กลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 2025 ในการประชุมสัมมนาทางด้านอวกาศที่เมืองวูดแลนด์ส (Woodlands) เท็กซัส สหรัฐอเมริกา คณะวิศวกรอวกาศและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศในอินเดีย เสนอผลการศึกษาแผนความเป็นไปได้ของการส่งมนุษย์จำนวน 6 คน เดินทางไปสู่ดาวอังคารและดาวเคราะห์แคระซีรีส (Ceres) ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี 7 เดือน โดยแผนตามโครงการนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ภายในปี ค.ศ. 2035
“วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปติดตามความเป็นมาของโครงการนำมนุษย์สู่ดาวอังคารและดาวเคราะห์แคระซีรีส จากอินเดียไปดูความเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน ? เพราะอะไร ?
การสำรวจดาวอังคาร
ถึงปัจจุบัน ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงสำรวจ มากที่สุด !
เมื่อแรกเริ่มที่จะมีการสำรวจดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ ดาวศุกร์ เพราะ
* ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด
* ดาวศุกร์มีขนาดพอ ๆ กับโลก
* ดาวศุกร์ปกคลุมด้วยเมฆหนา ทำให้สะท้อนแสงได้มาก และปรากฏเป็นดาวเคราะห์สว่างที่สุดในท้องฟ้า อีกทั้งเมฆหนาทำให้เกิดจินตนาการว่า ดาวศุกร์เป็นโลกที่มีฝนชุ่มฉ่ำ มีชีวิตเกิดขึ้นได้ง่ายและน่าจะมีขนาดใหญ่คล้ายไดโนเสาร์
ดังนั้น เมื่อแรกเริ่มการสำรวจดาวเคราะห์ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเดิม จึงแข่งขันกันอย่างหนักในการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวศุกร์ ทั้งจากอวกาศรอบดาวศุกร์ และลงสู่พื้นผิวดาวศุกร์
แล้วก็ได้พบว่า ดาวศุกร์เป็นโลกที่พื้นผิวร้อนจัด มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 465 องศาเซลเซียส ไม่มีฝนตกบนพื้นผิว บรรยากาศของดาวศุกร์ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ถึงมากกว่า 96% และในบรรยากาศก็เต็มไปด้วยกรดซัลฟิวริกซึ่งทำให้ฝนบนดาวศุกร์เป็นฝนกรด อยู่ในบรรยากาศของดาวศุกร์เอง

โลกจึงหันความสนใจมาที่ดาวอังคาร และยิ่งต่อ ๆ มา ดาวอังคารก็เป็นเป้าหมายหลักของประเทศที่มีขีดความสามารถ ในการสำรวจอวกาศ เริ่มจากสหภาพโซเวียตเดิมหรือรัสเซียในปัจจุบัน และสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็มีหลายประเทศร่วมแข่งขันกันในการสำรวจดาวอังคาร
ถึงล่าสุด มีประเทศที่ร่วมเข้าสู่ลู่วิ่งสำหรับการสำรวจดาวอังคาร อย่างน้อยจำนวน 7 ประเทศ หรือกลุ่มประเทศ ที่ได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารแล้ว คือ รัสเซีย (สหภาพโซเวียตเดิม) สหรัฐอเมริกา อีซา (สหภาพยุโรป) ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และยูไนเต็ดอาหรับเอมิเรตส์
ยานไวกิง 1 และ ไวกิง 2 ของสหรัฐอเมริกาลงสู่พื้นผิวดาวอังคารเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1976 และเดือนกันยายน ค.ศ. 1976 ตามลำดับ เป็นยานลงสำรวจดาวอังคารที่ทำให้เราได้รับข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับดาวอังคาร และได้เห็นสภาพแวดล้อมโดยตรงของดาวอังคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพท้องฟ้าดาวอังคารสีแดงจัด เมื่อดวงอาทิตย์กำลังตกจาก ขอบฟ้า...
เป็นภาพจำอยู่กับผู้เขียนมานาน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และก็เป็นเหตุผลที่ครั้งหนึ่ง ในรายการโทรทัศน์ที่ไอทีวี มีคุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ สัมภาษณ์ผู้เขียนข่าวใหญ่การค้นพบหลักฐานว่า มีน้ำอยู่ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์
แล้วคุณสุทธิชัย หยุ่น ถามผู้เขียนว่า “อยากไปดวงจันทร์ไหม ?”
ผู้เขียนตอบว่า “อยาก...แต่อยากไปไกลกว่าดวงจันทร์อีก คือ ไปดาวอังคาร !”
คุณสุทธิชัย หยุ่น ถามว่า “ทำไม ?”
ผู้เขียนตอบว่า “อยากไปนั่งดูท้องฟ้าสีแดงจัดบนดาวอังคาร ตอนดวงอาทิตย์กำลังตกจากขอบฟ้าดาวอังคาร !”

มนุษย์สู่ดาวอังคาร
บนเวทีการแข่งขันส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร โดยไม่มีมนุษย์ไปด้วย มีแนวโน้มจะเข้มข้นและมีตัวเล่นมากขึ้น
แล้วบนเวทีการส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารล่ะ ?
จำนวนผู้เล่นก็ลดลงอย่างมากทีเดียว แต่ไปเพิ่มในเรื่องของความเข้มข้น เพราะการส่งมนุษย์ไปลงบนดาวอังคาร จะหมายถึงการแสดงพลังความก้าวหน้าด้านการบุกเบิกระบบสุริยะ และการแย่งชิงทรัพยากรแร่ธาตุบนดาวอังคาร
มาถึงปัจจุบัน ประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด สำหรับการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารคือ สหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารได้ในทศวรรษปี 2030 ตามแผนที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ก่อน กับโครงการอาร์เทมิส (Artemis) แล้วจึงจะส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
แต่ถึงต้นปี ค.ศ. 2025 องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผู้บริหารและนโยบายในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกตัดงบประมาณจากรัฐบาลใหม่ ที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025...
ซึ่งทุกอย่างจะกระจ่างชัดขึ้น หลังเดือนเมษายน ค.ศ. 2025 เมื่อนาซามีผู้อำนวยการคนใหม่อย่างเป็นทางการ
ประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการบุกเบิกระบบสุริยะอีกประเทศหนึ่ง คือ สหภาพโซเวียตเดิมหรือรัสเซียในปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้จะสะดุดกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1997 แต่ก็ฟื้นตัวด้านบุกเบิกอวกาศอย่างรวดเร็ว และมีการร่วมมือด้านอวกาศอย่างดีกับนาซาและอีซา จนกระทั่งมา “สะดุด” ด้วยผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน...
ทว่า รัสเซียก็ยังมีศักยภาพสูง ที่จะเดินหน้าต่อในการบุกเบิกระบบสุริยะ เพียงแต่สำหรับเรื่องเกี่ยวกับดาวอังคาร ขณะนี้ รัสเซียยังไม่มีแผนชัดเจนอย่างเป็นทางการ ในการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคาร
แล้วก็มีประเทศน้องใหม่มาแรง ที่กระโดดขึ้นเวที “ประกาศตัว” อย่างแข็งขันว่า มีเป้าหมายในการบุกเบิกระบบสุริยะ โดยการส่งมนุษย์ไปถึงดาวอังคารภายในปี ค.ศ. 2033 ก่อนสหรัฐอเมริกา
จากนี้ ก็มาถึงเรื่องของแผนความเป็นไปได้ของการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและดาวเคราะห์แคระซีรีส เสนอโดยคณะวิศวกรอินเดียนำเรื่องของเราวันนี้

การส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารและซีรีส
ถึงแม้อินเดียจะยังไม่มีแผนการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารอย่างเป็นทางการ แต่ความก้าวหน้าด้านอวกาศของอินเดียก็เป็นที่ประจักษ์ โดยได้ส่งยานไปลงสำรวจดวงจันทร์แล้ว และเป็นประเทศแรกของเอเชีย ที่ส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ
และก็เป็นที่ทราบกันว่า ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ที่มีความสามารถสูงในด้านต่าง ๆ มากมาย ทำงานการวิจัยและพัฒนา และเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทันสมัย อยู่ในประเทศอินเดีย และในประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ
สำหรับเรื่องการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและดาวเคราะห์แคระซีรีสที่เป็นเรื่องหลักของเราวันนี้ เป็นผลงานการศึกษาเชิงทฤษฎีของวิศวกรอินเดียในประเทศอินเดีย และเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทางด้านอวกาศ ที่ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนา แผนดำเนินงานที่คณะเชื่อว่า สามารถทำได้จริง ภายในอนาคตที่ไม่ไกลนัก ซึ่งถึงแม้จะมิใช่โครงการอย่างเป็นทางการของประเทศอินเดีย แต่ก็ได้รับความสนใจในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอวกาศ และการบุกเบิกอวกาศในระดับสูงทั่วโลก
เจ้าของแผนงานการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารและซีรีสในอนาคตไม่ไกลนักนี้ มี ราเมช กุมาร วี. (Ramesh Kumar V.) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Acceleron Aerospace Sciences Private Limited) มาลายา กุมาร บิสวาล เอ็ม. (Malaya Kumar Biswal M.) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Grahaa Space และ ราวิเตจา บีมาวาราปู (Ravitejar Bhemavarapu) วิศวกรอวกาศ แผนงานการศึกษาของพวกเขามีชื่อย่อว่า เอชยูซีไอทีเออาร์ (HUCITAR) จากชื่อเต็ม Human-Crewed Interplanetary Transport Architecture ซึ่งผู้เขียนขอแปลแบบถอดความเป็น “โครงสร้างระบบขนส่งมนุษย์ระหว่างดาวเคราะห์”

คณะวิศวกรอวกาศอินเดียได้ศึกษาเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ได้นำเสนอในงานการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับอวกาศ และตีพิมพ์ทางออนไลน์ในเว็บไซต์เกี่ยวกับอวกาศมาบ้างแล้ว
สำหรับผลงานการศึกษาล่าสุด คณะวิศวกรได้นำเสนอในการประชุมสัมมนาครั้งที่ 56 เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ (56TH Lunar And Planetary Science Conference) ระหว่างวันที่ 10-14 มีนาคม ค.ศ. 2025 ที่ เท็กซัส จัดโดย นาซา (NASA) และสถาบันดวงจันทร์และดาวเคราะห์ (Lunar and Planetary Institute)
สำหรับแผนโครงการนำมนุษย์เดินทางสู่ดาวอังคารและซีรีส หลักการและประเด็นใหญ่ของการศึกษา คือ
* ความพร้อมของเทคโนโลยีในการนำมนุษย์เดินทางไปสู่ดาวอังคารและดาวเคราะห์แคระซีรีส
* เส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงระหว่างดาวอังคารกับซีรีส
* ระบบการขับเคลื่อน ทั้งระบบขับเคลื่อนเชื้อเพลิงเคมี และนิวเคลียร์ โดยที่สำหรับการเดินทางครั้งแรก คาดว่า คงจะต้องอาศัยระบบขับเคลื่อนเคมี แต่ถ้าได้ใช้ระบบขับเคลื่อนนิวเคลียร์ ก็จะทำให้คณะผู้วางแผนมั่นใจยิ่งขึ้น
ตามแผนของคณะวิศวกรอินเดีย การเดินทางเที่ยวแรก จะมีมนุษย์เดินทางไปจำนวน 6 คน โดยแบ่งแผนการเดินทางเป็น 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก : จากโลกสู่ดาวอังคาร
มนุษย์อวกาศชุดแรก จำนวน 6 คน เดินทางออกจากโลกสู่ดาวอังคารเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2035 ใช้เวลาเดินทาง 192 ถึง 258 วัน (6.5 ถึง 8.5 เดือน) ถึงดาวอังคารภายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2036
ขั้นตอนที่ 2 : สำรวจพื้นผิวดาวอังคาร
มนุษย์อวกาศ 3 คน เดินทางลงสู่ดาวอังคารโดยยานแลนเดอร์ เพื่อสำรวจ ศึกษาดาวอังคาร และดำเนินการเพื่อการสร้างอาณานิคมถาวรของมนุษย์บนดาวอังคารต่อไป
ขั้นตอนที่ 3 : สู่ดาวเคราะห์แคระซีรีส
ยานอวกาศพร้อมมนุษย์สามคน เดินทางออกจากวิถีโคจรรอบดาวอังคารเดือนเมษายน ค.ศ. 2036 มุ่งสู่ดาวเคราะห์แคระซีรีส ใช้เวลาเดินทาง 574 วัน ถึงซีรีสเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2037 แล้วมนุษย์อวกาศทั้งสามคน เดินทางลงสำรวจซีรีสเป็นเวลา 46 วัน
ขั้นตอนที่ 4 : กลับโลก
เมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2038 มนุษย์อวกาศสามคน เดินทางจากซีรสกลับคืนสู่ดาวอังคาร โดยใช้เวลา 574 วัน รวมกับมนุษย์อีกสามคนที่ลงสำรวจดาวอังคาร แล้วก็เริ่มต้นเดินทางกลับโลกจากดาวอังคาร ภายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2039 ใช้เวลา 192-258 วัน สำหรับการเดินทางกลับโลก คาดว่า จะเดินทางกลับคืนสู่โลกภายในเดือนเมษายน ค.ศ. 2040
แผนการเดินทาง 4 ขั้นตอนดังกล่าวไปแล้ว เป็นแผนการเดินทางที่คณะวิศวกรอวกาศคัดเลือกว่า เหมาะสมที่สุด สำหรับเป้าหมายการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและซีรีสในอนาคตไม่ไกลนัก
นอกเหนือไปจากแผนตาม 4 ขั้นตอนที่กล่าวไปแล้ว คณะวิศวกรก็กล่าวถึงแผนการเดินทางที่เป็นไปได้อีกแผนหนึ่ง ไม่แตกต่างไปจากแผน 4 ขั้นตอนนั้นนัก คือ ก็ยังเป็นแผน 4 ขั้นตอนคล้ายกัน แต่จะเพิ่มเวลาการเดินทางและสำรวจ ซีรีส โดยให้มนุษย์อวกาศสามคน แยกจากอีกสามคนที่จะลงสู่ดาวอังคาร ตั้งแต่ก่อนจะถึงวิถีโคจรรอบดาวอังคาร นอกเหนือจากนั้น ก็ยังเป็นไปตามแผนหลัก 4 ขั้นตอน

แผนสู่ดาวอังคารและซีรีส จะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน ?
มี 3 ประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้อง
หนึ่ง : ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ ตำแหน่ง ของดาวอังคาร ดาวเคราะห์แคระซีรีส และโลก
ประเด็นเรื่องของเทคโนโลยีไม่มีปัญหา เพราะแผนที่คณะวิศวกรเสนอ เป็นแผนที่เจาะความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ในการนำมนุษย์ เดินทางจากโลก ถึงดาวอังคารและซีรีส แล้วก็เดินทางกลับมายังโลกเป็นสำคัญ
สำหรับเรื่องตำแหน่งของดาวอังคารและซีรีส ก็ไม่มีปัญหา เพราะมนุษย์ในปัจจุบัน มีข้อมูล ความรู้อย่างดี สำหรับสภาพและความเคลื่อนไหวของระบบสุริยะ มีคอมพิวเตอร์เป็นผู้ช่วยอย่างดี สามารถระบุตำแหน่งของวัตถุในระบบสุริยะล่วงหน้าได้เป็นร้อย ๆ ปี
สอง : องค์กรเจ้าภาพโครงการ
แผนเพื่อการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและซีรีส จะเกิดขึ้นได้จริง ต้องเป็น “โครงการอย่างเป็นทางการ” มีองค์กรระดับประเทศเป็นเจ้าภาพ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเทศอินเดีย ก็มี ไอเอสอาร์โอ (ISRO : Indian Space Research Organisation : องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย) อยู่แล้ว ซึ่งก็ได้สร้างผลงานการบุกเบิกอวกาศและระบบสุริยะของอินเดียได้อย่างดีเยี่ยม ภายในช่วงระยะเวลาการบุกเบิกอวกาศที่ไม่ยาวนานนัก
แต่ถึงขณะนี้ แผนโครงการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและซีรีส ยังเป็นแผนเชิงทฤษฎีของคณะวิศวกรอินเดียอยู่
สาม : ความพร้อมของตัวตนมนุษย์
สำหรับเรื่องตัวตนมนุษย์อวกาศที่จะเดินทางไกลถึงดาวอังคารและซีรีส มี 3 ประเด็นย่อยลงไป คือ
หนึ่ง : อารมณ์ ความรู้สึก ของคนจำนวน 6 คน ที่ต้องเดินทางไกลร่วมกัน ในที่แคบ ๆ เป็นเวลายาวนานหลายปี
สอง : อันตรายจากรังสีคอสมิก ทั้งจากดวงอาทิตย์และจากนอกระบบสุริยะ ที่มนุษย์อวกาศต้องเผชิญตลอดช่วงเวลาการเดินทางยาวนานหลายปีในอวกาศ
สาม : ผลต่อร่างกายจากการต้องใช้ชีวิตอยู่ในยานอวกาศที่มีความโน้มถ่วงต่ำ หรือไม่มีเลย เป็นเวลายาวนานหลายปี

ถึงขณะนี้ (เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2025) คณะวิศวกรอินเดีย ก็กำลังเดินหน้าศึกษาแผนการส่งมนุษย์สู่ดาวอังคารและซีรีสต่อ อย่างมุ่งมั่นด้วยความเชื่อมั่นว่า เป็นแผนที่ “เกิดขึ้นได้จริง” ถึงแม้จะยาก !
สำหรับผู้เขียน ถ้าจะให้ผู้เขียนประเมินความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ของแผนโครงการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและ ซีรีส ความคิดเห็นสรุปรวม คือ ผู้เขียนให้ “คะแนนบวก” ทั้ง 3 ประเด็น...
ที่จะได้คะแนนบวก “น้อยลงหน่อย” คือ ประเด็นเจ้าภาพโครงการ แต่มิใช่ว่า จะหาเจ้าภาพไม่ได้ เพราะอินเดียมี ไอเอสอาร์โอ ที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว แต่จะต้องใช้เวลาในการทำให้รัฐบาลอินเดีย อนุมัติโครงการและงบประมาณ (ก้อนใหญ่) ...
ส่วนประเด็นตัวตนมนุษย์ ผู้เขียนยอมรับว่า ก็เป็นปัญหาใหญ่ แต่จะไม่ใช่ “อุปสรรค” เลย เพราะ “จิตวิญญาณความเป็นนักสำรวจและความกล้าในการเผชิญกับความท้าทาย” ของมนุษย์ ไม่ว่าจะ “ยาก” หรือ “อันตราย” แค่ไหน !
นั่นคือ ถ้าแผนโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง และมีการประกาศรับอาสาสมัคร เพื่อรับการคัดเลือกและฝึกความพร้อม เพื่อการเดินทางสู่ดาวอังคารและซีรีสเมื่อไร ผู้เขียนเชื่อว่า จะมีผู้สมัครล้นหลาม !
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร ?
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech