ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “อาบัติ” เมื่อพระสงฆ์ผิดวินัย


Insight

สันทัด โพธิสา

แชร์

รู้จัก “อาบัติ” เมื่อพระสงฆ์ผิดวินัย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2915

รู้จัก “อาบัติ” เมื่อพระสงฆ์ผิดวินัย

 

กรณี “พระสงฆ์” หลายรูปพัวพัน “สีกา” จนต้องลาสิกขา อันเนื่องจากความผิดทางวินัยสงฆ์ที่เรียกว่า “ปาราชิก” ลักษณะความผิดนี้ เป็นหนึ่งในอาบัติที่ร้ายแรงของพระสงฆ์

ทว่า “อาบัติ” ยังมีอีกหลายรูปแบบ และมีหลายระดับ Thai PBS ชวนทำความเข้าใจและเรียนรู้ “อาบัติ” ในระดับต่าง ๆ ของพระสงฆ์ มีความผิดแบบใด

เข้าใจความหมายของ “อาบัติ” 

อาบัติ เป็นภาษาบาลี แปลว่า การต้อง การกระทบ หรือหากตีความในทางพุทธศาสนา คือ การผิดศีล หรือศีลขาด เป็นความผิดทางวินัยของพระภิกษุ

ทั้งนี้ อาบัติในพระวินัยสงฆ์ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ 

  • อาบัติหนัก หรือเรียกว่า ครุกาบัติ เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งมีอาบัติเดียว นั่นคือ ปาราชิก ภิกษุผู้ต้องอาบัติ ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ เรียกว่า อเตกิจฉา 
  • อาบัติเบา เรียกว่า ลหุกาบัติ ภิกษุผู้ต้องอาบัติ ต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน แล้วจึงจะพ้นโทษนั้นได้ ทั้งนี้อาบัติระดับเบา เป็นอาบัติที่ยังแก้ไขได้ หรือเรียกว่า สเตกิจฉา

ลักษณะของพระสงฆ์ที่ต้องอาบัติ เป็นแบบไหน ?

1.อลัชชิตา คือ ต้องอาบัติด้วยความไม่ละอาย แม้เป็นข้อพระวินัยบัญญัติห้ามไว้ แต่ยังคงทำอย่างไม่สนใจ 

2. อญาณตา คือ ต้องอาบัติด้วยความไม่รู้ ลักษณะเป็นอาการของภิกษุบวชใหม่ที่ยังศึกษาข้อวินัยไม่ครบหรือไม่กระจ่าง หรือภิกษุบวชมานานแล้วแต่ไม่สนใจใฝ่ศึกษาข้อพระวินัยบัญญัติ แล้วล่วงละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ  

3.กุกกุจจปกตัตตา คือ ต้องอาบัติด้วยความสงสัยแต่ก็ยังขืนทำลงไป 

4. อกัปปิเย กัปปิยสัญิตา คือ ต้องอาบัติด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร เป็นลักษณะการต้องอาบัติที่ภิกษุมีความสำคัญผิดไป เช่น เห็นเนื้อช้างซึ่งเป็นเนื้อต้องห้ามตามพระวินัย แต่เข้าใจว่าเป็นเนื้อหมู จึงฉันเข้าไป แม้ว่าไม่ตั้งใจ แต่ก็ต้องอาบัติ เพราะเป็นเนื้อต้องห้าม  

5.กัปปิเย อกัปปิยสัญิตา คือ ต้องอาบัติด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ไม่ควร เป็นอาการที่ภิกษุมีความสำคัญผิดไป เช่น เห็นเนื้อหมูซึ่งไม่ได้เป็นของต้องห้ามตามพระวินัย แต่เข้าใจว่าเป็นเนื้อหมีที่เป็นเนื้อต้องห้าม แล้วฉันเนื้อหมูนั้น ก็ต้องอาบัติ เพราะสำคัญว่าเป็นเนื้อต้องห้าม  

6. สติสัมโมสา คือ ต้องอาบัติด้วยการลืมสติ เป็นลักษณะที่ภิกษุลืมสติ แล้วล่วงละเมิดข้อห้าม เช่น ในพระวินัยอนุญาตให้ภิกษุเก็บน้ำผึ้งไว้ฉันได้เพียง 7 วัน แต่ภิกษุลืมจำนวนวันที่เก็บ แล้วนำมาฉันด้วยความไม่รู้

ประเภทของ “อาบัติ” มีอะไร ?

ลักษณะของอาบัติ แบ่งไว้ 7 ประเภท คือ

1.ปาราชิก เป็นอาบัติที่ร้ายแรงที่สุด เมื่อภิกษุต้องความผิดแล้ว ต้องพ้นจากความเป็นภิกษุทันที ปาราชิก หมายถึง ผู้ต้องพ่ายแพ้ในตัวเองที่ไม่สามารถปฏิบัติในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้ได้ ทั้นีลักษณะปาราชิกมี 4 แบบ คือ 

  • เสพเมถุน 
  • ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน
  • การฆ่าคน
  • ไม่รู้เฉพาะ แต่กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม

2.สังฆาทิเสส เป็นโทษร้ายแรงรองจากปาราชิก โดยเหตุแห่งการอาบัติ ประกอบไปด้วย

  • จงใจให้น้ำอสุจิเคลื่อน 
  • แตะต้องสัมผัสกายสตรีด้วยความกำหนัด
  • พูดกับสตรีด้วยวาจาอันหยาบ
  • พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้
  • ทำตัวเป็นพ่อสื่อ
  • สร้างกุฏิด้วยการขอ
  • มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน
  • ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  • แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  • ทำสงฆ์แตกแยก 
  • เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก
  • ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ
  • ประทุษร้ายตระกูล

แม้จะเป็นอาบัติที่ร้ายแรง แต่พระสงฆ์ยังสามารถแก้อาบัตินั้นได้ โดยเรียกว่า การปริวาสกรรม เป็นการปลงอาบัติด้วยการอยู่กรรม และต้องมีพระสงฆ์อื่นร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 4 รูป เพื่อขอประพฤติวัตรที่เรียกว่า มานัต ซึ่งเป็นพิธีการที่หมู่พระสงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพื่อให้กลับเข้าสู่หมู่สงฆ์ได้เช่นเดิม 

การประพฤติวัตรดังกล่าวนี้ ใช้เวลา 6 คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้พระสงฆ์ 20 รูป ทำสังฆกรรมสวดอัพภาน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงถือว่า ภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้ไป

3.ถุลลัจจัย เป็นอาบัติที่รองมาจากสังฆาทิเสส โดยคำว่า ถุลลัจจัย แปลว่า การล่วงละเมิดที่หยาบ เกิดจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือความคิดที่จะกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น

  • การชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน  
  • ภิกษุแสดงอาการยินดีต่อการร่วมประเวณี 
  • ภิกษุนุ่งห่มหนังเสืออย่างเดียรถีย์

อาบัติถุลลัจจัย สามารถพ้นจากอาบัติได้ โดยต้องปลงอาบัติ ด้วยวิธีการบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกัน

4.ปาจิตตีย์ เป็นโทษของพระสงฆ์ที่เกิดจากการล่วงละเมิดข้อห้ามต่าง ๆ โดยลักษณะเป็นอาบัติเบา (ลหุกาบัติ) แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ 

  • นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือปาจิตตีย์ที่ต้องสละสิ่งของที่เป็นเหตุที่ต้องอาบัตินั้น จึงจะพ้นจากอาบัติ เช่น ภิกษุเก็บจีวรไว้เกิน 10 วัน ต้องสละจีวรนั้นแก่ภิกษุอื่น แล้วจึงแสดงอาบัติ เพื่อให้พ้นจากอาบัตินั้น
  • สุทธิกปาจิตตีย์ คือปาจิตตีย์ปกติ 92 สิกขาบท หากภิกษุต้องความผิด ไม่ต้องเสียสละสิ่งของที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้น แต่ต้องแสดงอาบัติ จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้

5.ปาฏิเทสนียะ เป็นอาบัติเบาที่พระสงฆ์ต้องแสดงคืน โดยคำว่า ปาฏิเทสนียะ หมายถึง ที่พึงแสดงคืน หรือที่ต้องแสดงคืน ทั้งนี้ลักษณะของอาบัติปาฏิเทสนียะของสงฆ์ เช่น 

  • ภิกษุรับของคบเคี้ยวหรือของฉันจากมือภิกษุณีมาฉัน
  • ภิกษุไม่ห้ามภิกษุณีที่คอยสั่งการให้คฤหัสถ์ถวายอาหารในเวลาที่ตนกำลังฉัน
  • ภิกษุไม่ได้รับนิมนต์ไว้ก่อน และไม่ได้เป็นผู้มีอาพาธ (เจ็บป่วย) แต่รับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสขะ (อริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุเป็นอรหันต์) ด้วยมือตนเองแล้วฉัน
  • ภิกษุไม่เป็นผู้มีอาพาธ (เจ็บป่วย) และไม่ได้แจ้งไว้ก่อนว่าจะไปรับอาหาร แต่ไปรับอาหารในวัดป่าที่มีโจรซุ่มอยู่แล้วฉัน

ทั้งนี้ อาบัติปาฏิเทสนียะ เป็นอาบัติที่ภิกษุต้องแสดงคืนแก่ภิกษุด้วยกัน เพื่อให้พ้นจากอาบัติ

6.ทุกกฎ คำว่า “ทุกกฎ” แปลว่า ทำไม่ดี เป็นอาบัติที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสงฆ์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดมารยาท เช่น ภิกษุสวมเสื้อ สวมหมวก หรือใช้ผ้าโพกศีรษะ ทั้งนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน และพึงมีความสำรวมต่อไป

7.ทุพภาสิต คำว่า “ทุพภาสิต” แปลว่า คำชั่ว คำเสียหาย หรือคำพูดที่ไม่ดี อาบัติข้อนี้จึงเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ที่ผิดวินัยเรื่องการใช้คำพูด อาทิ ใช้คำพูดที่ไม่ดี พูดส่อเสียด พูดให้เสียหาย แม้จะเป็นอาบัติที่เบาที่สุด แต่แสดงถึงความไม่สำรวมในคำพูด 

หากภิกษุต้องอาบัติทุพภาสิต จะต้องปลงอาบัติ ด้วยการบอกความผิดของตนให้ภิกษุอื่นฟัง เพื่อให้พ้นจากอาบัตินั้น นอกจากนี้ยังถือเป็นการแสดงความสำนึกผิด และเป็นการรักษาระเบียบวินัยของสงฆ์อีกด้วย

วิธีการปลงอาบัติ เป็นอย่างไร ? 

การปลงอาบัติ คือ การแสดงความคิดของสงฆ์เพื่อปลดเปลื้องโทษทางพระวินัย ทั้งนี้วิธีการปลงอาบัติ เป็นการที่พระภิกษุผู้ทำผิดพระวินัย แสดงความผิดของตนต่อพระภิกษุรูปอื่น ถือเป็นการเปิดเผยความผิดของตนให้ผู้อื่นทราบ และเปลื้องตนให้พ้นจากอาบัตินั้น ๆ เรียกอย่างหนึ่งว่า แสดงอาบัติ

การปลงอาบัติ ถือเป็นกิจประจำของพระภิกษุ แม้บางครั้งจะไม่ได้ทำผิดจากพระวินัย แต่สามารถปลงอาบัติกันไว้ได้ กรณีเกิดการทำผิดวินัยโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้อาบัติที่สามารถเปลื้องได้โดยการปลงอาบัติ คืออาบัติที่เกิดจากการละเมิดพระวินัยเล็กน้อย (อาบัติเบา) ส่วนอาบัติหนัก เช่น อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่ไม่อาจเปลื้องได้ด้วยการปลงอาบัตินั่นเอง

การกำหนดพระวินัย เพื่อให้พระสงฆ์พึงรู้ พึงปฏิบัติ และพึงเข้าใจ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความงดงามทางกิริยา และพร้อมให้ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้ถ่องแท้ถึงความหมายและหลักธรรมอันดี

อ้างอิง

  • มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
  • อาบัติ คืออะไร เจาะลึกพระวินัยค้นความหมาย / ทรู ปลูกปัญญา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อาบัติพระสงฆ์สงฆ์ภิกษุพระวินัยความผิดปลงอาบัติ
สันทัด โพธิสา

ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด