1 มิถุนายน วันดื่มนมโลก (World Milk Day) แล้วคนแพ้นมวัว ควรทำอย่างไร


Thai PBS Care

1 มิ.ย. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
1 มิถุนายน วันดื่มนมโลก (World Milk Day) แล้วคนแพ้นมวัว ควรทำอย่างไร

1 มิถุนายน ถูกกำหนดให้เป็น “วันดื่มนมโลก” (World Milk Day) โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization หรือ FAO) เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนมซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย
แต่ปัจจุบัน มีข้อมูลที่น่าสนใจ บ่งชี้ว่า มีกลุ่มผู้มีอาการแพ้นมเพิ่มมากขึ้น Thai PBS care ขอชวนทุกคนมาเรียนรู้อาการแพ้นม รวมถึงแนะนำนมทางเลือกอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้เราเลือกดื่มนมอย่างมีประโยชน์ต่อร่างกายที่สุดกัน

“แพ้นม” สังเกตอาการอย่างไร ?

การแพ้อาหารเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ บางครั้งเกิดจากการรับประทานอาหารนั้น ๆ มากเกินไป อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาหารประเภทหนึ่งที่พบว่ามีอาการแพ้กันมาก นั่นก็คือ นม
การแพ้นมในเด็กหากมีการงดรับประทานไปสักระยะหนึ่ง หลายครั้งอาการแพ้จะหายไป และสามารถกลับมารับประทานได้ ขณะที่การแพ้นมในผู้ใหญ่นั้นส่วนมากจะมีอาการแพ้ที่ถาวร อย่างไรก็ตาม การแพ้นมสามารถเป็นแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ 

1. การแพ้เทียม หรือแพ้น้ำตาลแลคโตส ลักษณะอาการคือเมื่อดื่มนมวัว โยเกิร์ต นมเปรี้ยว หรือรับประทานอาหารจำพวกชีสจะมีอาการท้องเสีย ท้องอืด หรือท้องเฟ้อ มีสาเหตุมาจากที่ร่างกายไวต่อแลคโตสหรือเรียกกันว่า Lactose intolerance และไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ กลุ่มนี้อาจเลือกดื่มนมทางเลือกตามความเหมาะสมของการแพ้ได้

2. การแพ้แท้ หรือแพ้โปรตีนในนม ลักษณะอาการจะมีอาการผื่นคัน ตัวแดง หรือหายใจไม่ออก ร่างกายจะต่อต้านด้วยการผลิตสารแพ้ออกมา หากแพ้มากอาจอาการรุนแรงถึงขั้นช็อคเสียชีวิตได้ กลุ่มนี้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นมอย่างเด็ดขาด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาการแพ้และหาทางรักษา อาจมีการปรับอาหารหรือเลือกประเภทตามความเหมาะสมของแต่ละคนเพื่อทดแทน โดยมากการแพ้นมวัวในลักษณะนี้จะเกิดในเด็กแรกเกิดถึง 1 ปีและจะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป


นมทางเลือกมีอะไรบ้าง ?

เมื่อกลุ่มคนแพ้นมมีจำนวนมากขึ้น ทำให้นมทางเลือกมีหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน ผู้ที่มีอาการแพ้นมสามารถเลือกรับประทานตามความเหมาะสมได้โดยพิจารณาจากปริมาณสารอาหารที่ต้องการ และควรหลีกเลี่ยงนมที่มีรสหวาน ซึ่งมักมีส่วนประกอบของน้ำตาลมากเกินไป โดยนมทางเลือกที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

1. นมเปรี้ยว โยเกิร์ต สำหรับคนที่มีอาการแพ้นมที่มีลักษณะท้องเสีย ท้องอืด สามารถรับประทานโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวซึ่งจะมีโพรไบโอติกที่มีส่วนช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่านมวัวปกติ สามารถลองรับประทานเพื่อทดแทนนมปกติได้

2. นมถั่วเหลือง เป็นนมจากพืชยอดนิยมที่ทุกคนคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน แม้สารอาหารจะมีปริมาณน้อยกว่านมวัว แต่ก็ถือเป็นนมจากพืชที่มีโปรตีนสูงใกล้เคียงกับนมจากสัตว์มากที่สุด ยังคงมีแคลเซียมน้อยกว่า ดังนั้นควรเลือกนมถั่วเหลืองที่เป็นสูตรเสริมแคลเซียม ทั้งนี้ นมถั่วเหลืองยังมีสารไอโซฟลาโวน (isoflavone) ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ลดอาการวัยทอง และลดไขมันในเลือดได้อีกด้วย

3. นมอัลมอนด์ ถือเป็นนมจากพืชที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะหลัง มีโปรตีนสูงในระดับหนึ่ง น้อยกว่านมถั่วเหลืองเล็กน้อย มีแคลเซียม ใยอาหารและแมกนีเซียมที่เป็นประโยชน์ โดดเด่นที่มีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยป้องกันมะเร็ง ลดการอักเสบในร่างกายได้ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

4. นมพิสตาชิโอ ถือเป็นนมจากพืชที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นนมจากพืชตระกูลเช่นเดียวกับนมถั่วเหลืองและอัลมอนด์ ถือเป็นแหล่งโปรตีนและสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน จุดเด่นคือมีกรดไขมันดี เช่น โอเมก้า 9 ซึ่งดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

5. นมข้าว ได้รับความนิยมแบบเฉพาะกลุ่ม สารอาหารหลักจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไม่ได้ให้โปรตีนสูงนัก ดังนั้นแม้จะถูกเรียกว่านมแต่ก็ไม่สามารถทดแทนนมปกติได้ จึงไม่แนะนำให้เด็กเล็กดื่มทดแทนนมเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตเพราะโปรตีนไม่สูง หากต้องการโปรตีนควรดื่มนมทั่วไป หรือนมจากถั่วเพื่อทดแทนมากกว่า

6. นมข้าวโพด มักพบได้ตามท้องตลาด มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ทำจากการนำข้าวโพดมาต้มและคั้นเอาน้ำ มีคาร์โบไฮเดรตสูงขณะที่มีโปรตีนไม่สูงนัก แต่จะมีลูทีน (lutein) ที่จะช่วยบำรุงสายตาและมีใยอาหาร

7. นมข้าวโอ๊ต ถือเป็นอีกนมทางเลือกที่กำลังอยู่ในกระแส สารอาหารคล้ายนมข้าวที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง แต่มีส่วนช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังมีวิตามินอีสูงและกากใยอาหารสูงอีกด้วย

8. นมมะพร้าว ลักษณะคล้ายกะทิ ทำจากเนื้อมะพร้าวนำมาสกัด บางสูตรอาจผสมน้ำมะพร้าว คุณค่าทางอาหารที่โดดเด่นคือกรดไขมันดีในเนื้อมะพร้าว วิตามินดีกับโพแทสเซียมที่ช่วยควบคุมความดัน และมีสารไฟโตรเอสโตเจนช่วยบรรเทาปัญหาวัยทอง นอกจากนี้ยังมีส่วนส่งเสริมสุขภาพกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่แพ้นมจากวัว และนมจากถั่วได้

วันดื่มนมโลกถือเป็นวาระสำคัญเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสารอาหารที่รับประทานกันในแต่ละวันที่ควรรับประทานให้ครบถ้วน เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์และสุขภาพที่แข็งแรงเพื่ออายุที่ยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
1 มิถุนายน : “วันดื่มนมโลก” World Milk Day
คนสู้โรค : นมจากพืชเพื่อสุขภาพ
รู้สู้โรค : ทำไมอายุมากขึ้น จึงแพ้อาหาร
รู้เท่ารู้ทัน : นมทางเลือก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

นมทางเลือกวันดื่มนมโลก
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ