องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล” หรือ “วันผู้สูญหายสากล” หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ “การอุ้มหาย” ด้วยตระหนักถึงความร้ายแรงอย่างยิ่ง ของการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญที่เกิดขึ้นทั่วโลก
การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือการอุ้มหาย คืออะไร ?
อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) หรือ “อนุสัญญา CED” ได้ให้ความหมาย “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” หรือ “การอุ้มหาย” คือ การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือ การลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคล
ซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าว ตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย
ยกตัวอย่างบุคคลสูญหายในไทย เช่น คดีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ในปี พ.ศ. 2547 มีพยานเห็นทนายสมชายครั้งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีชาย 4 คนลากเข้าไปในรถยนต์ จากนั้นไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย
และคดีบิลลี่-พอละจี ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพยานคดีชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย ในปี พ.ศ. 2557 บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว ด้วยข้อหาลักของป่า จากนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว ก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับ
รู้จัก พ.ร.บ.อุ้มหาย โทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 สาระสำคัญระบุถึง การซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่ว่าในสถานการณ์ใด
โดยกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคล กลุ่มบุคคล ควบคุมตัว หรือลักพาใครไป ทำให้คนนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะเหตุที่เราไม่ทราบชะตากรรมของคนนั้น โดยกฎหมาย (มาตรา 7) ให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าที่จะทราบชะตากรรม
อย่างเอาผิดการทรมานและอุ้มหาย มีโทษจำคุก 5-15 ปี หรือหากเหยื่อเสียชีวิต มีโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต
โดยสามี ภรรยา บุพการี หรือผู้ที่อยู่กินฉันสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียน ผู้อุปการะด้วย สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษ เสมือนเป็นผู้เสียหายเองได้
รู้หรือไม่ คนหายประสาน “ศูนย์คนหาย ไทยพีบีเอส” ช่วยตามหาได้
การถูกอุ้มหาย มีหลายสาเหตุ ทั้งคบชู้ เกลียด ฆ่าตัดตอน เป็นคดีความ ทั้งหมดนี้สามารถประสาน “ศูนย์คนหาย ไทยพีบีเอส” ให้ช่วยเหลือได้
ศูนย์คนหาย ไทยพีบีเอส เปิดให้ญาติพี่น้องแจ้ง เพื่อให้ช่วยประกาศหาคนหาย บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยส่งรายละเอียด-หลักฐานประกาศคนหาย ดังนี้
1. สำเนาใบแจ้งความ
2. รูปถ่ายของคนหายที่ชัดเจน
3. รายละเอียดคนหาย เช่น ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ (ถ้ามี), อายุ, รูปพรรณสัณฐาน, วัน-เวลา-สถานที่ที่หายตัวไป, ข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
4. รายละเอียดของผู้แจ้ง เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับที่ชัดเจน เป็นต้น
ส่งมาที่
• https://www.facebook.com/ThaiPBSMissingPerson
• ICON LINE OFFICAL @RongTookThaiPBS
• โทรศัพท์ 0-2790-2630-3, 0-2790-2111 ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. ติดต่อแอดมินบอย
ทั้งนี้ ทีมงานศูนย์คนหาย ไทยพีบีเอส จะติดต่อกลับ เพื่อตรวจสอบก่อนประกาศคนหาย
ที่มา : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และศูนย์คนหาย ไทยพีบีเอส
📖 อ่านหรือรับชมเพิ่มเติม :
• ครม.ดึง 4 มาตรา พ.ร.บ.ป้องกันทรมานฯ ออกไปถึง 1 ต.ค.อ้างรอซื้อกล้องติดตัว
• ตำรวจกับข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ (คลิป)
• ความจริงไม่ตาย : ฆาตกรรม บิลลี่ พอละจี (คลิป)
• ก(ล)างเมือง : ทนายสมชาย (คลิป)
• รอยร้าวในปาฏิหาริย์ ‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’