เปิดแผนรับมือฝุ่น PM 2.5 กทม.


Insight

10 พ.ย. 65

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
เปิดแผนรับมือฝุ่น PM 2.5 กทม.

นอกจากอากาศที่เย็นลงแล้ว หลายพื้นที่ของ กทม. เริ่มมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของ กทม. ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามหาเร่งหาวิธีแก้ปัญหา หนึ่งในนั้น คือ การจัดทำ "แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร"

 

ผู้ว่าฯ กทม. ใช้อำนาจสั่งการให้หยุดกิจกรรม หากค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 มคก./ลบ.ม.

แผนปฏิบัติการฯ แบ่งเป็น 4 ระดับตามปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ที่วัดได้ในขณะนั้น

ระดับที่ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. แนวทางการดำเนินงานเน้นให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วน เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กทม. ให้อยู่ในระดับปกติ

ระดับที่ 2 ค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 37.6 – 50 มคก./ลบ.ม. ในระดับนี้ให้ทุกหน่วยงานยกระดับมาตรการให้เข้มงวดขึ้น และผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

แต่หากค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 51 – 75 มคก./ลบ.ม. (ระดับ 3) หรือมีค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. (ระดับ 4 หรือระดับสูงสุด) และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ให้ผู้ว่าฯ กทม. บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อาจสั่งการให้หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เพื่อให้คุณภาพอากาศกลับสู่ภาวะปกติ

โดยกิจกรรมที่ผู้ว่าฯ กทม. สามารถใช้อำนาจสั่งการได้โดยตรง เช่น ให้ผู้รับเหมาหยุดการก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นเป็นบางช่วงเวลา รวมทั้งอาจออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
 

ขอความร่วมมือ "ทำงานที่บ้าน" ลดฝุ่นจากยานพาหนะ

การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่แหล่งกำเนิด เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ถูกกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการฯ โดยจากผลการวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีระบุว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. มาจาก 2 แหล่งใหญ่ ได้แก่ ยานพาหนะบนถนน 50% และจากโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดปริมณฑล รวมกว่า 5,000 แห่ง อีก 46%

ในส่วนการลดฝุ่น PM 2.5 จากยานพาหนะ แผนปฏิบัติการฯ ระบุว่า ในกรณีค่าฝุ่น PM 2.5 ยังอยู่ในระดับ 1 (ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จะเน้นการตรวจจับควันดำจากต้นตอ โดยกำหนดตั้งจุดตรวจสอบควันดำจากรถยนต์ใช้งานทุกประเภท จำนวน 14 จุดต่อวัน และเพิ่มเป็น 20 จุดต่อวัน หากค่าฝุ่นขึ้นไปอยู่ในระดับ 2 (37.6 – 50 มคก./ลบ.ม.)
 


แต่หากค่าฝุ่นพุ่งขึ้นไปที่ระดับ 3 (51 – 75 มคก./ลบ.ม.) เน้นลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน โดยผู้ว่าฯ กทม. สามารถประสานขอความร่วมมือ ทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนในการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ขอความร่วมมือให้พนักงานทั้งราชการและเอกชนทำงานจากที่บ้าน 60% เพื่อลดการเดินทางที่ก่อให้เกิดฝุ่นจากการจราจร และเพิ่มเป็น 100% หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับ 4

รวมทั้งการขยายพื้นที่ในการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ กทม. จากวงแหวนรัชดาภิเษกไปเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก โดยอาจยกเว้นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าหรือผู้โดยสารที่ใช้รถบรรทุกไฟฟ้าหรือรถบรรทุกขนาดเล็ก (Pick Up) ไฟฟ้า

ส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรม แผนปฏิบัติการฯ ระบุว่า ในช่วงเดือน ต.ค. 2565 - มี.ค. 2566 จะดำเนินการตรวจอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้งต่อเดือน ในกิจการในเขตพื้นที่ กทม. ดังนี้ กิจการผสมซีเมนต์ 139 แห่ง, กิจการหลอมโลหะ 112 แห่ง, กิจการอู่พ่นสีรถยนต์ 945 แห่ง, กิจการผลิตธูป 9 แห่ง และกิจการประดิษฐ์หินเป็นของใช้ 17 แห่ง

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะกำหนดแผนและออกปฏิบัติงานตรวจโรงงานในพื้นที่ กทม. ถ้าเกินมาตรฐานจะมีคำสั่งให้แก้ไขภายในเวลาที่กำหนด หากปรับปรุงแก้ไขแล้ว ค่ามลพิษทางอากาศยังไม่ผ่านมาตรฐาน จะออกคำสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
 

เปิดห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ป้องกันผลกระทบต่อเด็ก

ส่วนการดูแลเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าผู้ใหญ่ กทม. ก็วางระบบการแจ้งเตือนผ่าน "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" โดยจะมีการติดตั้ง "เครื่องวัดฝุ่น" ในโรงเรียน
 


หลักการทำงานของเครื่องนี้ คือ เมื่อเครื่องวัดค่าฝุ่นแล้ว จะโชว์ตัวเลขบนหน้าปัด จากนั้นก็จะนำ "ธงสุขภาพ" หรือธงสีต่าง ๆ ที่แจ้งเตือนระดับคุณภาพอากาศที่วัดได้ในขณะนั้น ไปปักไว้ด้านหน้าโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รู้ค่าฝุ่นและป้องกันตนเองก่อน เช่น อาจเข้าไปอยู่ในห้องปลอดฝุ่น
 

  • สีฟ้า ระหว่าง 0 – 25 มคก./ลบ.ม. สามารถปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ
  • สีเขียว ระหว่าง 26 – 37 มคก./ลบ.ม. ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
  • สีเหลือง ระหว่าง 38 – 50 มคก./ลบ.ม. ผู้ป่วยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง
  • สีส้ม ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม. ลดกิจกรรมกลางแจ้งสวมหน้ากากอนามัย
  • สีแดง ตั้งแต่ 91 มคก./ลบ.ม. ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกัน และอยู่ในห้องปลอดภัย
     


โดย กทม. ก็เตรียมจะติดตั้งทั้งเครื่องวัดฝุ่นและจัดหาเครื่องฟอกอากาศไปติดตั้งเป็นห้องปลอดฝุ่น ให้ครบทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด รวมทั้งติดตั้งที่ศูนย์เด็กเล็กอีก 291 เครื่อง

แต่หากค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 51 - 69 มคก./ลบ.ม. ให้โรงเรียนงดกิจกรรมกลางแจ้ง นักเรียนสวมหน้ากากเมื่อออกนอกอาคารเรียน และโรงเรียนต้องจัดให้มี Safe Zone สำหรับทุกคนในโรงเรียน, หากค่าฝุ่นสูงขึ้นอยู่ระหว่าง 70 – 75 มคก./ลบ.ม. ผู้อำนวยสถานศึกษาสามารถใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนได้ครั้งละไม่เกิน 3 วัน และผู้อำนวยการเขตใช้ดุลพินิจได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน 

และหากค่าฝุ่นพุ่งสูงถึงระดับ 4 (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.) ครอบคลุมพื้นที่ 2 – 5 เขต ให้ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนในเขตที่ได้รับผลกระทบครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่หากพื้นที่ผลกระทบในระดับนี้มีมากกว่า 5 เขตขึ้นไป ให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าฯ กทม. ในการสั่งปิดโรงเรียน
 


การจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กทม. เป็นไปตาม "แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ของรัฐบาล ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2562 กำหนดให้จังหวัดที่มีความเสี่ยง ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการทุกปี เพื่อเตรียมรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ตามหลักการการป้องกันไว้ก่อน

โดย กทม. เพิ่งอนุมัติแผนฉบับนี้ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. จนถึงขณะนี้ ก็มีหลายมาตรการที่ กทม. เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การเปิดศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ หรือวอร์รูมฝุ่น, การแจ้งเตือนค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชั่น และโซเชียลมีเดีย แต่ยังคงต้องจับตาว่า กทม. จะสามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ กทม. เข้าวิกฤตฝุ่นอย่างแท้จริง
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

PM 2.5
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ