นอกจาก ‘พฤษภาคม’ จะเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ก็ยังเป็นเดือนที่เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองครั้งสำคัญในฝรั่งเศสที่รู้จักกันในชื่อ ‘Mai 68’
ถ้าการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) เป็นจุดกำเนิดของระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศส (แม้ต่อมาจะมียุคจักรวรรดินิยมมาคั่นก็ตาม) การประท้วง Mai 68 ที่แปลตรงตัวว่า ‘พฤษภาคม ค.ศ. 1968’ (พ.ศ. 2511) นั้น ก็ผลักดันฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างแท้จริง และเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรก ๆ ที่ทั้งปัญญาชนและคนรากหญ้าร่วมกันขับเคลื่อนในฝรั่งเศส

จุดเริ่มต้นในรั้วมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส
การประท้วง Mai 68 ไม่ได้เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น แต่เป็นผลลัพธ์ที่ปะทุขึ้นมาจากปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาในโลกการศึกษา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยในปารีสขยายตัวจนต้องเปิดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่เพื่อรองรับนักศึกษาเพิ่ม แต่ระบบการบริหารงาน อำนาจเบ็ดเสร็จของบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระเบียบวินัยอันเคร่งครัดนั้น ก็บีบรัดชีวิตของนักศึกษามากขึ้นทุกวัน ๆ อีกทั้งเหล่านักศึกษาก็กลัวการตกงาน และบางคนเห็นว่า สถานศึกษาคือสถานที่ผลิตแรงงานป้อนโลกทุนนิยม

ดังนั้น กลุ่มนักศึกษาฝรั่งเศสจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเมือง พร้อมศึกษาแนวคิดซ้าย (จัด) มีการตั้งสมาคมนักศึกษาหัวก้าวหน้าต่าง ๆ คนหนุ่มสาวเหล่านี้ยังต่อต้านสงครามนอกประเทศฝรั่งเศส ทั้งสงครามเวียดนามและสงครามแอลจีเรีย นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษาต้องการอิสระภายในรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น ที่หอพักนักศึกษมหาวิทยาลัยนองแตร์ (Université Nanterre) นักศึกษาชาย-หญิงอยากจะไปมาหาสู่ระหว่างห้องพักได้ แต่กฎระเบียบของหอที่ “ล้าสมัย” นั้นก็ไม่อนุญาตให้นักศึกษาต่างเพศอยู่ปะปนกัน
วันที่ 22 มี.ค. 1968 นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมต่าง ๆ– ทั้งกฎระเบียบมหาวิทยาลัยและสงครามเวียดนาม – ถูกตำรวจควบคุมตัว จึงเกิดเป็น ‘การเคลื่อนไหว 22 มี.ค. (Mouvement du 22 mars)” ที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ Mai 68 ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา

จากกลุ่มนักศึกษาสู่ “มวลชน” ทั่วทั้งฝรั่งเศส
เมื่อนักศึกษาในสถาบันอื่น ๆ รอบกรุงปารีสรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนองแตร์ ก็เกิดความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ ทำให้พวกเขาออกมาลุกฮือ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว การเคลื่อนไหว Mai 68 ได้ยกระดับขึ้น
3 พ.ค. 1968 เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจในมหาวิทยาลัยซอร์บอน (Université Sorbonne) นักศึกษาราว 600 คนถูกจับกุมตัว จุดนี้เองที่ทำให้สถานการณ์เข้าสู่โหมด “ไฟลามทุ่ง” เพราะหลังจากนั้นไม่นาน คนหนุ่มสาวและกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็เข้ายึดซอร์บอนและ ‘การ์ติเยร์ลาแต็ง (Quartier Latin)’ ย่านสถานศึกษาเก่าแก่ใจกลางกรุงปารีส


ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ใช้แรงงานก็เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหว Mai 68 หากกลุ่มนักศึกษาไม่พอใจกฎเกณฑ์ในสถานศึกษาของตน กลุ่มผู้ใช้แรงงานก็เริ่ม “ทนไม่ไหว” กับลำดับชั้นและเผด็จการในที่ทำงาน สมาคมและเครือข่ายผู้ใช้แรงงานต่าง ๆ จึงรณรงค์ให้ประท้วงหยุดงานในวันที่ 13 พ.ค. 1968 เป็นเวลา 1 วันเพื่อสนับสนุนการประท้วงของนักศึกษา แต่กลับไม่จบลงแค่นั้น ในวันต่อ ๆ มา กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยึดโรงงานของตน เช่น โรงงานผลิตอากาศยานของ Sud-Aviation ในเมืองน็องส์ (Nantes) และโรงงานรถยนต์ของ Renault ในแคว้นนอร์มังดี (Normandie)


ภายในเวลาราว 2 สัปดาห์ จำนวนผู้ประท้วงหยุดงานก็พุ่งสูงถึง 7-10 ล้านคน ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็น “อัมพาต” ไปโดยปริยาย ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง นอกจากนี้ Mai 68 ได้กลายเป็นการประท้วงของคนหลากหลายชนชั้นและภูมิภาคอย่างแท้จริง แตกต่างจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อน ๆ หน้าที่มักจะกระจุกตัวระหว่างคนไม่กี่กลุ่มในกรุงปารีส

สังคมฝรั่งเศสจาก Mai 68 สู่ปัจจุบัน
ฝ่ายรัฐบาล – ภายใต้ยุคสมัยของประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) – เองก็พยายามหยุดกระแสการประท้วงระดับชาติ ช่วงปลายเดือน พ.ค. 1968 นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปงปีดู (Georges Pompidou) ได้จัดทำข้อตกลงเกรอเนล (Accords de Grenelle) ร่วมกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน เพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอีก 35 เปอร์เซ็นต์ พร้อมขึ้นเงินเดือนของพนักงานประจำขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ แต่กลุ่มผู้ใช้แรงงานก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

อย่างไรก็ดี จู่ ๆ ประธานาธิบดีเดอ โกล ก็เดินทางออกนอกประเทศ (เป็นเวลาสั้น ๆ) และกลับเข้าฝรั่งเศส พร้อมประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ของปีเดียวกัน ท้ายที่สุด เดอ โกล ก็ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีต่อ เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดอ โกล และผู้สนับสนุนของเขา (ที่เรียกกันว่ากลุ่ม “gaullistes”) เล่นกับกระแส “ความไม่สงบ” และทฤษฎีคอมมิวนิสต์ที่โยงไปถึงการประท้วง Mai 68

Mai 68 จบลงไปในเดือน มิ.ย. 1968 นักศึกษากลับไปมหาวิทยาลัย แรงงานกลับไปโรงงาน และชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดหลายด้าน เช่น นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างให้ดีขึ้น มีการผลักดันนโยบายสตรีนิยมในเวลาต่อมา (ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยนองแตร์) อีกทั้งกลุ่มนักศึกษาก็กล้าถกเถียงในห้องเรียนกันมากขึ้นและออกมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะจนถึงปัจจุบัน

แม้จะผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ แต่การประท้วง Mai 68 ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอทั้งในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสทั่วโลกไปจนถึงพ็อปคัลเจอร์ต่าง ๆ และสะท้อนให้เห็นถึง “esprit critique” หรือจิตวิญญาณแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ และ “fraternité” หรือความเป็นพี่เป็นน้อง ค่านิยมที่อยู่คู่สังคมฝรั่งเศสและสังคมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (francophone) มาถึงทุกวันนี้

อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับ ‘ประวัติศาสตร์รอบโลก’ ในหลากหลายมิติ จาก Thai PBS NOW
- “ความรัก” ที่ไม่ได้หอมหวานเสมอไปใน “ปรัชญาฝรั่งเศส”
- “พุทธในเยอรมนี” พุทธศาสนาที่ไปไกลกว่าการท่องจำ
- สงครามคองโก-รวันดา ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ซ้อนทับกับผลประโยชน์
- ‘โป๊ปฟรานซิส-โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16’ 2 พระสันตะปาปาแห่งยุคเปลี่ยนผ่าน
อ้างอิง
- Aljazeera, What the May 1968 revolts did and did not do
- CNRS News, 1968: a Turning Point in History?
- Franceinfo, Histoire : Mai 68 a commencé un 22 mars
- INA, Dans la rue et à la télé, à quoi ressemblait la France à l'arrêt du printemps 68
- Larousse, événements de mai 1968
- The New York Times, May 1968: A Month of Revolution Pushed France Into the Modern World
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now