปลงสภาพของมันเป็นดาวยักษ์แดงที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น กิจกรรมบนพื้นผิวก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในตอนนี้นักดาราศาสตร์ยังไม่เข้าใจกระบวนการการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ดี
แต่นับได้ว่านี่คือก้าวสำคัญของวงการดาราศาสตร์ที่เราสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดาวฤกษ์ดวงอื่นที่อยู่นอกเหนือจากดวงอาทิตย์ของเราและสามารถทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงและวัฏจักรของดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : eso
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech