ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยังขาย "ปังชา" ได้ไหม ? ความต่างของ ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร-เครื่องหมายการค้า


ข่าวทั่วไป

1 ก.ย. 66

พิชญา ใจสุยะ

Logo Thai PBS
แชร์

ยังขาย "ปังชา" ได้ไหม ? ความต่างของ ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร-เครื่องหมายการค้า

https://www.thaipbs.or.th/now/content/278

ยังขาย "ปังชา" ได้ไหม ? ความต่างของ ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร-เครื่องหมายการค้า
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ปังชา” หรือเมนูขนมหวานน้ำแข็งไสใส่ขนมปังและชาไทย กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย ว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารจะสามารถใช้คำว่า "ปังชา" และขายเมนูนี้อยู่ได้หรือไม่ กรณีที่มีแบรนด์หนึ่งโพสต์ภาพสินค้า พร้อมระบุถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครอง รวมถึงไม่ให้ลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือนำชื่อไปใช้

#ThaiPBS ชวนไขข้อสงสัยคำว่า ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร-เครื่องหมายการค้า มีความแตกต่างกันอย่างไร ?

 

ลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ คือ ความคุ้มครองทางกฎหมายที่ให้แก่เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องจดทะเบียน งานสร้างสรรค์มี 9 ประเภท คือ

1. วรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์
2. นาฏกรรม เช่น งานที่เกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว รวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้
3. ศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ งานศิลปะประยุกต์ ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงาน
4. ดนตรีกรรม เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสานรวมถึงโน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
5. สิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง CD ที่บันทึกข้อมูลเสียง ทั้งนี้ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
6. โสตทัศนวัสดุ เช่น วีดีโอเทป VCD DVD แผ่นเลเซอร์ดิสก์ที่บันทึกข้อมูลประกอบด้วยลำดับของภาพหรือภาพและเสียงอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก
7. ภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์
8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น การกระจายเสียงวิทยุ การแพร่เสียง หรือภาพทางโทรทัศน์
9. งานอื่น ๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

 

สิทธิบัตร

สิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์-ออกแบบผลิตภัณฑ์ เจ้าของมีสิทธิผลิต-จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว มี 3 ประเภท คือ

1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ คือ การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่มีความซับซ้อน หรือแก้ปัญหาทางเทคนิค เช่น
- กระบวนการฆ่าเชื้อสเตอริไลซ์สำหรับอาหาร
- นมปราศจากแลคโตส

2. อนุสิทธิบัตร คือ การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่ไม่ซับซ้อนมาก หรือปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้น เช่น
- สูตรอาหารเจลสำหรับพกพา
- เครื่องผลิตน้ำแข็งไสแบบเกล็ดละเอียด

3. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ การคุ้มครองรูปร่าง ลวดลาย หรือสี เพื่ออุตสาหกรรม-หัตถกรรม เช่น
- รูปร่างขนมที่มีลักษณะพิเศษ
- ลวดลายกล่องบรรจุอาหาร

 

เครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสี หรือเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน เพื่อใช้แยกแยะแบรนด์ต่าง ๆ

โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ สามารถใช้คำว่า "ปังชา" หรือ "...ปัง...ชา..." กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยได้ แต่ไม่ควรใช้ฟอนต์ที่ทำให้นึกถึงแบรนด์นั้น ๆ รวมถึงไม่สามารถใช้ภาชนะเดียวกับแบรนด์ดังกล่าวได้ เนื่องจากจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้

 

ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

📖 อ่านเพิ่มเติม :  

เรียกร้อยล้าน! เจ้าของร้าน "ปังชา" เรียกร้องความเป็นธรรม
"ปังชา" จดลิขสิทธิ์ โซเชียลถาม "บิงซู - น้ำแข็งไสชาไทย" ขายต่อได้มั้ย ?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ปังชาคำศัพท์จากข่าวทรัพย์สินทางปัญญาร้านปังชาลิขสิทธิ์สิทธิบัตรเครื่องหมายการค้า
พิชญา ใจสุยะ
ผู้เขียน: พิชญา ใจสุยะ

อยากเกิดเป็นก้อนหิน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด