เมื่อพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ หลายคนอาจจะติดภาพของมนุษย์อย่างเรา ๆ ที่ไม่ได้มีแค่ชายหรือหญิง แต่ยังคงมีเพศต่าง ๆ อีกมากมายให้เราได้ทำความเข้าใจถึงเพศสภาพที่แตกต่างกันออกไป จนเกิดการยอมรับซึ่งความหลากหลายบนโลกใบนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนอกจากมนุษย์ผู้มีความหลายหลายทางเพศแล้ว สัตว์เองก็มีความหลายทางเพศเช่นเดียวกันเพียงแต่ว่าด้วยภาพลักษณ์ภายนอกอาจแสดงไม่ได้แสดงให้เห็นชัด เหมือนมนุษย์อย่างเรา ๆ เท่านั้นเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนก็คือ เราไม่อาจชี้ชัดอัตลักษณ์ทางเพศของสัตว์ได้อย่างแน่ชัด เพราะสัตว์ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายนั้นไม่ได้ยุติความชอบในเพศตรงข้าม การชอบเพศเดียวกันในสัตว์เป็นเรื่องที่เกิดจากความต้องการ และปัจจัยแวดล้อม มากกว่าการกำหนดเพศสภาพแบบถาวร แต่ถึงอย่างไรก็ตามเนื่องในเดือน Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ Thai PBS จึงขอชวนผู้อ่านทุกคนมาสัมผัสกับความน่ารัก แง่มุมของความหลากหลายทางเพศในสัตว์ชนิดต่าง ๆ กับพฤติกรรมแปลก ๆ ที่อาจชวนเรางุนงง แต่สามารถเข้าใจได้ เพราะความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ

ความเหงา จุดกำเนิดความรักของเพนกวิน / AFP
ว่ากันว่าเพนกวินคือสัตว์ที่ทำให้มนุษย์หมู่มากเห็นถึงความหลายหลายทางเพศในสัตว์แบบเป็นวงกว้าง สืบเนื่องมาจากเจ้านกเพนกวินเพศผู้คู่หนึ่งแห่งสวนสัตว์เซ็นทรัลพาร์กกลางกรุงนิวยอร์ก ที่แสดงพฤติกรรมให้เห็นถึงความชื่นชอบในเพศเดียวกัน ที่เกิดมาจากความเหงาความโดดเดี่ยวจากการเป็นเพนกวินเพียงไม่กี่ตัวในสวนสัตว์ จนต้องหันมาจับคู่กันเองบรรเทาความเหงา พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นที่จับตามองของสื่อนิวยอร์กเพราะไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน มีการทำข่าว สัมภาษณ์ผู้ดูแล และคอยเกาะติดพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เพราะมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จนได้รับการพัฒนาต่อไปเป็นนิทานสำหรับเด็ก ละครเวที และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

นกอัลบาทรอสเลย์สันตัวเมียนิยมจับคู่กันเอง / AFP
นกอัลบาทรอสเลย์สัน คู่ยูริแห่งเกาะโออาฮู
นกอัลบาทรอสเลย์สัน ชื่อนี้อาจฟังดูไม่คุ้นเคยสำหรับคนไทย เพราะพื้นที่อยู่อาศัยของนกชนิดนี้จะกระจายอยู่ตามเกาะในรัฐฮาวาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผลการศึกษาและเฝ้าดูพฤติกรรมนกอัลบาทรอสเลย์สันบนเกาะโออาฮู ในรัฐฮาวาย พบว่า กว่า 31% ของจำนวนประชากรของคู่นกชนิดนี้เป็นการจับคู่กันระหว่างนกตัวเมียกับตัวเมีย โดยนกทั้งสองตัวนั้นจะคอยดูแลกัน ช่วยกันทำรัง ช่วยกันหาอาหาร พอถึงฤดูผสมพันธุ์ตัวใดตัวหนึ่งจะแยกตัวออกไปผสมพันธุ์กับผู้ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียอีกตัวจะกลับมาเป็นฝ่ายคอยดูแล ช่วยให้การฝักไข่เป็นไปอย่างราบรื่น รวมไปถึงช่วยกันเลี้ยงดูลูกร่วมกันอีกด้วย บทบาทของตัวผู้จึงจบลงเพียงแค่การผสมพันธุ์เท่านั้น

ยีราฟลดความรุนแรงในฝูงด้วยการจับคู่ / AFP
ยีราฟ คู่จิ้นคอยาว
ใครจะไปคิดว่ายีราฟจะกลายเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้วจากการศึกษานั้นค้นพบว่า ยีราฟมีการแสดงออกถึงความรักในเพศเดียวกันมากกว่ารักต่างเพศ โดยเฉพาะยีราฟเพศผู้นั้นจะแสดงออกถึงความสนใจในเพศเดียวกันมาเป็นพิเศษ พวกมันจะชอบเอาคอถูไถซึ่งกันและกัน จูบกัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีให้กัน นี่อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าข้อจำกัดทางด้านสรีระและรูปร่างนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นทางเพศแต่อย่างใด โดยพฤติกรรมเหล่านี้มักจะแสดงให้เห็นเฉพาะในยีราฟวัยหนุ่มเพราะมีแรงขับดันทางเพศที่สูงกว่า เป็นการลดความรุนแรง ลดระดับความขัดแย้งในฝูง แต่พออายุเริ่มมากขึ้นพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะลดลงเป็นไปตามวัยที่ร่วงโรย

แกะอาจต้องตายถ้าไม่ผสมพันธุ์ / AFP
แกะ ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศชัดเจน
แม้อัตลักษณ์ทางเพศของสัตว์อาจจะไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่แกะถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่ความชัดเจนทางเพศสภาพมากที่สุด กล่าวคือเมื่อแกะตัวผู้มีความสัมพันธ์กับแกะตัวเมียก็จะมีแต่ความสัมพันธ์กับแกะตัวเมีย ส่วนแกะตัวผู้ที่มีความสัมพันธ์กับแกะตัวผู้ก็จะมีความสัมพันธ์แต่กับแกะตัวผู้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแกะที่ไม่สนใจเรื่องเพศและการจับคู่ผสมพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ความชัดเจนทางเพศสภาพของแกะเช่นนี้ ก็กำลังอาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เช่น ในประเทศเยอรมัน แกะที่ไม่ผสมพันธ์ุจะถือว่าเป็นสัตว์ไร้ประโยชน์ และอาจถูกส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์ จนเกิดโครงการอย่าง Rainbow Wool โครงการขอความร่วมมือจากเจ้าของฟาร์มส่งแกะที่ไม่ผสมพันธุ์ไปอาศัยอยู่ในฟาร์มเดียวกัน เพื่อไม่ให้ถูกฆ่า เป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือแกะเพศผู้เพศเมียไม่ให้ต้องตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โลมาปรับเปลี่ยนรสนิยมทางเพศตามความต้องการ / AFP
โลมา สัตว์น้ำแรงขับดันทางเพศสูง
พฤติกรรมของโลมาถือได้ว่าเป็นสัตว์น่้ำที่มีความต้องการทางเพศสูง สามารถสืบพันธ์ุได้ตลอดทั้งปี ฤดูผสมพันธ์ุเป็นแค่ตัวกำหนดช่วงเวลาเท่านั้น นอกจากนี้โลมายังเป็นสัตว์ที่แสดงพฤติกรรมทางเพศหลากหลายรูปแบบผ่านรสนิยมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการที่ไม่แน่นอน โดยจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมโลมาของ Murdoch University ที่บริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งแมนดูราห์ ประเทศออสเตรเลีย ทำให้เห็นว่า โลมาตัวผู้หลายตัวเข้ากลุ่มสังคมด้วยการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้มักเกิดขึ้นบ่อยกว่าระหว่างตัวเมีย พฤติกรรมรักร่วมเพศในโลมาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างโลมาตัวผู้ด้วยกันเอง
จากตัวอย่างที่ยกมาโดยภาพรวมแล้ว ความหลากหลายทางเพศในสัตว์นั้นเป็นพฤติกรรมที่สามารถอธิบายได้ แต่ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบได้โดยตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่ซับซ้อนของมนุษย์ อย่างไรก็ตามการคงอยู่ของพฤติกรรมเหล่านี้ในอาณาจักรสัตว์ ได้แสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีมาอย่างยาวนาน
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติมของความหลากหลายทางเพศ