วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี และหลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา นั่นคือ “อริยสัจ 4” ถือเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบวิธี “ดับทุกข์” โดยเรียกว่า ความจริงประเสริฐ
Thai PBS ชวนย้อนความเป็นมา วันวิสาขบูชา และเรียนรู้ความจริงอันประเสริฐ หรือ อริยสัจ 4 เพื่อต้อนรับวันวิสาขบูชาร่วมกัน
“วันวิสาขบูชา” ย้อนที่มาความสำคัญ
วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ เกิดขึ้นตรงกันในวันเดียวกัน นั่นคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ทั้งนี้ วันวิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา ซึ่งหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั่นเอง
ในเวลาต่อมา วันวิสาขบูชา ได้รับการรับรองให้เป็น “วันสำคัญสากล” โดยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 55 เมื่อปี พ.ศ. 2542 อันประกอบไปด้วย 16 ประเทศ คือ ไทย ศรีลังกา บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย และยูเครน ให้การรับรอง วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางสากลอีกวันหนึ่งของโลก
รู้จัก “อริยสัจ 4” หลักธรรมวันวิสาขบูชา
ในวันวิสาขบูชา อริยสัจ 4 เป็นหนึ่งในหลักธรรมที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา และเป็นหลักธรรมที่สำคัญในวันวิสาขบูชา โดยเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบวิธีการดับทุกข์ หรือเป็นการอธิบายการเกิดขึ้น และการดับไปของสภาวะที่เรียกว่า “ทุกข์” ซึ่งมีความจริงอันประเสริฐอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ
- ทุกข์ หรือปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์
- สมุทัย หรือเหตุแห่งการเกิดทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา
- นิโรธ หรือการดับทุกข์
- มรรค หรือกระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา หรือหนทางแห่งการดับทุกข์
วันวิสาขบูชา ที่มาของอริยสัจ 4
“อริยสัจ 4” อยู่ในหลักธรรม “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ เมื่อปัญจวัคคีย์ได้รับฟังธรรมะนี้ จึงได้ขอบรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์ จึงนับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เข้าใจ “ความทุกข์” ในวันวิสาขบูชา
ในวันวิสาขบูชา “ทุกข์” ในอริยสัจ 4 หมายถึง สภาวะแห่งความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเสมอกัน
ในทางธรรม ทุกข์คือ อุปาทานขันธ์ 5 คือ ความยึดมั่นถือมั่นทั้ง 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทั้งหมดล้วนเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ทั้งนี้ เหตุแห่งทุกข์หรือ “สมุทัย” คือความอยาก หรือเรียกว่า “ตัณหา” รวมเข้ากับความไม่รู้ หรือเรียกว่า “อวิชชา” นอกจากนี้ ความอยากยังแบ่งออกเป็น ความอยากในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส รวมถึงความอยากมีอยากเป็น หรือที่เรียกว่า “ภวตัณหา” และความไม่อยากมีไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนมี หรือเรียกว่า “วิภวตัณหา”
ในวันวิสาขบูชา ทุกข์เกิดขึ้นจากการดำรงอยู่ของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่มารวมกันเหล่านี้ ทุกข์จึงเป็น “ปราฏการณ์” มิใช่สภาวะที่จะดำรงอยู่ไปตลอดกาล ดังนั้น เมื่อปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดทุกข์ดับสูญไป ความทุกข์ก็ย่อมที่จะดับหายไปด้วย
รู้จักอริยสัจ 4 และหนทาง “การดับทุกข์” ในวันวิสาขบูชา
ในวันวิสาขบูชา หากดับ “สาเหตุ” ของทุกข์ลงได้ ความทุกข์ก็จะดับลงด้วย สภาวะแห่งความดับลงของทุกข์เรียกว่า “นิโรธ”
การดับลงแห่งทุกข์ ทำได้โดยปฏิบัติตามหลักการดำเนินชีวิตในแนวทางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ ทางสายกลาง อันประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ หรือที่เรียกว่า “มรรค 8” ซึ่งประกอบด้วย
- สัมมาทิฏฐิ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
- สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดที่ถูกต้อง คิดสุจริต ตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
- สัมมาวาจา คือ วาจาที่ถูกต้อง กล่าวคำสุจริต
- สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ ทำการที่สุจริต
- สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
- สัมมาวายามะ คือ ความเพียรที่ถูกต้อง เพียรละชั่ว บำเพ็ญดี
- สัมมาสติ คือ การรู้เท่าทันที่ถูกต้อง ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
- สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นของจิตที่ถูกต้อง คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน
ผลจากการเดินตามทางสายกลาง และการเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งยอมรับในการดำเนินไปของสรรพสิ่งในแบบที่มันเป็น จะส่งผลสู่การหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้ในที่สุด
ประโยชน์ของการเข้าใจ “อริยสัจ 4” ในวันวิสาขบูชา
ในวันวิสาขบูชา การเข้าใจถึงหลักความจริงอันประเสริฐของชีวิต หรือ อริยสัจ 4 ย่อมส่งผลในการดำเนินชีวิต สามารถใช้เป็นวิธีคิด วิธีมอง วิธีแก้ปัญหาได้ทุกกรณี เช่น เมื่อเกิดปัญหาใดขึ้น ลองพิจารณาด้วยวิธีคิดว่า…
- นี่คืออะไร
- ปัญหามาจากสาเหตุใด
- ทางออกของปัญหาคืออย่างไร
- ลงมือแก้ปัญหาต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ อริยสัจ 4 ยังเป็นพื้นฐานของหลักธรรมทั้งหลาย เช่น
- เป็นหลักแสดงถึงกฎแห่งกรรม
- เป็นหลักแสดงถึงการแก้ปัญหา
- เป็นหลักแสดงถึงการแสวงหาความจริง
- เป็นหลักแสดงถึงความเป็นเหตุเป็นผล
ในวันวิสาขบูชา อริยสัจ 4 อาจเป็นเสมือน “แผนที่นำทาง” เพื่อให้มนุษย์สิ้นจากความทุกข์ ตลอดจนการยึดมั่นถือมั่นต่อปัญหา ทว่าที่สุดของการดำเนินชีวิต การดำรงอยู่อย่างเข้าใจโลก เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และมองอย่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน คือ ทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ทั้งปวง…