ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดาวหางนอกระบบ 3I/Atlas วัตถุระหว่างดาวลำดับที่สามที่มีการยืนยัน


แชร์

ดาวหางนอกระบบ 3I/Atlas วัตถุระหว่างดาวลำดับที่สามที่มีการยืนยัน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2917

ดาวหางนอกระบบ 3I/Atlas วัตถุระหว่างดาวลำดับที่สามที่มีการยืนยัน

NASA ได้ค้นพบดาวหางนอกระบบสุริยะ (Interstellar Comet) ดวงใหม่ ซึ่งถือเป็นวัตถุจากระบบดาวอื่นที่เข้ามาในระบบสุริยะของเราเป็นครั้งที่สามที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยตรวจพบผ่านกล้องโทรทรรศน์ Atlas ในประเทศชิลีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2025 และได้รับการตั้งชื่อว่า 3I/Atlas

ดาวหาง 3I/Atlas ขณะนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 670 ล้านกิโลเมตร ใกล้บริเวณวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในด้วยความเร็วประมาณ 59 กิโลเมตรต่อวินาที การคำนวณเบื้องต้นระบุว่า 3I/Atlas จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2025 โดยจะเคลื่อนผ่านระหว่างวงโคจรของโลกและดาวอังคาร แต่ยังอยู่ในระยะห่างที่ปลอดภัยจากโลกที่ประมาณ 240 ล้านกิโลเมตร

ดาวหาง 3I_Atlas จากกล้องโทรทรรศน์ Saguaro Observatory

ดาวหางนี้ถูกจัดเป็นวัตถุระหว่างดาวจากลักษณะการเคลื่อนที่และทิศทางที่ไม่สัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ และการที่มันมีความเร็วเกินกว่าความเร็วหลุดพ้นจากระบบสุริยะ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่วัตถุที่เกิดในระบบสุริยะของเรา นักวิจัยจาก NASA ระบุว่า ดาวหางดวงนี้อาจเดินทางในอวกาศมานานหลายร้อยล้านถึงพันล้านปี ก่อนจะเข้าสู่บริเวณระบบสุริยะ และไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากระบบดาวใด

ดาวหาง 2I_Borisov ซึ่งถูกตรวจพบในปี 2019 เป็นดาวหางนอกระบบดวงที่สองที่ได้รับการยืนยันหลังจาก Oumuamua

ตั้งแต่มีการค้นพบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นักดาราศาสตร์จากทั่วโลกได้ทำการสังเกตดาวหางนี้มากกว่า 100 ครั้งแล้ว ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่ามีลักษณะของหาง และมีการปลดปล่อยก๊าซและฝุ่นออกมารอบนิวเคลียส ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของดาวหาง ความสว่างของวัตถุบ่งชี้ว่าดาวหาง 3I/Atlas มีขนาดใหญ่กว่าวัตถุระหว่างดาวก่อนหน้านี้ คือ Oumuamua ที่ถูกค้นพบในปี 2017 และ 2I/Borisov ที่ค้นพบในปี 2019 โดยคาดว่ามีขนาดหลายกิโลเมตร

แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าดาวหางดวงนี้มาจากระบบดาวใด แต่นักดาราศาสตร์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ทิศทางการเคลื่อนที่ของมันอาจชี้ว่ามีต้นกำเนิดใกล้กับใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

คาดว่าดาวหาง 3I/Atlas จะสามารถสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้จนถึงเดือนกันยายน 2025 ก่อนจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินกว่าที่จะสังเกตได้ จากนั้นจะกลับมาปรากฏอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2025 เมื่อโคจรผ่านด้านหลังดวงอาทิตย์

แม้ดาวหางดวงนี้จะไม่มีผลกระทบต่อโลกโดยตรง แต่การค้นพบวัตถุระหว่างดาวเพิ่มเติมตอกย้ำว่าการเฝ้าระวังวัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะยังเป็นภารกิจสำคัญของวงการดาราศาสตร์สมัยใหม่ และเป็นโอกาสในการศึกษาวัตถุจากระบบดาวอื่นซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่น

เรียบเรียงโดย Chottiwatt Jittprasong


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

3I/Atlasดาวหางนอกระบบสุริยะ 3I/AtlasดาวหางนอกระบบสุริยะดาวหางInterstellar CometAtlasATLASกล้องโทรทรรศน์ Atlasกล้องโทรทรรศน์ ATLASกล้องโทรทรรศน์NASAนาซาองค์การนาซาสำรวจอวกาศอวกาศนอกระบบสุริยะระบบสุริยะThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech

ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด