เรียนรู้ภาวะคิดสั้น-ฆ่าตัวตาย เช็กสัญญาณอันตรายและวิธีป้องกัน


Thai PBS Care

2 มี.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เรียนรู้ภาวะคิดสั้น-ฆ่าตัวตาย เช็กสัญญาณอันตรายและวิธีป้องกัน

เราอาจได้ยินคำว่า “ฆ่าตัวตาย” ปรากฏขึ้นตามหน้าข่าวสารอยู่บ่อย ๆ หรือหันมาที่หน้าจอมือถือ มักจะเจอข้อความทำนอง “ตัดพ้อชีวิต” ไหลผ่านในหน้าฟีดโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ 

การฆ่าตัวตาย กลายเป็นอีกหนึ่ง “ปัญหาสังคม” ที่ทำให้ผู้คนต้องจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควร ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกเผยตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตาย มีจำนวนมากกว่า 700,000 รายต่อปี 

เป็นเรื่องไม่ดีแน่ หากจู่ ๆ ใครสักคนหนึ่ง จะลุกขึ้นมา “ปลิดชีพตัวเอง” ซึ่งไม่แน่ว่า วันหนึ่งภาวะอันตรายเหล่านี้ จะเกิดขึ้นกับเรา หรือคนรอบข้างก็เป็นได้

Thai PBS มีเรื่องราวความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงข้อสังเกตของผู้ที่กำลังมีภาวะสุ่มเสี่ยงอันตรายจากการฆ่าตัวตายมาบอกกัน เพื่อเป็นประโยชน์ และหลีกเลี่ยงต่อภาวะอันตรายเหล่านี้

ปัญหาการฆ่าตัวตาย เกิดจากอะไร ?

ด้วยปัจจัยของความเครียด ตลอดจนความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคม ล้วนเป็นบ่อเกิดของภาวะคิดสั้น-ฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกัน ความแข็งแรงทางสุขภาพจิตของผู้คนลดลง เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะอันไม่พึงประสงค์นี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลอีกหลายสาเหตุ อาทิ

  • ปัญหาด้านความสัมพันธ์
  • ปัญหาด้านแอลกอฮอล์
  • ปัญหายาเสพติด
  • ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
  • ปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ปัญหาทางจิตเวช
     

ปัจจุบันภาวะการฆ่าตัวตายกลายเป็น 1 ใน 10 สาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรโลก และสำหรับในประเทศไทย มีผู้ฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยปีละ 5,000 คน หรือทุก 1 ชั่วโมง มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 คน โดยการฆ่าตัวตายพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กอายุ 10 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุ 90 ปี

Did You Know ?

  • มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 700,000 รายต่อปี
  • 77% ของการฆ่าตัวตายทั่วโลก เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
  • การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี
  • วิธีการฆ่าตัวตายที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก คือ กินยาฆ่าแมลง, แขวนคอ, ใช้อาวุธปืน 

ข้อมูลจาก : WHO องค์การอนามัยโลก 

โรคซึมเศร้า เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายหรือไม่ ?

ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตเวช ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย หนี่งในโรคที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ โรคซึมเศร้า ผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย มักเกิดภาวะของการซึมเศร้ามาก่อน การเกิดภาวะซึมเศร้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความรู้สึกสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปจากชีวิต เช่น สอบตก อกหัก เสียคนรัก หย่าร้าง ตกงาน และอื่น ๆ 

ปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความเครียดที่รุนแรง และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไร้ทางออกและการป้องกัน นำมาซึ่งความรู้สึกซึมเศร้า ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอารมณ์ และความรู้สึกที่เบื่อขั้นรุนแรง ซึ่งความเศร้าขั้นรุนแรงแบบนี้ ทำให้คิดว่าตัวเองนั้นผิด ไร้ค่า และท้ายที่สุดก็จะคิดว่าตัวเองนั้นสมควรตาย

ทำอย่างไร เมื่อคนใกล้ชิดเป็น "โรคซึมเศร้า"

นอกจากโรคซึมเศร้า ยังมีภาวะของโรคอื่น ๆ ที่มีผลเชื่อมโยงต่อการฆ่าตัวตายอีกเช่นกัน อาทิ โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท โรควิตกกังวล สมองได้รับการกระทบกระเทือน รวมไปถึงอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และเจ็บป่วยรุนแรง จนส่งผลให้คิดสั้น

สังเกตสัญญาณ “อาการคิดสั้น” มีอะไรบ้าง ?

เช็กสัญญาณอันตราย "ภาวะคิดสั้น-ฆ่าตัวตาย"

สัญญาณเตือนผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย พึงสังเกตได้ดังนี้

  • รู้สึกสิ้นหวังและหมดหวังต่ออนาคต
  • ขังตัวเอง แยกตัวจากคนรอบข้าง
  • ก้าวร้าวและหงุดหงิดบ่อยขึ้น
  • วางแผนหรือค้นหาวิธีการตาย
  • ชอบพูดว่าต้องเป็นภาระผู้อื่น
  • ชอบพูดว่าอยากตาย
  • ชอบทำร้ายตัวเอง
  • ชอบมีพฤติกรรมเสี่ยงๆ
  • วางแผนงานศพตัวเอง
  • ยกสิ่งของให้ผู้อื่นมากเกินปกติ
  • ใช้ยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์หนัก 
  • ชอบขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย 
  • มองตัวเองในด้านลบเสมอ

วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย ต้องทำอย่างไร ?

“ภาวะคิดสั้น-ฆ่าตัวตาย” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือกับคนรอบข้าง อย่าปล่อยให้อาการเหล่านี้ทับถมจนสุดท้ายเกิดการสูญเสีย ลองปรับวิธีคิด และการปฏิบัติตัว ด้วยข้อแนะนำต่อไปนี้ 

  1. ฝึกปล่อยวาง หมั่นสังเกตความรู้สึกตนเอง ประคองสติให้อยู่กับปัจจุบัน เรื่องบางอย่าง หากไม่เป็นไปตามที่คิด ฝึกที่จะปล่อยวาง คิดเสียว่า ทุกสิ่งไม่ได้เป็นไปตามความอยากหรือความต้องการของเราเสมอไป
  2. มองหาคนที่รู้สึกไว้วางใจไว้พูดคุย เพื่อให้มีโอกาสระบายความรู้สึก เมื่อได้ระบายความรู้สึก เราจะได้รับมุมมองปัญหาที่แตกต่างไป ทำให้จัดการกับความคิดที่วุ่นวายในจิตใจได้มากขึ้น
  3. หาวิธีระบายด้วยตัวช่วยต่าง ๆ อาทิ เขียนลงในไดอารี วาดภาพ หรือหางานศิลปะที่ถนัด มาลงมือทำ เพื่อระบายความรู้สึก
  4. หากิจกรรมที่สนใจ เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อกับเรื่องอื่น ๆ พยายามเบี่ยงเบนจากความทุกข์หรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
  5. หมั่นออกกำลังกาย มีผลช่วยลดความเครียด เนื่องจากการออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งเอนโดฟิน หรือสารแห่งความสุข ช่วยลดความเครียด หรืออาการหดหู่ลงได้
  6. จัดระเบียบสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดภัย โดยเฉพาะการเลี่ยงนำสิ่งของที่อาจใช้ทำร้ายตัวเองออกไปให้ไกลตัว เช่น ยา มีด หรืออาวุธต่าง ๆ หรือหากบังคับตัวเองไม่ได้ ให้พยายามพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่รู้สึกปลอดภัย 
  7. จัดตารางชีวิตประจำวันให้เป็นระเบียบ และปฏิบัติตามนั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ลืมเรื่องทุกข์ใจ รวมทั้งทำให้รู้สึกดีที่สามารถเอาชนะใจตัวเองได้ 
  8. ลองตั้งเป้าหมายที่ทำได้ เช่น ไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่ชอบ อ่านหนังสือเล่มที่อยากอ่าน หรือฝึกทักษะบางอย่างใหม่ ๆ ให้สำเร็จ การวางเป้าหมายเหล่านี้ จะสร้างแรงจูงใจให้ชีวิตเดินไปข้างหน้า ไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับความคิดเดิม ๆ และมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต
  9. ควรมีเบอร์ติดต่อของเพื่อน สมาชิกในครอบครัวที่ช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน หรืออาจโทรติดต่อทางโรงพยาบาลเพื่อปรึกษากับแพทย์ พยาบาล หรือนักจิตวิทยา เพื่อบอกเล่ากรณีที่เกิดเรื่องไม่ดีมากระทบจิตใจ ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

Did You Know ?

  • สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ โทร 1323
  • หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 มีบุคลากรให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหา

“ชีวิต” ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แต่ชีวิตมี “แง่งาม” ที่สามารถมองหาได้รอบตัว เรียนรู้ที่จะมองหาความสุขของชีวิต ขณะเดียวกัน ก็พร้อมจะเข้าใจว่า ชีวิตไม่ได้ “สุขตลอดเวลา” แล้วทุก ๆ ปัญหาที่เข้ามา จะผ่านพ้นไป…

อ้างอิงข้อมูล
-Suicide – การฆ่าตัวตาย 
-ป้องกันการฆ่าตัวตาย สร้างได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี 
-วิธีจัดการกับความคิดอยากฆ่าตัวตาย 
-กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทย หลังสถิติปี 64 พบ "ฆ่าตัวตาย" 5,000 คน 

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-5 เหตุผล “ทำไมเราถึงชอบเสพข่าวฉาวของคนดัง”

-รู้จัก – รับมือ “อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว”

-ฟังดี ชีวิตเปลี่ยน แนะนำ 5 เสียง ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

การฆ่าตัวตายโรคซึมเศร้าสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ