ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย เพียงพอหรือไม่กับค่าครองชีพ ?


Insight

1 พ.ค. 68

คมสัน ประมูลมาก

Logo Thai PBS
แชร์

ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย เพียงพอหรือไม่กับค่าครองชีพ ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2636

ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย เพียงพอหรือไม่กับค่าครองชีพ ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

วันเวลาหมุนเวียนมาถึงวันที่ 1 พฤษภา วันแรงงานแห่งชาติเมื่อใด สิ่งที่มักจะพูดถึงอยู่เป็นประจำก็คือค่าแรงขั้นต่ำ โดยมักจะถูกบอกเล่าผ่านเสียงสะท้อนของผู้ใช้แรงงานที่ต้องแบกรับค่าแรงที่ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเสียงสะท้อนจากนายจ้างบางส่วนที่มองว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นเพียงพออยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงมีแต่จะสร้างปัญหาให้กับนายจ้าง จนแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ไหว 

ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยมีการทยอยปรับขึ้นอยู่เป็นประจำทุกปี

ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่กี่บาท ?

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยต่ำสุดอยู่ที่ 337 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 400 บาท ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของประเทศมีอัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละจังหวัด เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนาดอุตสาหกรรม และความจำเป็นในการใช้แรงงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นถูกปรับขึ้นอยู่เป็นประจำเกือบทุกปี สืบเนื่องมาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอัตราการปรับขึ้นในรอบ 20 ปีนั้นที่ผ่านมานั้น อาจสะท้อนภาพรวมบางอย่างของเศรษฐกิจไทยได้เช่นเดียวกัน

ปี 2548 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 170 บาท
ปี 2558 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 300 บาท
- ภาพรวม 10 ปี (2548-2558) ปรับขึ้น 76% -

ปี 2558 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 300 บาท
ปี 2568 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 400 บาท
- ภาพรวม 10 ปี (2558-2568) ปรับขึ้น 33% -

ค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกัน

จากตัวเลขดังกล่าวอาจอนุมานได้ว่าในช่วง 10 ปีแรก (2548-2558) สภาพเศรษฐกิจน่าจะดีกว่า 10 ปีหลัง (2558-2568) ทำให้เปอร์เซ็นในการปรับขึ้นค่าแรงสูงกว่า เป็นการปรับขึ้นมาเกือบเท่าตัว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สามารถมองได้ว่าค่าครองชีพมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าแรงต้องปรับขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

เสียงสะท้อนจากผู้ใช้แรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

ไม่ว่าในยุคสมัยใด เศรษฐกิจเป็นเช่นไร เราก็มักจะเห็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานออกมาทำการประท้วงเรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ การเรียกร้องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำแสดงให้เห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับนั้นยังคงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าในมุมมองของผู้ใช้แรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพเปรียบได้กับเส้นขนานที่จะไม่มีวันบรรจบกัน เพราะแค่ค่าอาหารก็กินเม็ดเงินที่ได้รับในแต่ละเดือนไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว

สหภาพแรงงานนัดรวมตัวกัน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2567

ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 400 บาท ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ รายรับ 9,000 บาท/เดือน
ค่าอาหารเฉลี่ยมื้อละ 40 บาท 3 มื้อ/วัน รวมค่าอาหาร 3,600 บาท/เดือน
- ภาพรวมค่าอาหาร/เดือน ใช้เงินเดือนไปแล้ว 40% -

เห็นตัวเลขแล้วก็น่าจะคิดเห็นตรงกันว่า จำนวนเงินที่เหลือจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายได้อย่างไร ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายจิปาทะ รวมไปถึงเงินที่ต้องส่งกลับไปช่วยเหลือทางบ้าน ไม่มีทางที่จะเพียงพอได้เลย เงินเก็บยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะแค่การใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละเดือนยังเป็นเรื่องยาก สุดท้ายก็ไปจบลงทีการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ 

เสียงสะท้อนจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ค่าแรงขั้นต่ำที่แบกรับไม่ไหว

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ไม่ได้” ประโยคนี้น่าจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง ยิ่งในเวลาที่จะมีการประกาศขึ้นค่าแรงเหล่านายจ้างเจ้าของธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงก็จะออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมือนเป็นการโยนภาระมาที่นายจ้างให้แบกรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สร้างปัญหาให้มีมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีข้อจำกัดในการทำธุรกิจจากการขาดสภาพคล่อง และเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สร้างปัญหาให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • สายป่านการเงินสั้น เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมักมีเงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่าเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้มีความสามารถในการรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้จำกัด หากค่าแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถแบกรับภาระได้ในระยะยาว
  • กำไรต่อหน่วยต่ำ สินค้าจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีกำไรต่อหน่วยของสินค้าหรือบริการไม่สูงมากนัก การปรับขึ้นค่าแรงเพียงเล็กน้อยจึงอาจส่งผลกระทบต่อกำไรโดยรวมเป็นอย่างมาก
  • อำนาจในการต่อรองน้อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์และลูกค้าที่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้อื่นได้ง่ายนัก รวมไปถึงคอนเนกชันและประสบการณ์ในการทำธุรกิจก็ยังมีไม่มากพอ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทุกรายอยู่ไม่ได้ ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี จะต้องมีความสามารถในการปรับตัวรับมือกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือหรือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น การลดหย่อนภาษี การให้เงินอุดหนุน เพื่อผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

ค่าแรงไม่เพียงพอ ค่าจ้างที่แบกรับไม่ไหว หาทางออกอย่างไรดี

ถ้ายังจำกันได้หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ใช้ในการหาเสียงก็คือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ที่ 600 บาท ซึ่งจากในตอนนี้เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปีก็จะหมดสมัย และไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นค่าแรงน่าจะเกิดขึ้นอีกแน่ ๆ เพราะการขึ้นค่าแรงถือเป็นหนึ่งในการวัดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด อาจส่งผลดีต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

หาทางออก คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน

แต่ถึงอย่างไรก็ตามรัฐบาลควรพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน และผลกระทบต่อผู้ประกอบการให้ถี่ถ้วน อาจจะมีการส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานพัฒนาทักษะอาชีพ เพิ่มแต้มต่อในการจัดจ้างงานให้กับตนเอง ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาค่าแรงได้ในระยะยาว ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงอาจจะมีการพิจารณาปรับขึ้นตามประเภทธุรกิจ ขนาดธุรกิจ และสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ทุกฝ่ายต้องเปิดใจพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เพราะการแก้ไขปัญหาค่าแรงขั้นต่ำต้องอาศัยความร่วมมือในระยะยาว ถอยกันคนละก้าวดีกว่าก้าวไปถึงทางตัน นอกจากนี้ทางฝั่งรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ค่าแรงกับค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน

อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' จากเครือ Thai PBS

ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ค่าแรงขั้นต่ำ
คมสัน ประมูลมาก
ผู้เขียน: คมสัน ประมูลมาก

นักดื่มกาแฟที่เขียนบทความได้นิดหน่อย

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด