ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ถูกตรวจพบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2024 โดยระบบกล้องโทรทรรศน์เฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อย ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในประเทศชิลี การวิเคราะห์โดยระบบเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยแบบอัตโนมัติพบว่า 2024 YR4 มีโอกาสที่จะชนเข้ากับโลกราว 3% ในวันที่ 22 ธันวาคม 2032
ขนาดของ 2024 YR4 มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 53 - 67 เมตร ซึ่งถือเป็นขนาดที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับภูมิภาคของโลกได้ โดยดาวเคราะห์น้อยระดับนี้จะชนโลกเพียงแค่หนึ่งครั้งต่อหลายพันปีเท่านั้น
ต่อมาในช่วงปี 2025 เดือนมีนาคม การเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องรวมถึงการสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ JWST (James Webb Space Telescope) ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถวิเคราะห์วงโคจรของ 2024 YR4 ได้แม่นยำยิ่งขึ้น และพบว่าวงโคจรของ 2024 YR04 ไม่ตัดกับโลก เพียงแค่จะลอยผ่านโลกไปอย่างใกล้ ๆ เท่านั้น (Fly-By)
อย่างไรก็ตาม 2024 YR04 มีโอกาส 4% ที่จะชนเข้ากับดวงจันทร์ของโลกแทนในปี 2032 นักดาราศาสตร์ระบุว่าความน่าจะเป็นนี้ค่อนข้างที่จะแม่นยำ และน่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าดาวเคราะห์น้อยจะเข้าใกล้โลกมากขึ้นในช่วงปี 2028 ซึ่งจะทำให้อยู่ในระยะที่นักดาราศาสตร์สามารถเก็บข้อมูลวงโคจรได้เพิ่มเติม
ในเรื่องของการเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อย องค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป (ESA) ได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า เหตุใดเราจึงไม่สามารถตรวจจับ 2024 YR4 ได้เร็วกว่านี้ การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า 2024 YR4 นั้นวิ่งเข้าหาโลกจากฝั่งดวงอาทิตย์หรือฝั่งกลางวันของโลก ทำให้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินโดยเฉพาะกล้องในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ ไม่สามารถตรวจจับดาวเคราะห์น้อยที่กำลังพุ่งเข้าหาโลกได้ เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์นั้นกลบแสงที่สะท้อนจากดาวเคราะห์น้อย ทำให้เกิดจุดบอดบนท้องฟ้า
กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 2013 ดาวเคราะห์น้อย Chelyabinsk ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเหนือเทือกเขาอูราลในรัสเซียในตอนกลางวัน แรงจากการตกของดาวเคราะห์น้อยสร้างความเสียหายให้กับตึกกว่าพันตึก แรงกระแทกจากการตก ทำให้กระจกในบริเวณใกล้เคียงแตกทั้งหมด และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,500 คน
ESA ระบุว่าดาวเทียมเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ NEOMIR (Near-Earth Object Mission in the InfraRed) ซึ่งมีแผนจะปล่อยในช่วงปี 2030 เป็นต้นไป จะช่วยให้เราสามารถตรวจจับดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ในจุดบอดของกล้องภาคพื้นดินได้ กล้องในช่วงคลื่นอินฟราเรดทำให้ NEOMIR สามารถตรวจหาดาวเคราะห์น้อยในระยะใกล้โลกได้จากการหาร่องรอยความร้อนของดาวเคราะห์น้อย
จากการจำลองพบว่า NEOMIR น่าจะสามารถตรวจจับดาวเคราะห์น้อยในจุดบอดของกล้องภาคพื้นได้ล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน
เรียบเรียงโดย
Chottiwatt Jittprasong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech