ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน สำหรับ “วันอาสาฬหบูชา” โดยในปี 2568 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 Thai PBS ชวนทำความเข้าใจ ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา ตลอดจนหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญนี้ร่วมกัน
“วันอาสาฬหบูชา” มีความสำคัญอย่างไร ?
วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นครั้งแรก โดยทรงแสดงธรรมแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
อีกหนึ่งนัยความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา นั่นคือ เป็นวันที่พุทธศาสนามีองค์พระรัตนตรัยครบ 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ
1.พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ซึ่งหมายถึงการหมุนวงล้อแห่งธรรม ประกาศหลักการสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 และ มรรค 8 โดยทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์
2.การบังเกิดของอริยสงฆ์รูปแรกหลังจากฟังปฐมเทศนาแล้ว นั่นคือ "โกณฑัญญะ" หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์รูปแรกของโลก
3.การก่อตั้งพระรัตนตรัย เมื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ เกิดขึ้นครบถ้วน ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์ 3 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเคารพบูชาในพระพุทธศาสนา
“วันอาสาฬหบูชา” ตรงกับวันที่เท่าไร ?
อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยมักตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม
วันอาสาฬหบูชา ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกโดยคณะสังฆมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2501 ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ทั้งนี้ยังกำหนดให้มีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ “วันวิสาขบูชา” อีกด้วย
วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้เป็นวันหยุดในประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ไม่ได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการแต่อย่างใด
ธรรมะสำคัญในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา เป็นการแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงหลักธรรมสำคัญที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง อันเป็นข้อปฏิบัติที่มีความเป็นกลาง ไม่ตึงสุดไปข้างใดข้างหนึ่ง กล่าวคือ…
- ไม่หมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง หลงเพลิดเพลินในกามสุข หรือที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
- ไม่ใช้วิธีสร้างความลำบากแก่ตนเอง หรือดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด โดยเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
เมื่อละเว้น เพื่อให้ห่างจากการปฏิบัติในทางอันเป็นที่สุดในด้านใดด้านหนึ่ง การใช้หลัก “ทางสายกลาง” อันมีหัวใจสำคัญ คือ ดำเนินชีวิตด้วย “ปัญญา” จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ หลักมัชฌิมาปฏิปทา มีข้อปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ หรือเรียกว่า มรรค 8 (อริยอัฏฐังคิกมรรค) อันเป็นหนทางอันประเสริฐที่นำไปสู่ความดับทุกข์ ประกอบไปด้วย
- สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หรือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
- สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คิดสุจริต คิดในทางที่ถูกต้อง ไม่คิดอกุศล ตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
- สัมมาวาจา การเจรจาชอบ หมายถึง การพูดในสิ่งที่ดีงาม กล่าวคำสุจริต เว้นจากการพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ
- สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ คือการกระทำที่สุจริต งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม
- สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ เป็นการหาเลี้ยงชีพในทางที่สุจริต ไม่ประกอบอาชีพที่ผิดศีลธรรม
- สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นความพยายามละความชั่ว สร้างแต่ความดี
- สัมมาสติ การระลึกชอบ การระลึกถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละความประมาท ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ
- สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ การคุมจิตให้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน
“วันอาสาฬหบูชา” และความเข้าใจใน “อัฏฐังคิกมรรค”
ธรรมะสำคัญในวันอาสาฬหบูชา คือ มรรค 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรค ซึ่งเปรียบเป็นทางเอกที่มีสายเดียวหากแต่มีเงื่อนไขในทางปฏิบัติ 8 ข้อ ที่ต้องปฏิบัติควบกันให้สมบูรณ์ จึงจะได้ผลเต็มที่ เปรียบไปคล้ายกับถนนสายหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบ 8 อย่าง เช่น พื้นถนน ผิวถนน ขอบถนน ไหล่ถนน ทางเท้า คูระบายน้ำ ฯลฯ สิ่งประกอบเหล่านี้ ล้วนรวมกันแล้วเป็นถนนสายเดียวนั่นเอง
มรรค 8 ถือเป็นแม่บทแห่งการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ รวมทั้งในบรรดาหลักธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ล้วนแต่เป็นส่วนขยายของมรรค 8 หรืออาจกล่าวได้ว่า คำสั่งสอนของพุทธศาสนา ล้วนรวมลงในมรรค 8 ทั้งสิ้น
กิจกรรมใน “วันอาสาฬหบูชา”
กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็นกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน โดยพระภิกษุสงฆ์ในวัด เตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตามที่พระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ส่วนพุทธศาสนิกชน มีกิจกรรมที่ปฏิบัติ คือ
- ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน
- รักษาศีล งดการทำบาป หรือให้ทาน
- เข้าวัดฟังธรรมสวดมนต์
- เวียนเทียนรอบอุโบสถในเวลาเย็น เพื่อน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และยังช่วยชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส
“วันอาสาฬหบูชา” เรื่องน่ารู้กิจกรรมเวียนเทียน
วันอาสาฬหบูชา นอกจากในช่วงเช้าจะไปทำบุญ ไหว้พระ ในช่วงเย็น หลายคนมักเดินทางไปประกอบกิจกรรมเวียนเทียนที่วัด ส่วนใหญ่นิยมไปเวียนเทียนช่วงเวลา 16.00 - 20.00 น. แต่ปัจจุบัน วัดหลายแห่งมีการขยับเวลาการเวียนเทียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนมากขึ้น บางวัดเปิดให้เข้ามาเวียนเทียนได้ตั้งแต่ช่วงเช้า 06.00 น. เป็นต้นไป
สิ่งที่ควรปฏิบัติขณะเวียนเทียน
1. เมื่อเริ่มเวียนเทียนให้สำรวม กาย วาจา ใจ
2. รักษาระยะห่างการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้า ไม่ให้ความร้อนจากธูป เทียน เป็นอันตรายต่อผู้อื่น
3. เดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เดินแซงกัน ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป
4. ไม่พูดคุย หยอกล้อ ส่งเสียงรบกวนผู้อื่นขณะเวียนเทียน
5. เจริญจิตภาวนาระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
6. หลังจากเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นแนวทางที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ ทั้งนี้ทุกคนในโลก ล้วนแต่มีความทุกข์ เหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าป่วยจากสาเหตุอะไร หรือจะรักษาให้หายป่วยหายทุกข์ได้อย่างไร
การศึกษาให้เข้าใจในเรื่องอริยสัจ 4 จึงเป็นหนทางที่จะทำให้รู้จักทุกข์ พร้อมวิธีปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ จนสามารถดับทุกข์ที่มีอยู่ได้อย่างแท้จริง