เรื่องของชายจอมงก ผู้ไม่เป็นที่ต้อนรับของนรกและสวรรค์


ประวัติศาสตร์

31 ต.ค. 65

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

Logo Thai PBS
เรื่องของชายจอมงก ผู้ไม่เป็นที่ต้อนรับของนรกและสวรรค์

สัญลักษณ์ที่คุ้นหน้าคุ้นตาในเทศกาลฮาโลวีน คงหนีไม่พ้นโคมไฟฟักทองสีส้ม แกะสลักเป็นใบหน้าสุดหลอน โคมไฟนี้มีชื่อเรียกว่า “แจ็ก-โอ-แลนเทิร์น”

ถ้าหากจะทำความรู้จักกับ แจ็ก-โอ-แลนเทิร์น คงต้องย้อนไปเล่าถึงตำนานเก่าแก่ของไอร์แลนด์ เป็นเรื่องของ แจ๊ก ชายจอมงก ที่แม้แต่นรกยังไม่ต้อนรับ เขาเป็นชายชาวไอริชที่มีนิสัยตระหนี่ถี่เหนียว พร้อมทั้งยังเจ้าเล่ห์ วันหนึ่งเขาได้เชิญเหล่าปีศาจมาร่วมกินดื่มด้วยกัน แต่เขาเกิดไม่อยากจ่ายเงินค่าอาหาร จึงออกอุบายให้ปีศาจแปลงร่างเป็นเงิน และเมื่อปีศาจทำเช่นนั้น แจ๊กกลับเก็บเงินปีศาจแปลงเข้ากระเป๋าซึ่งมีกางเขนสะกดปีศาจไม่ให้กลับคืนร่างได้

แต่ที่สุดแล้ว แจ๊ก ก็จะปลดปล่อยปีศาจให้เป็นอิสระ ภายใต้ข้อตกลงว่า ปีศาจจะต้องไม่แก้แค้นเขาเป็นเวลา 1 ปี และถ้าหากเขาตาย ปีศาจจะต้องไม่รับวิญญาณเขาไป  

วีรกรรมของแจ๊กยังไม่จบแค่นั้น เมื่อถึงปีถัดไป แจ๊ก ก็ออกอุบายกลั่นแกล้งปีศาจอีก เขาหลอกให้ปีศาจปีนต้นไม้เพื่อเก็บผลไม้ เมื่อปีศาจปีนขึ้น แจ๊กจอมวายร้ายก็จัดการสลักเปลือกไม้เป็นรูปกางเขน ทำให้ปีศาจปีนกลับลงมาไม่ได้ จนกว่าปีศาจจะสัญญา ว่าจะไม่แก้แค้นเขา เป็นเวลา 10 ปี ปีศาจจึงจำต้องตกลง

อย่างไรก็ตาม ปีศาจก็ไม่ต้องถือคำสัญญาไว้นานนัก เพราะหลังจากนั้นไม่นาน แจ๊กก็เสียชีวิต และด้วยวีรกรรมอันร้ายกาจ เขาจึงขึ้นสวรรค์ไม่ได้ ครั้นจะไปทางนรก ปีศาจผู้ซึ่งเจ็บแค้นแจ๊ก ก็ไม่ต้อนรับเขาเข้าสู่นรกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปีศาจไม่รับวิญญาณของแจ๊กตามข้อตกลงที่เคยทำไว้ จึงได้แต่ส่งวิญาณแจ๊กไปยังโลกมนุษย์ในสถานที่อันเวิ้งว้างว่างเปล่า พร้อมถ่านหินส่องแสงริบหรี่ 1 ก้อน แจ๊กจึงได้นำถ่านก้อนนั้น ใส่ลงในหัวผักกาดแกะสลัก นำมาใช้ต่างตะเกียงส่องทาง เร่ร่อนอยู่ในเมืองมนุษย์อย่างไร้จุดหมายเรื่อยมา

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อถึงวันฮาโลวีน หรือวันปล่อยผี แจ๊กก็จะปรากฏตัวออกมาพบผู้คนในเมือง พร้อมกับโคมไฟผักแกะสลัก ชาวไอริชได้ขนานนามให้แจ๊กว่าเป็น “Jack of the lantern” หรือ “Jack O’Lantern” เป็นที่มาของชื่อโคมไฟประจำเทศกาลฮาโลวีนที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

ดังนั้นในเทศกาลฮาโลวีน ชาวเมืองจึงนำผักมาแกะสลักทำโคมไฟ Jack O’Lantern เพื่อป้องกันวิญญาณของแจ๊ก นอกจากนี้ชาวไอริชยังมีความเชื่อกันว่าหากนำโคมไฟนี้ไปตั้งไว้ที่ประตู-หน้าต่าง จะสามารถปัดเป่าวิญญาณร้ายได้ โดยตามธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวไอริช โคมไฟฮาโลวีนจะทำจากหัวเทอร์นิป แต่ต่อมาเมื่อเทศกาลฮาโลวีนเข้ามาสู่อเมริกา ชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนจากเทอร์นิปมาใช้ผลฟักทองแทน ก็ด้วยเหตุผลว่าเป็นพืชที่หาได้ง่ายในสหรัฐอเมริกานั่นเอง   

ข้อมูล : www.history.com

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์
ผู้เขียน: เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์ สื่อดิจิทัล

บทความ NOW แนะนำ