ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กาแฟ-กาเฟอีน-สวิตช์ชะลอความแก่และมัจจุราชมืด !


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

แชร์

กาแฟ-กาเฟอีน-สวิตช์ชะลอความแก่และมัจจุราชมืด !

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2918

กาแฟ-กาเฟอีน-สวิตช์ชะลอความแก่และมัจจุราชมืด !

วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2025 คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน (Queen Mary University of London) ประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Microbial Cell ผลการศึกษาวิจัยใหม่ กาเฟอีนในกาแฟ อาจมีผลช่วยให้อายุยืนยาวขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการช่วยให้สมองตื่นเวลาเช้า

“วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต” วันนี้ จะนำท่านผู้อ่านไปดูวิธีการศึกษาของคณะนักวิจัย ไปดูว่า กาเฟอีนในกาแฟอาจช่วยให้คนเรามีชีวิตยืนยาวขึ้นได้จริงหรือไม่ ? อย่างไร ? และไปดูด้วยว่า การเสพกาเฟอีนผิดอย่างไร มีอันตราย “ถึงตาย” ได้ ?

“กาแฟ” กับ “กาเฟอีน”

เรื่องราวเกี่ยวกับกาแฟกับกาเฟอีนในการทำให้สมองตื่นตัว มีมากมาย ทั้งที่เป็นตำนานเก่าแก่ และผลงานการศึกษาวิจัยยุคใหม่

จริง ๆ แล้ว ในการทำวิจัยที่เป็นโฟกัสเรื่องของเราวันนี้ นักวิทยาศาสตร์มิได้ทดลองกับ “กาแฟ” โดยตรง หากเป็นการศึกษาวิจัยที่ทำกับ “กาเฟอีน” โดยมี ยีส หรือ รา ชนิดหนึ่ง เป็นตัวอย่างการศึกษา

แต่เนื่องจาก “กาแฟ” กับ “กาเฟอีน” ถูกกล่าวถึงหรือจับคู่กันเป็นประจำ และในรายงานก็กล่าวถึงกาแฟ เป็นเสมือนกับตัวแทนของกาเฟอีนตามเป้าหมายการศึกษาวิจัยด้วย จึงเป็นเรื่องหนีไม่พ้นที่ “กาแฟ” จะถูก “พาดพิง” เป็น “ตัวแทน” ของกาเฟอีนเป็นประจำ

ก่อนจะไปเปิดดูผลการศึกษาวิจัย ผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่าน ไปดูเรื่องราวบางเรื่องเกี่ยวกับ “กาแฟ” และ “กาเฟอีน” ที่ “น่าทึ่ง” และ “น่าสนใจ” และก็เป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่ผลการศึกษาวิจัยใหม่ด้วย :-

*กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารกระตุ้นระบบประสาทที่รู้จักกันดี และบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ในเครื่องดื่มประเภท กาแฟ, ชา, โกโก้, ช็อกโกแลต, เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลมบางชนิด

*น้ำอัดลม coca-cola (โคคา-โคลา) แต่แรกเริ่มใช้สารกาเฟอีนจากถั่วโคลา (kola nut) และใช้โคเคนจากใบโคคา (coca leave) ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อ coca-cola

*กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มกันทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับสาม รองจากอันดับหนึ่ง คือ น้ำ และอันดับสอง คือ ชา

*ในบรรดาเครื่องดื่มประเภทกาแฟ , ชา, โกโก้ และช็อกโกแลต ที่มีกาเฟอีนมากที่สุด คือ กาแฟ

*กำเนิดการค้นพบกาเฟอีนโดยทั่วไป ผูกติดอยู่กับการค้นพบใบชาและเมล็ดกาแฟ ที่นำมาสู่เรื่องของน้ำชาและเครื่องดื่มกาแฟโดยเรื่องของชา เกิดขึ้นก่อนในประเทศจีน แต่ไม่มีเรื่องราวที่มาชัดเจน สำหรับเรื่องของกาแฟ เกิดขึ้นหลังเรื่องของชา โดยเรื่องของกาแฟที่แพร่หลายมากที่สุด เกิดขึ้นในประเทศ เอธิโอเปีย เมื่อศตวรรษที่เก้า เกี่ยวกับชายเลี้ยง แพะคาลดิ (Kaldi) แต่ที่มีบันทึกเป็นเรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศ เยเมน เมื่อศตวรรษที่สิบสอง โดยนักบวชชื่อ ชีค โอมารี (Shiekh Omari)

*ผู้แยกสารกาเฟอีน (จากเมล็ดกาแฟ) ได้เป็นคนแรก คือ ฟรีดริช เฟอร์ดินานด์ รังเก (Friedrich Ferdinand Runge) นักเคมีชาวเยอรมันเมื่อปี ค.ศ. 1820

*กาแฟสายพันธุ์หลักที่ปลูกกันทั่วโลกปัจจุบัน มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ กาแฟอะราบิกา (จากสายพันธุ์ Arabica) และกาแฟโรบัสตา (จากสายพันธุ์ Canephora)

*เมล็ดกาแฟโรบัสตา มีกาเฟอีนมากกว่าอะราบิกา

*กาแฟราคาแพงที่สุดในโลกปัจจุบัน คือ กาแฟขี้ชะมด และกาแฟขี้ช้าง ราคาแก้วละประมาณหนึ่งพันบาท หรือชั่งขาย (เมล็ดกาแฟ) กิโลกรัมละ 80,000-100,000 บาท

*ต้นกำเนิดของกาแฟขี้ชะมด มาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนกาแฟขี้ช้าง มีต้นกำเนิดในประเทศไทยที่จังหวัดลำปาง

“โจทย์เก่า” กับ “ตัวอย่างใหม่” ยีสต์แตกตัว

“โจทย์เก่า” คือ กาเฟอีนมีผลกับสุขภาพและอื่นๆ ของร่างกายได้อย่างไร ?

“ตัวอย่างใหม่” คือ ยีสต์หรือราชื่อ fission yeast (ยีสต์แตกตัว)

ผลงานการค้นพบใหม่ที่เป็นโฟกัสเรื่องของเราวันนี้ เป็นผลงานของคณะนักวิจัย 4 คน มี จอห์น-แพทริกค์ อะเลา (John-Patrick Alao) เป็นหัวหน้าทีม

ชื่อรายงานที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Microbial Cell คือ “Dissecting the cell cycle regulation, DNA danmage sensitivity and lifespan effects of Caffeine in fission yeast” (ผ่านการศึกษาผลของกาเฟอีนต่อยีสต์แตกตัว สำหรับการควบคุมวัฏจักรของเซลล์, ความไวต่อความเสียหายกับดีเอ็นเอ และผลต่อเรื่องอายุขัย)

แรงจูงใจของการศึกษาวิจัยใหม่ คือ เพื่อเจาะศึกษาบทบาทของกาเฟอีนต่อการเสื่อมสภาพของเซลล์ ลงลึกเข้าไปถึงระดับภายในของเซลล์

กล่าวคือ ที่ผ่านมา มีหลักฐานข้อมูลมากมายถึงผลดีและผลกระทบของกาเฟอีนต่อสุขภาพ แต่ที่ยังไม่ทราบกัน คือ กาเฟอีนเข้าไปทำอะไรภายในเซลล์

แล้วทำไมคณะนักวิจัยจึงเลือกศึกษาผลของกาเฟอีนกับตัวอย่างใหม่ คือ ยีสต์แตกตัว ?

ยีสต์แตกตัว หรือ Schizosaccharomyces Pombe เป็นยีสต์หรือเชื้อราที่มนุษย์รู้จักมานานหลายพันปี เพราะพบและใช้ในการหมักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในธรรมชาติและโดยมนุษย์...

แต่เพิ่งถูกแยกและศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ในศตวรรษที่สิบเก้า และเป็นตัวอย่างเซลล์แรกๆ ที่ถูกถอดรหัสยีนได้ครบสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2002 หลังการประกาศความสำเร็จของโครงการถอดรหัสยีนมนุษย์ (Human Genome Project) ทั้งของโครงการนานาชาติและของเอกชนเมื่อปี ค.ศ. 2000...

พอล เอ็ม. เนิร์ส (Paul M. Nurse) นักจุลชีววิทยาอังกฤษ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 2001 (ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพอีก 2 คน คือ เลแลนด์ เอช. ฮาร์ตเวลส์ (Leland H. Hartwell) และ ทิม ฮันท์ (Tim hunt) จากผลงานของเขาที่ทุ่มเทให้กับการศึกษายีสต์แตกตัว

ยีสต์แตกตัวเป็นยีสต์เซลล์เดียวชนิดแท่ง สืบพันธุ์โดยการแยกตัวหรือแบ่งเซลล์เป็นสองส่วนเท่ากัน

ในปัจจุบัน ยีสต์แตกตัวกำลังเป็น “ตัวโปรด” ตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาวิจัยทางด้านชีววิทยาที่เกี่ยวพันกับมนุษย์ เพราะเซลล์ของยีสต์แตกตัว มียีนที่เหมือนกับยีนในเซลล์ของมนุษย์มากถึงประมาณ 70% ทำให้ยีสต์แตกตัว ได้ชื่อเป็น “mini-human” ที่ผู้เขียนขอเรียกเป็น “มนุษย์จิ๋ว”

ผลการวิจัยใหม่ : กาเฟอีนกับ “สองสวิตช์” ชะลอความชรา

สองสวิตช์ชะลอความชรา คือ สวิตช์มีชื่อว่า ทีโออาร์ (TOR) กับ เอเอ็มพีเค (AMPK) 

ทีโออาร์ หรือ TOR จากชื่อเต็ม Target of Rapamycin (เป้าหมายของราพามัยซิน) เป็นเอนไซม์ทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ (sensor) หรือเกจ (gauge) มาตรหรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือ สวิตช์การเติบโตของเซลล์ หรือ growth switch

ส่วน เอเอ็มพีเค หรือ AMPK จากชื่อเต็ม Adenosine Monophosphate-Activated Protein Kinase มักถูกเรียกสั้นลงเป็น AMP-Activated Proteine Kinase เป็นเอนไซม์ทำหน้าที่เซนเซอร์หรือสวิตช์พลังงาน (energy switch)

เซนเซอร์ทั้งสองชนิด คือ ทีโออาร์กับเอเอ็มพีเคมีอยู่ในเซลล์ของมนุษย์ทุกคน และอย่างแน่นอน ในยีสต์แตกตัว ซึ่งเป็นตัวอย่างเป้าหมายการศึกษาวิจัยของคณะนักวิจัยที่เป็นโฟกัสเรื่องของเราวันนี้

เมื่อไม่กี่ปีก่อน คณะนักวิจัยได้ศึกษาและพบว่า กาเฟอีนช่วยให้เซลล์มีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยการกระตุ้นให้เอนไซม์ทีโออาร์ หรือ สวิตช์การเติบโตทำงาน ตามสภาพของอาหารและพลังงานที่มีอยู่

สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งใหม่ คณะนักวิจัยเลือกยีสต์แตกตัวเป็นตัวอย่างการศึกษาโดยตรง โดยการผสมกาเฟอีนกับยีสต์แตกตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ให้ยีสต์แตกตัวอยู่ในสภาพการขาดแคลนอาหาร หรือการคุกคาม (รบกวน, บีบคั้น) จากสิ่งก่อกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อโรค

แล้วคณะนักวิจัยก็ค้นพบความรู้ใหม่ว่า เมื่อเซลล์ของยีสต์แตกตัวตกอยู่ในสภาพมีปัญหา กาเฟอีนมิได้กระตุ้นให้สวิตช์เอเอ็มพีเคทำงานจัดการกับปัญหาโดยตรง แต่จะไปกระตุ้นให้สวิตช์ทีโออาร์ทำงานโดยผ่านการกระตุ้นของสวิตช์เอเอ็มพีเคก่อน

กล่าวคือ เมื่อเซลล์เกิดปัญหาการเจริญเติบโตหรือถูกรบกวน กาเฟอีนจะไปกระตุ้นสวิตช์พลังงาน (เอเอ็มพีเค) ให้ทำงาน เพื่อดูว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้น แล้วสวิตช์พลังงาน ก็จะไปกระตุ้นอีกต่อหนึ่ง ให้สวิตช์การเติบโต (ทีโออาร์) ทำงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

การค้นพบใหม่กับก้าวต่อไป

การค้นพบใหม่ของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน มีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างไร ?

อย่างตรงๆ การค้นพบใหม่ คือ บทบาทของสวิตช์พลังงานเอเอ็มพีเค ที่เป็นตัวได้รับการกระตุ้นโดยตรงจากกาเฟอีน ให้ไป “ปลุก” หรือ “กระตุ้น” อีกต่อหนึ่ง ให้สวิตช์การเติบโตของเซลล์ คือ ทีโออาร์ทำงาน จึงนับเป็น “หมุดหมายใหม่” สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาวิธีการชะลอความแก่ชราของมนุษย์เรา แทนที่สวิตช์การเติบโต คือ ทีโออาร์ ที่เป็นตัวหลักมาก่อน

แต่ถ้าคณะนักวิจัย “ผิด” ล่ะ ?

นั่นคือ สวิตช์พลังงานเอเอ็มพีเค มิได้เป็น “ตัวหลักจริง” ในการทำงานของเซลล์เพื่อชะลอความแก่ชราและสุขภาพที่สำคัญล่ะ ? วงการวิทยาศาสตร์ก็จะเดินผิดทาง หรือต้องตั้งหลักใหม่กันอีก ใช่หรือไม่ ?

คำตอบคือ “ใช่”

แต่นั่นแหละ ก็คือ “ความก้าวหน้า” ของวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า การค้นพบใหม่ของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอนนั้น ผิดหรือไม่ ?

คำตอบ คือ อีกไม่นาน ก็จะทราบกัน !

เพราะหลังการตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบใหม่ วงการวิทยาศาสตร์ก็ตื่นตัวกันทันที ในการตรวจสอบผลการค้นพบใหม่ว่า “ใช่หรือไม่!”

ถ้า “ไม่ใช่” แล้วที่ “ใช่!” ล่ะ ?

ซึ่งก็จะเป็น “โจทย์ใหม่” สำหรับศาสตร์แห่งการชะลอความแก่ชราต่อไป

กาเฟอีน มัจจุราชมืด !

ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล และรอบตัวมนุษย์ ล้วนมีทั้งด้านบวกและลบ ด้านสร้างสรรค์และทำลาย !

ดวงอาทิตย์วันนี้ ให้ความอบอุ่นและแสงสว่างแก่ชีวิตบนโลก แต่ในอนาคตอีกประมาณหกพันล้านปี ดวงอาทิตย์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นดาวยักษ์แดง ขยายขนาดมาถึงโลก และกลืนกินโลก !

แล้วกาแฟกับกาเฟอีนล่ะ ?

โดยทั่วไป รวมทั้งในเรื่องของเราวันนี้ ถึงขณะนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวด้านบวกของกาแฟกับกาเฟอีน

แต่กาแฟกับกาเฟอีนก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ !

หนักที่สุดที่เป็นด้านลบ ก็คือ ถึงแก่ชีวิตได้ !

แล้วมีคนถึงแก่ชีวิตเพราะกาแฟและกาเฟอีนมาแล้วหรือไม่ ?

คำตอบคือ มีแล้ว !

แต่มิใช่เพราะ“กาแฟ” โดยตรง หากเป็น “กาเฟอีน”...

และก็เป็นการเสพกาเฟอีนอย่างผิดปรกติ จนกระทั่งเกิดสภาพเรียก “caffeinism” หรือ “caffeine overdosed” นั่นคือ เกิดการเสพกาแฟเกินขนาด !

ตามรายงานการศึกษากรณีการเสียชีวิตจากการเสพกาเฟอีนเกินขนาด ที่มีรายงานจากแหล่งต่างๆ ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 มีรายงานที่ชัดเจนของผู้เสียชีวิตจากกาเฟอีนรวมทั้งหมด 92 ราย

หลักจากนั้นมา ก็มีรายงานการเสียชีวิตจากกาเฟอีนต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ , ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย ฯลฯ แต่ก็เป็นจำนวนไม่มาก

โดยภาพรวม จำนวนผู้เสียชีวิตจากกาเฟอีนจึงนับว่า “ไม่มาก” กล่าวคือ ตกอยู่ในระดับหลายสิบ มิใช่หลายร้อยหรือหลายพันรายต่อปี...

และทุกรายที่เสียชีวิต ล้วนเกิดจากการเสพกาเฟอีนโดยตรง มากที่สุด คือ ในรูปของกาเฟอีนผงหรือเม็ด...

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงอาการเสพกาเฟอีนเกินขนาด ถึงขั้นต้อง “เข้ารักษาในโรงพยาบาล” แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ซึ่งมักไม่ “เป็นข่าว” ทว่า ก็มีมากกว่ากรณีหนักสุดถึงขั้นเสียชีวิตหลายเท่า

แล้วเสพกาเฟอีนแค่ไหน ถึงขั้นทำให้กาเฟอีนกลายเป็น “มัจจุราชมืด” ?

โดยภาพรวมง่ายๆ ในกรณีการเสียชีวิตจากกาเฟอีน ล้วนเกิดจากการบริโภคกาเฟอีนโดยตรง เทียบเป็นกาแฟนับเป็นระดับร้อยแก้ว

นั่นคือ ผู้เสียชีวิตเสมือนหนึ่ง ดื่มกาแฟรวดเดียวเป็นร้อยแก้ว !

ซึ่งอย่างแน่นอน ไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ!

แต่ที่วงการแพทย์และสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย กำลัง “กังวล” กัน ก็คือ

*การแพร่หลายของกาเฟอีนบริสุทธิ์เป็นผง เป็นเม็ด หรือในรูปอื่นๆ ที่หาซื้อกันได้ง่ายขึ้น ดังเช่น ทางออนไลน์

*การ “ไม่รู้ตัว” ของผู้เสพกาเฟอีนโดยตรง ถึง “ขนาดที่ปลอดภัย” ของกาเฟอีน เพราะ “ไม่อ่านคำเตือนวิธีการใช้” หรือความประมาท ดังเช่น คนออกกำลังกายอย่างหนักเป็นประจำ , นักกีฬา , คนทำงานหนักอย่างต่อเนื่องที่ “แม้แต่กาแฟก็ยังรู้สึกว่า ไม่พอ !”

หลังการตีพิมพ์รายงานของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอนหนึ่งวัน Newsweek ก็รายงาน (วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2025) ผลงานของคณะนักวิจัย และถามคณะนักวิจัยว่า “จากงานศึกษาวิจัย แสดงว่า กาแฟดีที่สุดสำหรับคุณ (หมายถึงทุกคน) ใช่ไหม ?”

คำตอบของ ดร. บาบิส รัลลิส (Babis Rallis) หนึ่งในสี่คณะนักวิจัย คือ

นักปราชญ์กรีกโบราณมีคำกล่าวว่า “ทุกอย่างอยู่ที่ความพอดี” ...

อย่างชัดเจน กาแฟและกาเฟอีนมีประโยชน์เป็นด้านดีต่ออวัยวะภายในร่างกายของเราหลายอย่าง และต่อสุขภาพโดยภาพรวม แต่ต้อง “บริโภค” อย่าง “พอดี” อย่าง “เหมาะสม” เพราะมีผลที่อันตรายด้วย ถ้าบริโภคมากเกินไป

แล้ว “จุดพอดี” คืออะไร ?

ข้อมูล “น่ารู้” ที่สำคัญ คือ

*กาแฟชงขนาดทั่วไป 1 แก้ว (237 มิลลิลิตรหรือ 8 ออนซ์) มีกาเฟอีนประมาณ 100 มิลลิกรัม

*กาเฟอีนผง 1 ช้อนโต๊ะ (3 ช้อนชา) เท่ากับกาเฟอีนบริสุทธิ์ 15 กรัม ซึ่งจะเท่ากับการดื่มกาแฟขนาดทั่วไป 150 แก้ว

*ข้อแนะนำจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขของไทย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการโดยทั่วไป ปริมาณการดื่มกาแฟที่ปลอดภัยคือ ไม่เกินวันละ 4 แก้ว...

โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า “ดีที่สุด ก็คือ กาแฟไม่ใส่ครีมและน้ำตาล แต่ถ้าจะใส่ ก็ให้ใส่เป็นปริมาณน้อยที่สุด”...

และนั่นก็น่าจะเป็น “จุดปลอดภัย” สำหรับ “คอกาแฟ” ทุกคน แต่จะเป็น “จุดพอดี” ของทุกคนหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า “ติดกาแฟแค่ไหน?”

สำหรับผู้เขียนเอง ยอมรับว่า “ติดกาแฟ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนั่งลงที่โต๊ะทำงาน แล้วก็จับปากกาเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่หวังว่า จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ “ติดกาแฟ” หรือไม่ ? แค่ไหน ?

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิตScienceกาแฟ
 รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

ผู้เขียน:  รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

นักวิทยาศาสตร์ และนักอนาคตศาสตร์ เจ้าของคอลัมน์ ​"วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต"

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด