สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”


บทความพิเศษ

26 ต.ค. 65

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่ กทม.มี ผู้ว่าฯ ชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลายปัญหาที่ดูเหมือนไม่มีทางออก หรือนิ่งเงียบมานาน ก็ถูกปัดฝุ่นขึ้นมา หนึ่งในนั้น คือ การฟื้นกระแส “กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน”ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ผ่านมา 5 เดือน  “วาระจักรยาน กทม.” ยุค ผู้ว่าฯ คนใหม่เป็นอย่างไร  ไทยพีบีเอสชวน “ชัยยุทธ โล่ธุวาชัย” ที่คนในวงการ เรียกว่า  “พี่โจ้”  แอดมินเพจ Bike in the City ปั่นรักษ์พิทักษ์เมือง มาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

เมื่อ Car Free Day ไม่ใช่แค่อีเวนต์ 
ชัยยุทธ เล่าว่า ความพยายามในการผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็น "เมืองจักรยาน" เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ ต้นทศวรรษที่ 2530  ใช้เวลานานเกิน 20 ปี กว่ากระแสการใช้จักรยานในเมือง จะมาถึงจุดที่นักปั่นยอมรับว่า กระแสคนปั่นจักรยานได้รับความนิยมสูง  ในช่วงที่มีการจัดกิจกรรม Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ และ Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ   

จากนั้น กระแสก็เริ่มตกความนิยมในการขี่จักรยานลดลงอย่างต่อเนื่อง  กระทั่ง กทม. ได้ ผู้ว่าฯ คนใหม่  ผู้ว่าที่ใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียง และเพิ่งประกาศเจตนารมณ์ในวัน Car free Day 2022 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ว่า  “ไม่อยากให้งานนี้เป็นแค่อีเวนต์”

สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

วัน Car Free Day ที่ผ่านมา  “ชัยยุทธ” ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ศาลากลาง กทม. เสาชิงช้า เพราะต้องกักตัวจากการติดเชื้อโควิด-19  แต่เพื่อน ๆ ในเครือข่ายการสัญจรทางเลือก นำ Stand in ของเขามาตั้งไว้ในวงพูดคุย

วันนั้น มีการเปิดตัวแคมเปญ “ปั่นต่อ”  โดย นายทรงกลด บางยี่ขัน ตัวแทนเครือข่ายฯ บอกว่า 2 ความหมายของการ “ปั่นต่อ” คือ การพัฒนาเส้นทางสัญจรย่อยๆ (เส้นเลือดฝอย) ให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนได้  และการชวนคนที่เคยใช้จักรยานให้กลับมาปั่นต่ออีกครั้ง 

สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

“ปั่นต่อ” ต่ออายุหรือจุดเปลี่ยน
แคมเปญ “ปั่นต่อ” ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากแวดวงจักรยานและคนใช้พาหนะทางเลือก  หน้าเพจจักรยานกลับมาคึกคัก  ภาพกิจกรรมการสำรวจเส้นทาง การทำแผนที่ และจัดทริปปั่นไปตามตรอกซอกซอยทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีถูกโพสต์พร้อมติดแฮชแท็ก #ปั่นต่อ แต่ในมุมมองชัยยุทธ เขาประเมินว่า ยังเร็วเกินไป ถ้าจะบอกว่า นี่คือ จุดเปลี่ยน  
 


“ต้องใช้คำว่า คนที่บริหารเมือง ตั้งแต่อดีตยังไม่มีใครที่มี Passion (ความลุ่มหลง) เรื่องนี้ คิดเรื่องนี้แบบเข้าใจมันจริง ๆ คุณชัชชาติก็ไม่ขนาดนั้น แกยอมรับว่า มันดี แต่จะให้เปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ ก็ยังมองไม่เห็น” 
 


ชัยยุทธ มองว่า วิธีการทำงานของ ผู้ว่าฯ กทม.ที่พยายามทำความเข้าใจข้อมูลและรับฟังข้อเสนอของคนใช้จักรยาน ตั้งแต่ยังไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นต้นทุนที่ดี พอได้รับตำแหน่งก็มอบหมายให้คนรุ่นใหม่อย่าง “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มาร่วมทำงานกับเครือข่ายฯ ก็ทำให้ข้อเสนอต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นจริงมากขึ้น  

สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

ล่าสุด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเดินหน้าพัฒนาเส้นทางสัญจรทางเลือก บริเวณเลียบด่วนรามอินทรา และทางเลียบคลองแสนแสบ ทั้ง 2 เส้นทางนี้ กทม. โดย สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้เริ่มปรับปรุงในส่วนที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบไปก่อนแล้ว 

“เริ่มเห็นแนวโน้ม เพราะคุยกันตั้งแต่แรกแล้วว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องมีการตั้งกรรมการที่เป็นหน่วยงานขึ้นมาทำงานเรื่องนี้แบบเป็นกิจจะลักษณะ ตอนนี้ ก็ตั้งแล้ว กำลังจะได้เริ่มต้นทำงานกันแล้ว เป็นการรวมผู้บริหารเขตต่างๆ ที่อยู่ในเส้นทาง อย่างน้อยทุกเขตที่อยู่ในเส้นทางเลียบด่วน และทางเลียบคลองแสนแสบ รวมกับ ทีมที่เป็นสำนักหลัก คือ สำนักจราจรขนส่ง และสำนักโยธาของ กทม. มานั่งคุยกันว่าจะแก้แบบไหนอย่างไร มันน่าจะเห็นพอแสงราง ๆ ”

สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

ต้อง “แฮกระบบ กทม.” เพื่อเมืองที่ดีขึ้น
กทม. เริ่มขยับ แต่โจทย์ใหญ่ที่เป็นปัญหาเดิมยังไม่ถูกแก้ไข ก็คือ กทม. ไม่มีผู้ที่รู้เรื่องนี้จริง ๆ หากจะเดินหน้าต่อก็อาจซ้ำรอยอดีต ทางแก้ที่ ชัยยุทธ เสนอ คือ ต้องหาคนที่รู้เรื่องมาช่วย กทม.ทำงาน

“เหมือนกับการทำรถไฟฟ้าครั้งแรก ไม่มีใครทำเป็น หน่วยงานของ กทม.ก็ทำไม่เป็น ก็เลยต้องมีบริษัทรถไฟฟ้า มาทำแทน อันนี้ก็จะคล้ายๆ กันจึงต้องมีบริษัท หรือ ยูนิต ที่มีความรู้มาทำ”

ชัยยุทธ โยนไอเดีย การตั้ง “บริษัท จักรยานกรุงเทพ จำกัด” เพื่อจัดการงานที่เกี่ยวกับจักรยาน ให้ กทม. โดยใช้รูปแบบการให้สัมปทานโครงการ หรือ คู่สัญญา ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ  ตั้งแต่การจัดระบบอำนวยความสะดวกบริเวณขนส่งสาธารณะ เช่น สถานีรถไฟฟ้า จัดให้มีที่จอดจักรยานที่ปลอดภัย จอดแล้วไม่หาย มีห้องอาบน้ำ มีจุดบริการรถเช่าสำหรับคนที่ไม่มีจักรยาน แต่ต้องการใช้จักรยานปั่นต่อไปที่ทำงานหรือสถานที่อื่น

สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

การทำทะเบียนคนขี่จักรยานให้ครอบคลุมไปถึงการประกันความปลอดภัย  การพัฒนางานโยธา ยกตัวอย่าง การสร้างสะพานหรืออุโมงค์ให้จักรยานและพาหนะทางเลือกสามารถข้ามสี่แยกใหญ่ๆ ได้ ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ต้องมีองค์ความรู้เฉพาะในการออกแบบ  แต่ถ้าจะคิดไปให้สุด ๆ คือ การจัดตั้ง “บริษัทมหาชน” ที่เปิดให้ทุกคนได้ซื้อหุ้น และมีส่วนเป็นเจ้าของ  

ถ้าจะสรุปชัด ๆ คือ ทุกคนต้องช่วยกัน “แฮกระบบ กทม.” ทำให้ ระบบบริหารราชการที่มีอยู่ถูกขันน๊อต และทำงานต่อไปได้  โดยมีเป้าหมายสุดท้าย ก็คือ เพื่อสร้างเมืองที่ดีขึ้น สำหรับทุกคน


“กทม.ต้องเปลี่ยนแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่ทุกเรื่อง สิ่งที่ทำมาแบบเดิมมันก็ดี แต่ยังดีไม่พอ อย่างแรกต้องเริ่มรู้แล้วว่า เมืองมันต้องเปลี่ยนแบบนี้ มันต้องไปทางนี้ ดังนั้น ต้องเตรียมทำทุกอย่างเพื่อให้เมืองดีขึ้น ทำให้คนใช้เท้าเดินได้ ใช้จักรยานได้ ให้คนออกจากบ้านไปเจอสวนใกล้ ๆ บ้านได้ ทุกคนมีอากาศดี ๆ หายใจ”

สแกนแคมเปญ “ปั่นต่อ”

ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ