รู้จัก “แอนแทรกซ์” โรคร้ายในหน้าร้อน


Thai PBS Care

13 มี.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
รู้จัก “แอนแทรกซ์” โรคร้ายในหน้าร้อน

นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว หน้าร้อนยังพาเอาเหล่าบรรดา “โรคร้าย” ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มาด้วย หนึ่งในนั้นคือ “โรคแอนแทรกซ์” หลายคนคุ้นหูคุ้นตากับชื่อโรคนี้ Thai PBS ชวนมาทำความรู้จักกับ โรคแอนแทรกซ์ ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันความร้ายแรงจากโรคนี้ 

“โรคแอนแทรกซ์” คืออะไร ?

โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด อาทิ ช้าง เก้ง กวาง หรือสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร สุนัข แมว ที่สำคัญกว่านั้น เชื้อแอนแทรกซ์ สามารถติดต่อมาสู่คนได้

สัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ พาหะแพร่เชื้อแอนแทรกซ์มาสู่คน

อาการของโรคแอนแทรกซ์ ที่พึงสังเกต ?

ชาวบ้านเรียกโรคแอนแทรกซ์อีกอย่างว่า โรคกาลี โรคนี้มีมาแต่โบราณ สาเหตุของโรค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) หากเกิดขึ้นในสัตว์ มักพบว่ามีไข้สูง ไม่กินหญ้า มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด

บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำ ไม่แข็งตัว ซากสัตว์ที่ตายมีลักษณะนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้

กรณีที่ แอนแทรกซ์เกิดในคน หากเกิดบริเวณผิวหนัง จะเริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อ ตามมาด้วยเป็นตุ่มแดง และกลายเป็นตุ่มพองมีน้ำใส เมื่อเริ่มยุบ ตรงกลางจะมีลักษณะเป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ มีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 95 เป็นชนิดแผลที่ผิวหนัง

โรคแอนแทรกซ์ที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง

แต่หากเกิดโรคแอนแทรกซ์ ขึ้นบริเวณทางเดินหายใจ มักมีอาการไข้ ปวดเมื่อย หรือเจ็บหน้าอก รวมถึงหายใจมีเสียงดัง หายใจลำบาก เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ และทำให้เสียชีวิตได้

กรณีที่พบเชื้อในทางเดินอาหาร อาจเกิดในจุดใดจุดหนึ่งของลำไส้ และเกิดการอักเสบ รวมทั้งมีอาการบวมน้ำ โอกาสในการเสียชีวิตมักพบร่วมกับอาการเลือดเป็นพิษ จนเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด

สาเหตุของการติดเชื้อมาจากอะไร ?

อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา โดยแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง เกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล ส่วนแอนแทรกซ์ที่ทางเดินหายใจ เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่มีโรค ส่วนแอนแทรกซ์ในระบบทางเดินอาหาร มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ

พบโรคแอนแทรกซ์ได้มากในช่วงไหน ?

โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคที่พบมากในช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝน สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป

ใครที่ต้องระวังการติดโรคแอนแทรกซ์เป็นพิเศษ ?

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรคแอนแทรกซ์ คือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส ได้แก่

  • เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
  • ผู้ที่ทำงานในฟาร์มปศุสัตว์
  • คนแล่เนื้อ
  • สัตวแพทย์, สัตวบาล
  • เจ้าหน้าที่ตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ

หลักการง่าย ๆ เพื่อป้องกันการติดโรคแอนแทรกซ์

  • ควรระมัดระวังด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังของสัตว์ต่าง ๆ
  • ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงจนสุกดี
  • เมื่อมีสัตว์ตาย ควรจัดการอย่างระมัดระวังและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสมอ 
  • เมื่อสงสัยว่าสัตว์ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องที่
  • ไม่ควรเปิดชำแหละซากสัตว์ที่ตาย เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงทุกปี

ปัจจุบัน มีรายงานว่า ไม่พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในไทยมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ยังปรากฏข่าวที่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายนี้อยู่ โดยเฉพาะบริเวณใกล้ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การป้องกันในเรื่องสุขอนามัยเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพื่อไม่ให้โรคร้ายแรงนี้ระบาดในประเทศไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เตือน “โรคแอนแทรกซ์” พบ 3 ผู้ป่วยในลาว เหตุกินเนื้อวัว-ควายดิบ 

อ้างอิง
-โรคแอนแทรกซ์ 
-โรคแอนแทรกซ์ สมาคมติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 
-โรคแอนแทรกซ์ สถาบันสุขภาพสัตว์  

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โรคแอนแทรกซ์โรคติดต่อร้ายแรงโค กระบือโรคระบาด
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ