ในวงการเพลงไทย หนึ่งในแนวดนตรีที่มีเอกลักษณ์ทางด้านภาษา และยังมีเสน่ห์ในแบบที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังสื่อสารถึงความเป็นตัวตนของภูมิภาคตัวเองได้ชัดเจนมากที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือ “เพลงลูกทุ่งภาคใต้”
ในรายการ นักผจญเพลง Replay ได้มีโอกาสต้อนรับ 2 ศิลปินชั้นนำ ที่เรียกได้ว่าเสมือนเป็นตัวแทนจากนักร้องลูกทุ่งของภาคใต้ได้อย่างแท้จริง นั่นคือ "บ่าววี" และ "บิว กัลยาณี" เชื่อว่าแฟนเพลงต้องคิดถึงเรื่องราวของพวกเขาอย่างแน่นอน
เอกลักษณ์ที่ทำให้ลูกทุ่งภาคใต้ ไม่เหมือนดนตรีภาคอื่น
ศิลปินลูกทุ่งจากภาคใต้อย่าง บ่าววี และ บิว กัลยาณี ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในรายการนักผจญเพลง Replay ให้ฟังว่า ในอดีตนั้นเพลงลูกทุ่งภาคใต้ยังไม่ได้มีชื่อเสียงข้ามไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งบ่าววีเล่าว่า ในช่วงแรกมีหลายคนที่เข้าใจว่าเขาคือผู้ประเดิมเพลงแนวนี้ แต่จริง ๆ แล้วมีหลายศิลปินที่ทำผลงานมาก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็น พายุ สุริยัน, สุดรัก อักษรทอง รวมไปถึง สัญญา ธานี
แต่เนื่องจากเพลงในภาคใต้มีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนยังเข้าไม่ถึงกับเพลงลูกทุ่งในสไตล์ดังกล่าว เมื่อบ่าววีมีอัลบั้มเพลงออกมา เขาก็ยังคงมีความกังวลใจว่า คนฟังจะเปิดรับกับแนวเพลงที่เป็นสไตล์เช่นนี้ไหม แต่สุดท้ายผลงานของเขาที่มีเนื้อหาที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ทำให้ทุกคนก็เปิดรับ และได้รับความนิยมในหมู่คนฟังเป็นอย่างมาก
บ่าววีได้เล่าเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งภาคใต้เอาไว้ว่า เป็นเพลงที่มีการใช้ภาษา รวมไปถึงมีทำนองที่เป็นเสียงปี่ และ เสียงกลองมโนราห์ เครื่องดนตรีที่แสดงความเป็นภาคใต้อย่างชัดเจน ขณะที่ บิว กัลยาณี ได้แสดงเอกลักษณ์การร้องเพลงลูกทุ่งภาคใต้ให้ผู้ชมได้ฟัง ซึ่งเป็นเทคนิคการร้องที่มีกลิ่นอายเฉพาะตัว ในแบบเพลงจากประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากลูกทุ่งภาคใต้แล้ว เพลงแนวอื่น ๆ ในประเทศไทยจะไม่ได้มีสำเนียงการร้องแบบนี้
ส่วนในด้านเนื้อหา บ่าววีเล่าว่า เพลงลูกทุ่งภาคใต้ มักมีการพูดถึงการจากถิ่นฐาน แต่จะมีองค์ประกอบเกี่ยวกับบ้านเกิดของตนเองมาแฝงอยู่ในเพลง เช่น การจากลาทะเล หรือสวนยาง ที่เราเติบโตมา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ภาคใต้ แล้วมีเหตุจำเป็นให้ต้องเดินทางไกลจากถิ่นฐาน เช่น เดินทางมาทำงานหาเลี้ยงชีพในกรุงเทพ เป็นต้น
บิว กัลยาณี จากลูกทุ่งภาคกลาง สู่การเป็น ลูกทุ่งภาคใต้
นอกจากเอกลักษณ์ของดนตรีลูกทุ่งภาคใต้ บิวก็ได้เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจว่า ในวันที่อัดเพลง “โนบรา โนราห์” เธอถูกแนะนำให้ร้องเพลงลูกทุ่ง แต่ต้องร้องในแบบที่ใส่สำเนียงเพื่อชีวิตเข้าไป เพราะเดิมทีเธอร้องเพลงลูกทุ่งภาคกลาง และชื่นชอบผลงานของราชินีลูกทุ่งอย่าง “พุ่มพวง ดวงจันทร์”
โดยก้าวแรกของการเป็นศิลปิน เธอเริ่มจากสมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเธอได้เข้าประกวดร้องเพลงระดับมหาวิทยาลัย ก่อนจะได้รับโอกาสให้ส่งเดโมมายังค่ายเพลง โดยสิ่งที่ทำให้บิวหันมาทำเพลงลูกทุ่งภาคใต้ มาจากภาพลักษณ์การเป็นสาวใต้ที่ต้องแข็งแรงและไม่ยอมใคร ซึ่งภาพลักษณ์ตรงนั้นไปตรงกับเพลง “โนบรา โนราห์” ผลงานที่สะท้อนความเป็น “บิว กัลยาณี” ได้อย่างชัดเจน
พอได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ก็ต้องขอชื่นชมต้นสังกัดของเธอ รวมไปถึงทีมงานเบื้องหลังในส่วนต่าง ๆ ที่สามารถดึงคาแรกเตอร์ในตัวตนของเธอออกมาได้ ซึ่งแม้ว่าประสบการณ์ทางดนตรีของเธอในตอนแรก จะยังไกลตัวจากแนวดนตรีลูกทุ่งภาคใต้ไปมาก
บิวได้ทิ้งท้ายเรื่องการเปลี่ยนนี้เอาไว้ว่า จริง ๆ แล้วการปรับตัวมาร้องเพลงภาคใต้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพื้นฐานความเป็นลูกทุ่งที่มีอยู่ ทำให้เธอสามารถปรับสำเนียงบางส่วน และใช้วิธีการร้องแบบเพื่อชีวิตเข้ามาผสมผสาน ทำให้ผลงานเพลงของเธอเป็นเพลงลูกทุ่งภาคใต้ที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร
นอกจากเรื่องการทำเพลงแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายในตอนเป็นศิลปินของบิว กัลยาณี ที่ทำให้เธอต้องเจอกับความลำบาก นั่นคือเหตุการณ์ที่เธอประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนรับมือไม่ได้ การปรับตัวในช่วงแรก นับว่าไม่ง่ายสำหรับการพลิกจากคนธรรมดาสู่การเป็นนักร้องดังในชั่วข้ามคืน แต่สุดท้ายเธอก็หาจุดตรงกลางเจอ และพร้อมที่จะสู้กับความท้าทายต่าง ๆ ต่อไป
วิธีรักษาวัฒนธรรมภาคใต้ในมุมของ บ่าววี และ บิว กัลยาณี
ทั้ง 2 ศิลปินลูกทุ่งภาคใต้อย่าง บ่าววี และ บิว กัลยาณี ได้เผยมุมมองในเรื่องของการรักษาวัฒนธรรมของเพลงลูกทุ่งภาคใต้เอาไว้ว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนภาคใต้ ที่พวกเขาได้เป็นตัวแทนในการสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ ให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อไป ซึ่งหากมองวงการเพลงตอนนี้ เราจะได้เห็นศิลปินภาคใต้รุ่นใหม่ ๆ ทั้งที่อยู่ค่ายใหญ่ และค่ายท้องถิ่น ล้วนออกมาทำผลงานกันอย่างแพร่หลาย นี่เป็นสิ่งที่ศิลปินลูกทุ่งภาคใต้ทั้ง 2 คนคาดหวัง และในวันนี้ฝันเหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้วในวงการเพลงบ้านเรา
สรุป
อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสกับเสียงเพลงลูกทุ่งภาคใต้ เพราะจะมีทั้งเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ปี่ และกลองมโนราห์ รวมถึงความเป็นอาหรับในสำเนียง ทั้งในส่วนของการร้อง และดนตรีภาพรวม ขณะเดียวกันยังมีการบอกเล่าวิถีชีวิตของคนภาคใต้ในเนื้อเพลงอีกด้วย ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้พอได้มารวมกัน ยิ่งทำให้เสน่ห์ดนตรีภาคใต้ สามารถข้ามไปมัดใจคนทั่วไทยได้เป็นอย่างดี