4 ข้อควรรู้ร่วมดูแลคนใกล้ตัว เมื่ออัตราฆ่าตัวตายในไทยเพิ่มไม่หยุด


Thai PBS Care

10 ก.ย. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
4 ข้อควรรู้ร่วมดูแลคนใกล้ตัว เมื่ออัตราฆ่าตัวตายในไทยเพิ่มไม่หยุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็น "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" (World Suicide Prevention Day) โดยทางองค์การอนามัยโลกคาดว่า ในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 114 คน หรือนาทีละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ในขณะที่ในประเทศไทยเฉลี่ยปีละกว่า 5 พันคน หรือวันละ 13 คน การฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและเพื่อน ๆ ของผู้เสียชีวิต ตลอดจนส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ (ปี 2561-2566) อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่เกิดในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

องค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)

สาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดจากความเครียดความรู้สึกที่อัดแน่นท่วมท้นอยู่ในใจ ซึ่งมักเกิดจากความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวังจนไม่มีใครช่วยได้ รวมไปถึงความรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกผิด ความโกรธ ความกลัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตาย แต่อย่างไรก็ตาม อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า "การดำรงชีวิตอยู่ จำเป็นจะต้องอาศัยความกล้า มากกว่าการฆ่าตัวตายเสียอีก”

แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ? เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้น ต่อไปนี้คือ 4 ข้อควรรู้เพื่อเข้าใจสถานการณ์ ความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อร่วมดูแลคนใกล้ตัวและสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายไม่ให้เกิดขึ้นได้

เปิดสถิติการฆ่าตัวตายในไทย เข้าใจภาพรวมของปัญหา

ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายมีการเก็บสถิติในเชิงระบาดวิทยาโดยคำนวณให้เป็นอัตราต่อประชากรแสนคน โดยสถิติมากที่สุดจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ช่วงปี 2541-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.12 และ 8.59 คนต่อแสนประชากร

หลังจากนั้นด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายช่วยให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงจนไม่เกิน 6 คนต่อแสนประชากร จนกระทั่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2561-2565 สถิติกลับพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 6.32 ถึง 7.97 ซึ่งมาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงโรคระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายวิสัยทัศน์ของกรมสุขภาพจิต มีการตั้งเป้าควบคุมอัตราการฆ่าตัวตายให้อยู่ที่ไม่เกิน 6.3 ต่อแสนประชากร ซึ่งในปี 2566 นี้ ข้อมูลจากช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มที่ตัวเลขจะยังคงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม สถิติยังคงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความเป็นจริง งานวิจัยจากประเทศอังกฤษเผยว่า ตัวเลขการพยายามฆ่าตัวตายยังเป็นส่วนน้อยของจำนวนการทำร้ายตัวเอง เพราะยังคงมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล จึงยังคงมีหลายกรณีที่ไม่ถูกบันทึกไว้

ความเข้าใจนิยาม “การฆ่าตัวตาย” อย่างถูกต้อง แก้ปัญหาได้ถูกจุด

ความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่ถูกต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ปัญหา แล้วความเข้าใจคาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ฆ่าตัวตายก็คือฆ่าตัวตาย ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน เราขอชวนทุกคนมาเข้าใจประเด็นนี้อย่างเห็นภาพมากขึ้นผ่านการตอบคำถามจากกรณีตัวอย่างต่อไปนี้ 

กรณีที่ 1 ผู้หญิงน้องใจแฟน กินยาเกินขนาดต้องการฆ่าตัวตาย แฟนนำตัวส่งรักษา เมื่อหายแล้วก็รู้สึกดีขึ้น 
กรณีที่ 2 ชายอายุ 51 ปี ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง หลังถูกเลิกจ้างมา 1 สัปดาห์ ก็เกิดอาการซึมเศร้า อยากตายจึงปีนไปบนหลังคาเพื่อกระโดด แต่ก็เกิดเปลี่ยนใจและปีนกลับลงมา
คำถามคือ พฤติกรรมเหล่านี้คืออะไร ? ระหว่าง ‘ฆ่าตัวตาย’ ‘พยายามฆ่าตัวตาย’ ‘เรียกร้องความสนใจ’ ‘กินยาเกินขนาด’ หรือ ‘ไม่มีอะไรเกิดขึ้น’

หลายคนต่างก็มองเห็นคำตอบได้จากมุมมองของตัวเอง ความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาจึงอาจแตกต่างกันไป กรณีที่ 1 หากมองว่าผู้หญิงรู้สึกดีขึ้นแล้วก็อาจเป็นการเรียกร้องความสนใจเท่านั้น หรือกรณีที่ 2 เมื่อผู้ชายคนนั้นเปลี่ยนใจแล้วยังไม่ได้ลงมือ ก็คงไม่ถือเป็นการฆ่าตัวตาย
ความแตกต่างในมุมมองนี้เอง คือจุดเริ่มต้นการถกเถียงถึงนิยามการฆ่าตัวตายซึ่งเกิดขึ้นในปี 2011 ผลคือกรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้มีการนิยามความหมายไว้ ดังนี้

การฆ่าตัวตาย (Suicide) คือ การเสียชีวิตจากพฤติกรรมที่มุ่งทำร้ายตัวเองโดยตั้งใจจะให้ตายจากพฤติกรรมนั้น
การพยายามฆ่าตัวตาย (Suicide attempt) คือ พฤติกรรมที่มุ่งทำร้ายตัวเองแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิตโดยตั้งใจให้ตายจากพฤติกรรมนั้น และผลของการพยายามฆ่าตัวตายอาจบาดเจ็บหรือไม่บาดเจ็บก็ได้

ดังนั้น กรณีตัวอย่างทั้งหมดจึงถือเป็นการพยายามฆ่าตัวตายเหมือนกัน เมื่อเข้าใจการฆ่าตัวตายอย่างถูกต้องตรงกันแล้ว การแก้ปัญหาจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเปลี่ยนจากเคสกินยาเกินขนาดหรือเรียกร้องความสนใจไปเป็นการพยายามฆ่าตัวตาย จะช่วยให้คนรอบข้างรวมถึงคนทำงานด้านสุขภาพสามารถเฝ้าระวังการพยายามฆ่าตัวตายในครั้งถัดไปได้

การฆ่าตัวตายเกิดจากอะไรบ้าง ?

ในทางระบาดวิทยาการฆ่าตัวตายจะเกิดได้ใน “ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง” ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเสี่ยงลงมือฆ่าตัวตายนั้นคือ “ปัจจัยกระตุ้น” ซึ่งได้แก่ ความกดดันต่าง ๆ ในชีวิต ความเจ็บปวด ความเศร้า การพลัดพราก หนี้สิน ซึ่งส่งผลให้เกิดความคิดไปจนถึงแผนการและลงมือฆ่าตัวตาย
สรุปก็คือ “คน” ที่มี “ปัจจัยเสี่ยง” มาเจอเข้ากับ “ปัจจัยกระตุ้น” ก็จะทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฆ่าตัวตายสูงขึ้น 
แล้วปัจจัยเสี่ยงกับปัจจัยกระตุ้นมีอะไรบ้าง ? นักจิตวิทยาจากหลากหลายประเทศได้แบ่งปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันไป การศึกษาในประเทศไทยมีแนวคิด TK modal ของนพ.ธรณินทร์ กองสุข แบ่งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกระตุ้นไว้ ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยง
1 โรคทางจิตเวช ซึ่งบางโรคเท่านั้นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ซึมเศร้า, โรคจิตเภท, โรคไบโพลาร์, บุคลิกภาพผิดปกติและติดการพนัน จากข้อมูลของกระทรวมมหาดไทในปี 2565 พบว่า ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของการพยายามฆ่าตัวตายถึง 30.2 %
2 ตัวเองและบุคคลในครอบครัวเคยพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยในปี 2565 พบเช่นกันว่า ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของการพยายามฆ่าตัวตายถึง 30.6 %
3 โรคทางกายรุนแรงและเรื้อรัง โดยต้องเป็นโรคที่อยู่ในระยะที่สร้างความเจ็บปวดทรมานหรือต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายไป เช่น เบาหวานในระยะที่ตาเริ่มสูญเสียการมองเห็น มะเร็งหรือไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
4 การถูกกระทำในวัยเด็ก (วัยก่อนเข้าอนุบาล) ทั้งถูกทารุณไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางเพศและทางอารมณ์ ซึ่งรวมไปถึงการถูกทอดทิ้งไว้ลำพัง อย่างกรณี โตมากับพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาและต้องทิ้งเด็กให้อยู่คนเดียว
5 ติดสุราหรือสารเสพติด
6 มีบุคลิกหุนหันพลันแล่น

ปัจจัยกระตุ้น
1 ประสบปัญหาชีวิต โดยเหตุวิกฤตนี้ต้องมีลักษณะของการทำให้คน ๆ นั้น ‘รู้สึกพ่ายแพ้ล้มเหลวหรืออับอาย’ จนนำไปสู่ความรู้สึก ‘อับจนหนทาง’ (โดยมีข้อมูลจากกระทรวมมหาดไทในปี 2565 พบว่า ปัจจัยกระตุ้นประเภทนี้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอยู่ที่ 80.7% และปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ 25.3 %)
2 อาการทางจิตกำเริบ คือไม่ได้รับการรักษาโรคทางจิตอย่างต่อเนื่องดีพอ ซึ่งเป็นได้ทั้งโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการมองเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว
3 พิษจากสารเสพติด มีสารเสพติดหลายชนิดกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งสารเสพติดที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ากระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวายได้ก็คือ กัญชา เนื่องจากกัญชามีสารประกอบอยู่หลายชนิด สารชนิดที่เป็นยาจะเรียกว่า CBD แต่สารชนิดอื่น ๆ อีกมากมายไม่ได้ให้ผลทางการรักษาโรค
4 ข่าวการฆ่าตัวตาย การนำเสนอข่าวจำเป็นจะต้องละเว้นการนำเสนอวิธีการ หรือไม่ควรนำเสนอข่าวในลักษณะว่าการฆ่าตัวตายจะทำให้ไปสบาย รวมถึงข่าวการฆ่าตัวตายของคนดัง เพราะจะเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมฆ่าตัวตาย (copycat suicide) มีคำเรียกเฉพาะว่า ปรากฏการณ์แวเธอร์ (Werther effect)

จากแนวคิดข้างต้นจะเห็นได้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ดังนั้นในทางกลับกัน การป้องกันจึงสามารถทำได้จากหลายทาง เพราะการฆ่าตัวตายไม่ใช่เหตุบังเอิญ ปัจจัยป้องกัน การเฝ้าระวังและด่านกั้นจะเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้

แนวทางร่วมป้องกันการฆ่าตัวตาย

พฤติกรรมการฆ่าตัวตายเป็นเหตุการณ์ซับซ้อน มีเหตุปัจจัยร่วมที่หลากหลาย ตั้งแต่ ปัจจัยส่วนบุคคล สังคม จิตใจ วัฒนธรรม ชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หลักคิดดังกล่าวทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ภาครัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงผู้คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายที่คุณมีส่วนร่วมได้ มีดังนี้

1 ลดอคติและตราบาป ที่ผ่านมาสังคมยังคงมีอคติต่อการฆ่าตัวตาย ยังมองว่ามาจากความอ่อนแอ ซึ่งส่งผลให้ผู้คนปกปิดจนไม่สามารถให้ความช่วยเหลือหรือป้องกันได้ นอกจากนั้นยังมีการอิงภาพกับอาการทางจิตเวชซึ่งไม่ใช่การฆ่าตัวตายทุกกรณี และการฆ่าตายแท้จริงแล้วมีปัจจัยร่วมมากกว่านั้น
2 จัดการหรือบรรเทาปัจจัยกระตุ้น โดยตัวปัจจัยกระตุ้นนั้นคือปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและตรงกับปมปัญหาที่กำลังเผชิญ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ก็ต้องสามารถเข้ารับคำปรึกษาด้านความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์สามี-ภรรยา รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวกรณีพ่อแม่ลูกไม่เข้าใจกัน หรือปัญหาเกิดในด้านการเงินก็จำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาด้านการเงิน เป็นต้น
3 ร่วมเสริมปัจจัยปกป้อง คือการดูแลกันและกันในสังคม ตั้งแต่ระดับบุคคลเองที่มีทักษะแก้ปัญหา ระดับครอบครัวที่มีความอบอุ่น มีการสื่อสารกันในเชิงบวก และระดับชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกัน
4 ร่วมสร้างเครือข่ายช่วยเหลือจากหลากหลายวิชาชีพ คือการสร้างการช่วยเหลือทางสังคม (social support) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตของแต่ละคนที่มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านกฎหมาย ด้านการงาน การเรียนและสุขภาพ เช่น กรณีการติดหนี้หากถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าช่วยเหลือได้ หรือธนาคารก็มีร่วมช่วยเหลือดูแลการผ่อนชำระหนี้

การฆ่าตัวตายไม่ใช่เหตุบังเอิญ เมื่อทุกคนตั้งต้นด้วยความเข้าใจนี้ การป้องกันจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การทำให้เกิดการเข้าถึงการให้คำปรึกษาอย่างรวดเร็ว มาตรการไม่ให้คนเข้าถึงยาพิษ อุปกรณ์รวมถึงสถานที่เสี่ยงในการก่อเหตุก็มีส่วนช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ในส่วนของคนทั่วไป เราเองก็สามารถร่วมกันป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผ่านการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ผ่านการเป็นครอบครัวที่ดีต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง เป็นสังคมที่ดีที่ช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตของใครสักคนผ่านบทบาทหน้าที่ของตัวเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
คนสู้โรค ตอน ป้องกันการฆ่าตัวตาย
คนสู้โรค ตอน CHECK-UP สุขภาพ : สังเกตสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย
รู้เท่ารู้ทัน ตอน Suicide Contagion พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย
Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS ตอน รอด...จากการฆ่าตัวตาย
‘จิตแพทย์’ ห่วงวัยรุ่นใช้ ‘กัญชา’ เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตายสูง – จี้ปิดช่องว่างเปิดเสรี ไร้ควบคุมมิติสุขภาพ
ดูให้รู้ Dohiru ตอน รู้ให้ลึกเรื่องญี่ปุ่น : กระจกเตือนใจก่อนคิดฆ่าตัวตาย
พื้นที่ชีวิต ตอน ฆ่าตัวตายหรือมีชีวิต
กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทย หลังสถิติปี 64 พบ "ฆ่าตัวตาย" 5,000 คน
 

ข้อมูลจาก
งานเสวนา “องค์ความรู้พื้นฐานการฆ่าตัวตาย และ ข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย” โดย ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บรรยายโดย นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกซึมเศร้าฆ่าตัวตายโรคจิตเวชอาการจิตเวช
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่