ผ่านไปไม่นาน เข้าสู่เดือนกรกฎาคม 2568 เดือนที่ 7 ของปีกันแล้ว เดือนกรกฎาคม2568 มีวันหยุดยาว 2 ช่วง รวมถึงมีวันสำคัญ ใครที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยว หรือกิจกรรมที่น่าสนใจ เรามีข้อมูลดี ๆ มาบอกกัน
ปฏิทินวันหยุด เดือนกรกฎาคม 2568
วันหยุดเดือนกรกฎาคม 2568
วันหยุดพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2568 วันอาสาฬหบูชา
ปฏิทินวันหยุดเนื่องในโอกาสเป็น วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเป็นการแสดงปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรก โปรดปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ประวัติความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย มีดังนี้
ความสำคัญและเหตุการณ์ในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 8 หลัง ถ้าปีใดมีอธิกมาส) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี (ปัจจุบันคือสารนาถ ประเทศอินเดีย) หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ได้ 2 เดือน
ใจความสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ อริยสัจ 4 ได้แก่
- ทุกข์ (ทุกฺข) ความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
- สมุทัย (สมุทย) เหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา ความอยาก
- นิโรธ (นิโรธ) ความดับทุกข์ คือ การดับตัณหา
- มรรค (มคฺค) หนทางแห่งความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนี้จบลง โกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ทำให้ในวันนั้นเกิดมีพระรัตนตรัยครบ 3 องค์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
การกำหนดวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
ถึงแม้เหตุการณ์วันอาสาฬหบูชาจะเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย แต่การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดและยังเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ขณะดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา ได้เสนอต่อคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคมในปัจจุบัน) ให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่ง
มติคณะสังฆมนตรี คณะสังฆมนตรีมีมติรับหลักการและให้ถือปฏิบัติสืบมา โดยได้ออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 ประกาศสำนักสังฆนายก ในวันเดียวกันนั้น ได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน
กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมประกอบกิจกรรมทางศาสนาในวันอาสาฬหบูชา ดังนี้
- ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในตอนเช้า
- ฟังพระธรรมเทศนา ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือหลักธรรมคำสอนอื่นๆ
- เวียนเทียน ในตอนค่ำ พุทธศาสนิกชนจะไปรวมกันที่วัดเพื่อเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เป็นการบูชาพระรัตนตรัย
- ปฏิบัติธรรม บางคนอาจเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมที่วัด หรือเจริญสมาธิภาวนาที่บ้าน
วันหยุดศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2568 วันเข้าพรรษา
วันหยุดเนื่องในโอกาสเป็น วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับพระวินัยบัญญัติและวิถีชีวิตของคนในสมัยพุทธกาล รวมถึงประเพณีต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
ที่มาในสมัยพุทธกาล
เหตุแห่งการบัญญัติ ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์มีธรรมเนียมในการจาริกเผยแผ่พระธรรมคำสอนไปในที่ต่าง ๆ ตลอดทั้งปี แต่ในฤดูฝน การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชผลของชาวบ้าน หรือทำอันตรายแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อย ทำให้ชาวบ้านติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา ณ อาวาสใดอาวาสหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว และเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีเวลาพักผ่อน ปฏิบัติธรรม และศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเต็มที่
ความหมายของ “เข้าพรรษา” คำว่า "เข้าพรรษา" มาจากคำว่า "วสฺสูปนายิกา" ในภาษาบาลี แปลว่า "การเข้าอยู่จำพรรษาในฤดูฝน" หมายถึง การที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง ตลอดระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
การกำหนดวันเข้าพรรษา
วันเริ่มต้นและสิ้นสุด วันเข้าพรรษาเริ่มต้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 และสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (หากปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองครั้ง วันเข้าพรรษาก็จะเลื่อนไปเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง)
ประวัติในประเทศไทย
สมัยสุโขทัย มีหลักฐานปรากฏในจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ว่ามีการทำบุญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยสุโขทัย โดยพระมหากษัตริย์ ขุนนาง และประชาชนร่วมกันถือศีลบำเพ็ญกุศล
สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ประเพณีการทำบุญในวันเข้าพรรษายังคงสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ โดยมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาแก่พระสงฆ์
ปัจจุบัน วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดและเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความสำคัญและปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมีการทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ แก่พระสงฆ์ รวมถึงการฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล และเจริญภาวนา
กิจกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันเข้าพรรษา
- การถวายเทียนพรรษา เป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งในวันเข้าพรรษา โดยมีความเชื่อว่าการถวายเทียนพรรษาจะช่วยให้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สว่างไสวดุจแสงเทียน ในปัจจุบันมีการจัดงานประกวดเทียนพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดอุบลราชธานี
- การถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นการถวายผ้าสำหรับให้พระสงฆ์ใช้ผลัดเปลี่ยนในช่วงฤดูฝน
- การจำศีล พุทธศาสนิกชนบางส่วนอาจถือโอกาสในช่วงเข้าพรรษาในการงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ หรือตั้งใจรักษาศีลให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น
- การฟังธรรม เนื่องด้วยจัดเป็นวันหยุดประชาชนจึงไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนาในช่วงเข้าพรรษา เป็นการศึกษาและน้อมนำหลักธรรมคำสอนมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา
สำหรับพระสงฆ์ เป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ได้พักผ่อนจากการจาริก ได้ปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรมวินัย และเตรียมการสั่งสอนประชาชนเมื่อออกพรรษา
สำหรับพุทธศาสนิกชน เป็นโอกาสในการทำบุญ บำเพ็ญกุศล ฟังธรรม และชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
ต่อสังคม ช่วยลดการเบียดเบียนพืชผลและสัตว์เล็กสัตว์น้อยในฤดูฝน และส่งเสริมความสามัคคีในชุมชนผ่านกิจกรรมทางศาสนา
วันหยุดเนื่องในวันเข้าพรรษาจึงเป็นวันสำคัญที่มีความหมายทั้งทางพระพุทธศาสนาและทางวัฒนธรรมของไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติธรรม การทำความดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
วันหยุดจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2568 วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ปฏิทินวันหยุด เนื่องในวโรกาสเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี โดยในวันนี้พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 73 พรรษา เป็นวันที่มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ และกิจกรรมอื่น ๆ อย่างมากมาย
ปฏิทินวันหยุด เดือนกรกฎาคม 2568 ดูวันสำคัญอื่น ๆ
1 กรกฎาคม : วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ
2 กรกฎาคม 2476 : “ศาลาเฉลิมกรุง” เปิดให้บริการเป็นวันแรก
3 กรกฎาคม 2547 : “รถไฟฟ้ามหานคร” เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ
4 กรกฎาคม : วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังเป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ทรงศึกษาระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนจิตรลดา ต่อมาทรงศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงได้รับรางวัลเรียนดีตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษา ทรงสำเร็จปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกเคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 ทรงได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี และทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2528 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังทรงเข้าศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่สนพระทัย อาทิ การเข้าอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมนี ศึกษาด้านพิษวิทยา ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษา 2549 ศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีการศึกษา 2560
พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ผู้มีผลงานดีเด่นของโลก ในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้ง “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 ซึ่งทรงเป็นองค์ประธาน ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง ทั้งทรงเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2525 ได้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) กับ เรืออากาศโท วีระยุทธ ดิษยะศริน (อดีตพระสวามี) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562
6 กรกฎาคม : วันจูบสากล (International Kissing Day)
“การจูบ (Kissing)” เป็นการกระทำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยชาวโรมันได้อธิบายไว้ 3 แบบ คือการจูบที่แก้มอย่างเป็นมิตร (Osculum) การจูบด้วยความรักบนริมฝีปาก (Basium) และการจูบที่ปากอย่างเร่าร้อน (Savium) ซึ่งในสังคมโรมัน การจูบเมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร จะเป็นตัวบ่งชี้สถานะทางสังคมได้
เคยมีนักมานุษยวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ ได้เอ่ยถึงทฤษฎีการจูบถึง 2 ทฤษฎี โดยทฤษฎีแรกมองว่า “การจูบ (Kissing)” เป็นพฤติกรรมที่พัฒนามาจากการป้อนอาหารจากแม่สู่ลูก โดยใช้ริมฝีปาก ขณะที่อีกทฤษฎีมองว่าเป็นสัญชาตญาณที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งนี้ มีข้อมูลบ่งชี้ว่า คนมากถึง 2 ใน 3 บนโลก มักจะเอียงคอไปด้านขวาขณะจูบ
ในบางวัฒนธรรมยังใช้ “การจูบ (Kissing)” เพื่อสื่อความหมายดี ๆ สู่คนสำคัญ เช่น การจูบเบา ๆ ที่แก้ม เพื่อกระชับมิตรภาพดี ๆ การจูบเพื่อแทนคำอวยพร การจูบเบา ๆ ที่มือ แทนการทักทาย การจูบเพื่อแสดงความเคารพ หรือแม้แต่การจูบระหว่างแม่กับลูก เพื่อแสดงความรัก
8 กรกฎาคม 2536 : “พุทธทาสภิกขุ” บุคคลสำคัญของโลก มรณภาพ
“พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมชื่อ “เงื่อม พานิช” ท่านเป็นพระผู้ผลิตสื่อธรรมะในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนา
ท่านได้ร่วมกับ “ธรรมทาส พานิช” ผู้เป็นน้องชาย ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมโดย “พุทธทาสภิกขุ” ท่านให้ชื่อว่า “สวนโมกขพลาราม” เพราะบริเวณที่ตั้งมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่มาก มีความหมายว่า “สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์” ต่อมาในปี 2486 “สวนโมกขพลาราม” ได้ย้ายมาอยู่ที่ “วัดธารน้ำไหล” บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ท่านมีความปรารถนาให้ “สวนโมกขพลาราม” หรือ “สวนโมกข์” เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม โดยภายในมี “โรงมหรสพทางวิญญาณ” ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ ภาพพุทธประวัติ รอบบริเวณวัดเป็นสวนป่าร่มรื่นเต็มไปด้วยปริศนาธรรม ปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป เหมาะสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมจิตใจและศึกษาพุทธศาสนา ทั้งยังมีการฝึกสอนสมาธิสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติด้วย
“พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” มรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ที่วัดสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2548 “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)” มีมติประกาศยกย่องให้ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก
10 กรกฎาคม 2568 : วันอาสาฬหบูชา
11 กรกฎาคม 2568 : วันเข้าพรรษา
11 กรกฎาคม 2568 : วันงดดื่มสุราแห่งชาติ
13 กรกฎาคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
17 กรกฎาคม : วันอีโมจิโลก (World Emoji Day)
25 กรกฎาคม 2521 : วันเกิด “เด็กหลอดแก้ว” คนแรกของโลก
“หลุยส์ บราวน์ (Louise Joy Brown)” เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby) คนแรกของโลก เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2521 ที่โรงพยาบาลรอยัล โอลด์แฮม (Royal Oldham Hospital) สหราชอาณาจักร โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์สองท่านคือ “โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards)” และ “แพทริค สเต็ปโท (Patrick Steptoe)” จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
การเกิดของเธอ นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่น่าทึ่งที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดย “โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards)” นักวิจัยทางการแพทย์ชาวอังกฤษ เจ้าของฉายา “บิดาผู้ให้กำเนิดเด็กหลอดแก้ว” และ “แพทริค สเต็ปโท (Patrick Steptoe)” แพทย์สูตินรีเวช จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ได้พบกับพ่อแม่ของเธอ ในปี 1976 หลังจากที่ใช้ชีวิตคู่มานานถึง 9 ปี แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ
เทคนิคการทำ “เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby)” ได้รับการยกย่องว่าเป็นปาฏิหาริย์ทางการแพทย์ แม้ว่าจะก่อให้เกิดประเด็นด้านจริยธรรมและการแพทย์ก็ตาม แต่วิธีนี้ก็ได้พิสูจน์ยืนยันแล้วว่าปลอดภัย เป็นการนำความหวังมาให้พ่อแม่ที่มีปัญหามีบุตรยาก และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นจวบจนปัจจุบัน
ในประเทศไทย “เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby)” คนแรกคือ “ปวรวิทย์ ศรีสหบุรี” เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2530 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยอยู่ในความดูแลของ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน” และทีมแพทย์ ซึ่งเป็น “เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby)” ที่เกิดหลังจาก “หลุยส์ บราวน์ (Louise Joy Brown)” 9 ปี
28 กรกฎาคม : วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ”
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีพระราชพิธีสมโภชน์เดือนและขึ้นพระอู่ ในวันที่ 14 - 15 กันยายน 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ทรงมีพระเชษฐภคินีคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระกนิษฐภคินีคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาในปี 2509 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนคิงส์มีด (King's Mead School) เมืองซีฟอร์ด (Seaford) แคว้นซัสเซกซ์ (Sussex) สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) และโรงเรียนมิลล์ฟีลด์ (Millfield School) เมืองสตรีท (Street) แคว้นซอเมอร์เซท (Somerset) สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาในปี 2513
ด้วยความสนพระราชหฤทัยในวิชาการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่คิงส์ สกูล (The King's School) เขตพาร์รามัตตา (Parramatta) นครซิดนีย์ (Sydney) รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) เครือรัฐออสเตรเลีย (Australia) ในเดือนสิงหาคม ปี 2513
ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารชั้นสูง ที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน (The Royal Military College, Duntroon) กรุงแคนเบอร์รา (Canberra) เครือรัฐออสเตรเลีย (Australia) ระหว่างปี 2515 - 2519 ทรงได้รับการถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต การศึกษาด้านทหาร คณะการศึกษาด้านทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales University)
เมื่อพระชนมมายุ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีสถาปนา “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ” เฉลิมพระราชอิสริยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ที่ 3 ของไทย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ทรงผนวช ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุศาสน์ ทรงประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยทรงศึกษาพระธรรมเป็นเวลา 15 วัน จึงทรงลาผนวช
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 ปี 2520 และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 และยังทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
จากพระอัจฉริยภาพและความสนพระราชหฤทัยด้านการบินและอากาศยาน ทรงเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหาร ด้านการบินหลายหลักสูตร อาทิ เครื่องบินปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการฝึกและศึกษาตามโครงการของกองทัพบก สหรัฐอเมริกา ณ ฟอร์ต แบรกก์ (Fort Bragg) รัฐนอร์ทแคโลไรนา (North Carolina)
หลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน ไอพ่น T-33 ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 101 หลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน หลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูงแบบ F-5 E/F ณ William Air Force Base รัฐแอริโซนา (Arizona) หลักสูตรการบินรบขั้นสูง และทรงทำการบินเครื่องบินขับไล่ F-5E เข้าแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 (Boeing 737) ด้วยพระปรีชาชาญด้านการบิน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จึงได้รับการขนานพระนามให้เป็น “เจ้าฟ้านักบิน”
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ ห้อง ว.ป.ร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสกับ “พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา” (พระยศในขณะนั้น) พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” และต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “พระราชพิธีฉัตรมงคล” เป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “วันฉัตรมงคล” ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะมีการจัดงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยจะมีการใช้เรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,200 นาย
29 กรกฎาคม : วันภาษาไทยแห่งชาติ
31 กรกฎาคม 2466 : “รถแท็กซี่” เริ่มให้บริการเป็นครั้งแรกในไทย
อ่าน - Thai PBS On This Day | กรกฎาคม 2568
ปฏิทินวันหยุด เดือนกรกฎาคม 2568 ดูกิจกรรม อีเวนต์ที่น่าสนใจ
BANGSAEN GRAND PRIX 2025
ปฏิทินวันหยุดนี้ เตรียมตัวให้พร้อมกับงานใหญ่ประจำปี BANGSAEN GRAND PRIX 2025 เทศกาลความเร็วที่มันส์ที่สุดริมทะเล เพราะที่นี่ไม่ใช่แค่สนามแข่ง แต่มันคือ “เฟสติวัลแห่งความเร็วริมทะเล” บนสนามแข่งรถเลียบชายหาด “Bangsaen Street Circuit” จ.ชลบุรี พบกับรถแข่งระดับท็อปจากไทยและต่างประเทศที่จะมารวมตัวกันแน่นชายหาด! พร้อมกิจกรรมมันส์ตลอดงาน ทั้งโซนเกม ลานอาหาร มุมเด็กเล่น มอเตอร์สปอร์ตจัดเต็ม เข้าชมฟรี! พร้อมลุ้นของที่ระลึกสุดพิเศษ
วัน - เวลา : 2 - 6 ก.ค. 68
สถานที่ : สนามแข่งรถเลียบชายหาด “Bangsaen Street Circuit” จ.ชลบุรี
งานเทศกาลเงาะโรงเรียนบ้านนาสาร ปี 2568
ปฏิทินวันหยุด ชวนเที่ยวกิจกรรมทัวร์สวนผลไม้ ประกวดเงาะโรงเรียนและผลิตผลทางการเกษตร การประกวดธิดาเงาะโรงเรียน การออกร้านนิทรรศการด้านการเกษตร ขบวนแห่นิทรรศการ ประกวดรถบุพชาติ การประกวดผลิตผลทางการเกษตร สินค้าชุมชน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ อาทิ นิทรรศการการแข่งขันเดิน - วิ่ง เมืองเงาะซุปเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน การแข่งขันมอเตอร์ครอส มวยไทย กิจกรรมปั่นไปชิมไป กิจกรรมทัวร์สวนเงาะและแหล่งท่องเที่ยว
วัน - เวลา : 3 - 14 ก.ค. 68
สถานที่ : บริเวณริมคลองฉวาง อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี
Bangkok Horror Film Festival 2025
เข้าร่วมฟรี! ‘Bangkok Horror Film Festival 2025’ เทศกาลหนังสยองขวัญครั้งแรกของกรุงเทพฯ ที่จะพาผู้ชมไปนั่งลุ้นระทึกใต้เงาไฟสีส้มจาง ๆ กลางย่านเก่าอย่างประปาแม้นศรี พร้อมหนังยอดนิยมอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต, Us และ Smile
นอกจากการฉายหนังกลางแปลง ยังมีนิทรรศการที่หยิบรายละเอียดจากหนังแต่ละเรื่องมาเล่าใหม่ในรูปแบบที่คุณเดินเข้าไปสำรวจได้เอง มีวงสนทนาจากผู้กำกับ นักแสดง และทีมกองถ่าย ที่จะมาเล่าเรื่องเบื้องหลังที่บางทีก็ชวนหลอนกว่าหนังที่ฉายอยู่เสียอีก
วัน - เวลา : 4 - 6 ก.ค. 68
สถานที่ : ประปาแม้นศรี (หลังเก่า) กรุงเทพมหานคร
เทศกาลอัยยะปักษ์ใต้ 2 FLY 2 SOUTH NOW FESTIVAL II
เทศกาล "อัยยะ ปักษ์ใต้ 2 FLY 2 SOUTH NOW FESTIVAL II" มาร่วมสัมผัสความมหัศจรรย์ของศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ที่เต็มไปด้วยสีสันและเอกลักษณ์เฉพาะตัว! เต็มอิ่มกับกิจกรรมปักษ์ใต้สุดสร้างสรรค์ตลอดทั้ง 3 วัน อาทิ แฟชั่นโชว์สุดพิเศษจาก 6 แบรนด์ดีไซน์เนอร์จากปักษ์ใต้ อิ่มอร่อยช้อปสนุกให้ได้แรงอก! กับตลาดอาหารและสินค้าท้องถิ่นปักษ์ใต้ที่มีให้เลือกอย่างจุใจ
ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้หาดูยาก ดนตรีสดจากศิลปินอินดี้ที่นำความร่วมสมัยใหม่มาผสานกับความเป็นปักษ์ใต้ เพลิดเพลินกับเวิร์คช็อปหัตถศิลป์ท้องถิ่นปักษ์ใต้ เลือกซื้อทัวร์ทริปเที่ยวใต้สุดพิเศษที่ครีเอทมาเฉพาะงานนี้เท่านั้น!
วัน - เวลา : 4 - 6 ก.ค. 68
สถานที่ : ช่างชุ่ย Creative Park ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร
งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
ร่วมเฉลิมฉลอง 233 ปี อุบลราชธานีศรีวนาลัย และ 124 ปี งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ชมความสวยงามของขบวนรำ ขบวนแห่เทียนตั้งแต่ด้านหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนนอุปราช ถนนชยางกูร และหน้าลานขวัญเมือง
วัน - เวลา : 7 - 13 ก.ค. 68
สถานที่ : ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 2568
ร่วมสัมผัสบรรยากาศแห่งความศรัทธาและวัฒนธรรมสุดยิ่งใหญ่ ในงานประจำปีของจังหวัดนครพนม "งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 2568" ชมความตระการตาของขบวนแห่เครื่องบูชา และขบวนรถคาร์นิวัล สัมผัสวัฒนธรรม 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ พร้อมเลือกซื้อสินค้า OTOP ตลอดงาน
วัน - เวลา : 7 - 13 ก.ค. 68
สถานที่ : ลานพญาศรีสัตตนาคราช จ.นครพนม
งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา
ปฏิทินวันหยุดเดือนกรกฎาคม 2568 ร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดสระบุรีใน "งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา" ชมขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนพยุหยาตราและขบวนเจ้าเมืองสระบุรี ขบวนรถบุปผชาติ และขบวนวัฒนธรรม พร้อมร่วมบุญในพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและล้างเท้าพระ
วัน - เวลา : 9 - 11 ก.ค. 68
สถานที่ : บริเวณบันไดนาค วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร ต.ขุนโขน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
เวียนเทียนตะคันเมืองโบราณสุโขทัย (วันอาสาฬหบูชา)
ร่วมกิจกรรมเวียนเทียนตะคันเมืองโบราณสุโขทัย เนื่องในวันอาสาฬหบูชา เริ่มกิจกรรมเวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ลงทะเบียนบริเวณหน้างานรับตะคันดินเผาฟรี มีจำนวนจำกัด 1,200 ดวง
วัน - เวลา : 10 ก.ค. 68
สถานที่ : วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย
งานเทศกาลทานาบาตะที่หมู่บ้านญี่ปุ่น พระนครศรีอยุธยา
ร่วมสัมผัสบรรยากาศอันอบอุ่นและเปี่ยมไปด้วยความหวังกับเทศกาลทานาบาตะ หรือ "เทศกาลขอพรกับดวงดาว" ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความรักและความหวังของชาวญี่ปุ่น พบกับกิจกรรมพิเศษตลอดงาน อาทิ กิจกรรมเขียนกระดาษขอพร "ทังซะกุ (Tanzaku)" มาเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษหลากสี แล้วนำไปแขวนบนกิ่งไผ่ เชื่อว่าพรของคุณจะส่งไปถึงดวงดาว กิจกรรมศิลปะระบายสี อิ่มอร่อยกับอาหารหลากหลายเมนูจาก Food Truck พร้อมสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันงดงาม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลทานาบาตะที่อบอวลไปด้วยความสุขและความประทับใจ
วัน - เวลา : 10 - 13 ก.ค. 68
สถานที่ : หมู่บ้านญี่ปุ่น จ.พระนครศรีอยุธยา
เส้นทางสายบุญไหว้พระเสริมสิริมงคล ชมวิถีชุมชนคนทำเทียน
ชมวิถีชุมชนคนทำเทียน ทั้ง 6 คุ้มวัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เริ่มตั้งแต่วัดโคน วัดชัยมงคล วัดโพธิ์ วัดกลาง วัดจำปา วัดแจ้ง พร้อมเที่ยวชม "ประเพณีแห่เทียนพรรษา อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ประจำปี 2568" พบกับขบวนแห่เทียนพรรษาสุดยิ่งใหญ่ การแสดงดนตรี การแสดงศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่น
สัมผัสบรรยากาศอันอบอุ่นและเป็นกันเองที่เต็มไปด้วยกลิ่นหอมของขี้ผึ้งและสีสันสดใสของเทียน สะท้อนถึงความประณีตและศิลปะที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับกระบวนการทำเทียนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การหลอมขี้ผึ้งจนถึงการตกแต่งรายละเอียดที่งดงาม ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ
วัน - เวลา : 11 - 12 ก.ค. 68
สถานที่ : ลานหน้าสำนักงานเทศบาล ต.ประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
ประเพณีใส่บาตรเทียน ประจำปีของชาวอำเภอเวียงสา
ปฏิทินวันหยุด กรกฎาคม 2568 ร่วมบุญถวายเทียนแก่พระภิกษุสามเณรสำหรับใช้จุดบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ทำวัตรเช้า - เย็น และกิจวัตรอื่น ๆ ตามพระธรรมวินัยในการจำพรรษาของพระภิกษุตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของชาวอำเภอเวียงสาให้คงอยู่ตลอดไป
"ประเพณีใส่บาตรเทียน" ถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญ อยู่คู่กับวัดบุญยืนและชาวอำเภอเวียงสามาเป็นเวลาช้านาน มีแห่งเดียวในประเทศไทย หรืออาจกล่าวได้ว่า มีหนึ่งเดียวในโลกด้วย เพราะเป็นประเพณีที่ไม่เคยมีปรากฏในที่แห่งใดเลยที่มีทั้งพระภิกษุสามเณรอีกทั้งฆราวาสมาใส่บาตรร่วมกัน และที่แปลกคือไม่มีพระภิกษุสามเณรยืนอุ้มบาตรรับเทียน แต่เป็นการนำเทียนไปใส่ในบาตรที่ตั้งไว้บนโต๊ะหรือใส่ลงบนผ้าอาบน้ำฝนที่ปูบนโต๊ะ
วัน - เวลา : 12 ก.ค. 68
สถานที่ : วัดบุญยืน พระอารามหลวง ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน
UDON CITY FEST 2025 เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย
เตรียมพบกับ UDON CITY FEST 2025 เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่จะพาอุดรฯ ม่วน!!! ไม่ว่าจะชอบงานอาร์ต ดนตรี อาหาร หรืองานคราฟต์ ที่นี่รวมทุกแรงบันดาลใจไว้ในงานเดียว พร้อมกิจกรรมแน่น 2 วันเต็ม ที่ทั้งสนุก ทั้งได้ของติดมือกลับบ้านแน่นอน
วัน - เวลา : 12 - 13 ก.ค. 68
สถานที่ : พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
งานมหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู ครั้งที่ 12
เต็มอิ่มกับทุเรียนป่าละอูและผลไม้ในพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพลิดเพลินไปกับดนตรี พร้อมชอปสินค้าจากร้านค้ามากมาย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดธิดาชาวไร่ มวยไทย โชว์จากคณะนางรำ
วัน - เวลา : 14 - 20 ก.ค. 68
สถานที่ : อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
PSU Bazaar on Ground #6 - “Star Journey”
ชวนเที่ยวเทศกาลอาหาร ดนตรี และการเรียนรู้ ชวนอิ่มท้อง ฟังเสียงดนตรี และเปิดโลกการเรียนรู้รอบตัว พบกับร้านอาหาร-เครื่องดื่มจากเครือข่ายผู้ประกอบการกลุ่ม PSU Bazaar เพื่อส่งเสริมธุรกิจ ชาว ม.อ.และภาคใต้
ชิลกับดนตรีแจ๊ส-โฟล์คซองในบรรยากาศใต้แสงดาว กิจกรรมการเรียนรู้ใกล้ฉัน กับ กิจกรรมดูดาว จากหอดูดาวฯ สงขลา เรียนรู้สิ่งมีชีวิตรอบตัว กับ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ ม.อ. สัญจร เวิร์กช็อปฝึกทำขนมและงานศิลปะจากสถาบันวัฒนธรรมศึกษาฯ ม.อ.
วัน - เวลา : 18 - 20 ก.ค. 68
สถานที่ : ลานเสาธง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Lanta GypSea Coffee & Craft 2 #ChapterC
จิบกาแฟ แลสวนสน มา See…หลาย C ภายในงาน เช่น Coffee, Camp car, Casuarina, Craft, Culture, Creative, (Hermit) Crab… and C (Sea) กรุ่นกลิ่นภายใต้ Concept การจัดงาน “ได้ดื่มกาแฟ ได้ Care สิ่งแวดล้อม” ชิม ช้อปกับร้านค้ากว่า 40 บูธ เช่น ร้านกาแฟและเครื่องดื่ม เบเกอรี่, Workshop, งาน Craft และ D.I.Y, Fancy face painting, การแสดงนิทรรศการที่ทำมาจากขยะ พร้อมกับของดี้ดีของลันตา ท่ามกลางบรรยากาศความสวยงามของหาดทราย, ป่าสน พระอาทิตย์ตกที่สุดโรแมนติก, ย้ำ ๆ เน้น ๆ เป็นการจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Event) ตอกย้ำปฏิญญาลันตา“การขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island
วัน - เวลา : 18 - 20 ก.ค. 68
สถานที่ : สวนสาธารณะหาดพระแอะ เกาะลันตา จ.กระบี่
งาน กำโลน Festival แอท คีรีวง ครั้งที่ 3
ชวนเที่ยวเทศกาลท่องเที่ยวคีรีวง และการแสดงพลุกลางหุบเขา พบกับกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การแสดงพลุสุดอลังการ การแสดงดนตรี พร้อมเต้นรับโอโซน กิจกรรมถ่ายรูปเช็คอินและประกวดภาพถ่าย
วัน - เวลา : 25 - 29 ก.ค. 68
สถานที่ : หมู่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช
มหกรรม Soft Power สระแก้ว ชายแดนเบื้องบูรพาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปีที่ 2
พบกับกิจกรรมมากมาย ทั้งการประกวด การแสดง การแข่งขัน และร้านค้ากว่า 100 ร้านค้า! พร้อมไฮไลท์เด็ด ๆ อาทิ การประกวดอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย (คีตะมวยไทย) การประกวดไก่พื้นเมืองสวยงาม การแข่งขันทำเมนูอาหารพื้นถิ่นสระแก้ว การแข่งขันจัดสวนถาดแก้ว/แบบชื้น การประกวดออกแบบแฟชั่น (ผ้าทอ ผ้าพื้นถิ่น อัตลักษณ์สระแก้ว) การประกวดเดินแบบผ้าขาวม้าสร้างสรรค์ การประกวดวงดนตรีสากลสร้างสรรค์ “นักเรียน นักศึกษา”
วัน - เวลา : 26 - 27 ก.ค. 68
สถานที่ : มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ จ.สระแก้ว
ปฏิทินวันหยุด เดือนกรกฎาคม 2568 แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว “น้ำตกใกล้ฉัน”
ปฏิทินวันหยุด เดือนกรกฎาคม 2568 เข้าสู่ช่วงหน้าฝนอย่างเป็นทางการ “น้ำตกใกล้ฉัน" อาจจะเป็นคำค้นที่หลายคนกำลังมองหา วันหยุดนี้ Thai PBS รวบรวมน้ำตกที่น่าสนใจ ปักหมุดไว้ให้ลองเดินทางไปท่องเที่ยวแบบสบาย ๆ มีอะไรบ้าง ? ตามไปดูกัน
น้ำตกนางรอง จังหวัดนครนายก
หากพูดถึงน้ำตกใกล้กรุงเทพฯ จังหวัดนครนายกถือเป็นจุดที่มีน้ำตกอยู่มากมายหลายแห่ง และยังมีความสวยงามตามธรรมชาติให้ได้ไปสัมผัส
“น้ำตกนางรอง” เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของที่นี่ เป็นน้ำตกขนาดกลาง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองนครนายกประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกแห่งนี้มีความสูงประมาณ 30 เมตร แม้จะไม่สูงมาก แต่มีความงดงามที่ชวนให้สัมผัส ตัวน้ำตกที่ไหลทอดยาว เผยความงามผ่านละอองในแต่ละชั้นน้ำตก ที่ประสานความงามขึ้นจากละอองน้ำตกและความกว้างชุ่มชื่นของแอ่งน้ำที่เล็กบ้างใหญ่บ้าง รองรับน้ำที่ไหลลงมาเป็นทอด
น้ำตกแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่เที่ยวได้ตลอดปี ด้วยบรรยากาศที่เย็นสบาย เหมาะแก่การมาพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ พร้อมมีที่พักให้บริการ
สนใจการท่องเที่ยวน้ำตกนางรอง สอบถามข้อมูลได้ที่ อบจ.นครนายก ติดต่อ 037-307100 น้ำตกนางรอง ติดต่อ 037-385310 หรือเปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี
น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น อาจไม่ใช่ชื่อน้ำตกที่คุ้นหู แต่น้ำตกที่ตั้งอยู่ในตำบลท่ากระดาน ด้านทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นน้ำตกที่ได้ชื่อว่าสวยงามเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำตกเอราวัณ
ความสวยงามนั้นมีที่มาจากสายน้ำลำห้วยแม่ขมิ้น ที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขากะลาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร สายน้ำไหลลงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใสสะอาด ไหลเลาะมาตามชั้นของหินปูนที่ธรรมชาติสรรค์สร้างให้ค่อยลดหลั่นระดับราวขั้นบันไดธรรมชาติ
และเป็นบันได 7 ชั้น ที่แต่ละชั้นมีชื่อเรียกต่างกัน โดยไฮไลต์ที่สวยงามที่สุดอยู่ที่ชั้นที่ 4 มีชื่อว่า “ฉัตรแก้ว” น้ำตกในชั้นนี้ มีสายน้ำที่ไหลมาตามชั้นหินที่เรียงตัวเป็นชั้น ได้วางตัวแผ่กว้างเป็นม่านน้ำตกสูงกว่า 10 เมตร รูปทรงแลดูคล้ายร่มฉัตรที่ทำจากแก้วนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีความงดงามของน้ำตกชั้นอื่นที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไป ชั้นที่ 7 มีชื่อเรียกว่า “ร่มเกล้า” เป็นความงดงามของสายน้ำที่ไหลผ่านผืนป่าลงมายังหน้าผาหิน ทั้งยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ในโมงยามที่พระอาทิตย์ตกส่งท้ายวันได้อีกด้วย
สนใจการท่องเที่ยวน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น สอบถามข้อมูลได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 06 2325 5498, 09 2482 1564 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-17.00 น.
น้ำตกสามหลั่น อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น จังหวัดสระบุรี
น้ำตกสามหลั่น ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น อยู่ในท้องที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ตัวน้ำตกอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานราว 400 เมตร ความสวยงามของที่นี่มาจากความอุดมสมบูรณ์ที่ป่าไม้และลานหินกว้างวางเรียงซ้อนกันเป็นสามชั้นคล้ายบันได แต่เป็นบันไดที่มีพื้นกว้าง มีเอกลักษณ์ที่ความงดงามเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
ช่วงน้ำไหลเอื่อยจะเห็นความงามคล้ายบันไดใสส่องประกายกับแสงแดด มองเห็นได้ถึงความงามของแมกไม้ที่สะท้อนกับผิวน้ำซ้อนกับชั้นหินที่อยู่ในแอ่งน้ำตก ส่วนในช่วงเวลาที่น้ำไหลบ่าจะเห็นความงามของละอองน้ำสาดซัด
ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่นยังมีน้ำตกอื่น ๆ ให้เยี่ยมชม เช่น น้ำตกโพธิ์หินดาด น้ำตกโตนรากไทร และอ่างเก็บน้ำซับปลากั้ง อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่นมีการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี หลังจากมีช่วงปิดเพื่อพักฟื้นฟูธรรมชาติเป็นเวลาหนึ่งเดือน ได้ประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ภายในอุทยานมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติและที่พักให้บริการ
สนใจการท่องเที่ยวน้ำตกสามหลั่น สอบถามข้อมูลได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น เลขที่ 53 หมู่ 1 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี 18000 หรือ ตู้ ปณ.10 อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี 18000 โทรศัพท์ 0 3671 3829 อีเมล : samlan2008@hotmail.com Facebook : อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น - Namtok Samlan National Park
ปฏิทินวันหยุดประจำเดือนกรกฎาคม 2568 ขอให้เป็นวันที่ดีของทุก ๆ คน และเดินทางอย่างปลอดภัย