“เจ้าชายน้อย” เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องเยี่ยม จากปลายปากกาของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี นักเขียนและนักบินชาวฝรั่งเศส โดยในแวดวงนักอ่านว่ากันว่า หากคุณอ่านเจ้าชายน้อยในช่วงวัยที่ต่างกัน มุมมองที่มีต่อเรื่องราวนั้น ก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยหนังสือเล่มนี้ เป็นที่จดจำด้วยประโยคทองที่กินใจนักอ่านเสมอมา อย่างเช่น 5 ประโยคประทับใจต่อไปนี้
คนเรานั้นอาจจะซื่อตรงต่อหน้าที่ และเกียจคร้าน
ได้ในเวลาเดียวกัน
ประโยคนี้ตรงตัวสุด ๆ เพราะแม้ว่าจะได้งานที่มีแพชชันแค่ไหน คนเราก็ย่อมต้องเหนื่อยล้า และต้องการการพักผ่อนเหมือนกัน การทำงานหนักโดยไม่ได้พักผ่อนสุดท้ายก็จะนำพาความเกียจคร้านมาให้ ดังนั้น เราต้องรักษาความสดชื่นของตัวเองให้ดี ถึงจะมีแรงสู้งาน
เจ้าชายน้อยหน้าแดงอีก เขาไม่เคยตอบคำถามใดเลย
แต่เมื่อคนเราหน้าแดง ก็หมายความว่า "ใช่" มิใช่หรือ?
บางครั้งบางเหตุการณ์เราสามารถพูดออกมาว่า “ใช่” ได้โดยง่าย แต่บางเหตุการณ์ที่ไม่อาจพูดออกมาได้ แต่ภาษากายบางประการ ก็บ่งบอกคำตอบออกมาอยู่ดี ซึ่งภาษากายที่บอกชัดที่สุดก็คือ ใบหน้าของคนเรานั่นเอง ประโยคนี้ คือความคิดของนักบินที่พยายามสอบถามความหลังของเจ้าชายน้อย ซึ่งเขาก็พอเข้าใจเรื่องราวได้เองแม้เจ้าชายน้อยจะไม่ตอบ เพราะเขาเอาแต่หน้าแดง
เราเสี่ยงต่อการร้องไห้เมื่อเราปล่อยตัวให้สร้างความสัมพันธ์ขึ้นมา...
เราคงไม่เสียน้ำตาให้กับคนทั่วไปที่เราไม่ได้สนใจในชีวิตจริงไหมคะ มีแต่คนที่สำคัญกับความรู้สึกของเราเท่านั้น ที่ทำให้เราร้องไห้ออกมาได้ (จริงที่บางที ซีรีส์เกาหลีก็ทำได้ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า เราผูกพันกับตัวละครในเรื่องไปแล้ว จริงไหมล่ะคะ) ประโยคนี้เป็นความคิดของนักบินที่นึกพะวงว่าเขาจะต้องจากลากับเจ้าชายน้อยในวันรุ่งขึ้น
คนเราจะตัดสินตัวเองได้ยากกว่าตัดสินผู้อื่น ถ้าเจ้าตัดสินตัวเจ้าเองได้เป็นผลสำเร็จดีละก็ นับว่าเจ้าเป็นปราชญ์โดยแท้คนหนึ่งทีเดียว
เป็นคำพูดของพระราชาจากดาวดวงหนึ่งที่พยายามโน้มน้าวให้เจ้าชายน้อยรับราชการกับเขา พระราชาพูดถูกทีเดียวเพราะในชีวิตเรานั้นมักจะมองเห็นคนอื่นว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่บางที เราอาจมองไม่เห็นตัวเองเลยก็ได้
เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา
ปิดท้ายด้วยประโยคทองที่เป็นที่รู้จักที่สุดจากหนังสือเล่มนี้ เป็นคำพูดจากสุนัขจิ้งจอกที่ทิ้งท้ายไว้ให้เจ้าชายน้อยก่อนที่พวกเขาจะจากลากัน ประโยคนี้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของเจ้าชายน้อย สุนัขจิ้งจอก และดอกกุหลาบ ที่ภายใต้ความ “พิเศษ” ที่พวกเขามีให้กันและกันนั้น สิ่งสำคัญคือสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างการใช้เวลาสานความสัมพันธ์ ที่ร้อยเรียงพันผูกคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกัน ให้กลายเป็นคนพิเศษของกันและกันได้ในที่สุด

อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ผู้เขียนนั้น เป็นนักบินในฝูงบินของกองกำลังฝรั่งเศส โดยในเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 อองตวนได้ออกบินลาดตระเวนเหนือดินแดนฝรั่งเศสแถบเมืองเกรอนอเบลอะ และไม่กลับมาอีกเลย เขาหายสาบสูญอย่างเป็นปริศนาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 ชาวประมงชื่อ ช็อง คล็อต เบียงโก ก็พบกำไลมือที่สลักชื่อของเขา ติดอวนขึ้นมา ที่นอกชายฝั่งเมืองมาร์แซย์ นั่นคือเบาะแสการสูญหายชิ้นแรก ต่อมาในระหว่างปี 2543- 2546 มีการพบซากเครื่องบินรบที่แซงเตก-ซูเปรี บินออกไปในภารกิจสุดท้าย
และปริศนาการสูญหายของแซงเต็ก ซูเปรี ก็กระจ่างอย่างสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 หนังสือพิมพ์หลายฉบับพบเอกสารเกี่ยวกับภารกิจของนักเขียนคนดังในวันที่เขาสาบสูญ และได้รับข้อมูลจากอดีตนักบินรบเยอรมัน ผู้ที่ทราบสาเหตุการหายสาบสูญของแซงเตก-ซูเปรีเป็นอย่างดี เพราะเขา คือผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ออกบินเพื่อปกป้องประเทศ และเป็นคนยิงเครื่องบินรบลำนั้น จนตกลงไปในทะเลต่อหน้าต่อตาเขาเอง นักบินผู้นั้นคือ Horst Rippert ชายผู้เคยเป็นนักข่าวที่ชื่นชอบชื่นชมผลงานของแซงเตก-ซูเปรี เขาเก็บข้อมูลและความเสียใจนี้มาถึง 64 ปี โดยได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า “ถ้าผมรู้ ผมจะไม่มีวันยิงเขา”
ถือได้ว่า การเสียชีวิตของแซงเตก-ซูเปรี เกิดขึ้นในระหว่างภารกิจปกป้องประเทศ เขาสมควรได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ แต่ในขณะเดียวกัน การสูญเสียในครั้งนี้ ก็เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสงคราม ที่สร้างแผลใจให้กับทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน
ข้อมูล : หนังสือ เจ้าชายน้อย