ไอเดียนักวิจัยไทย เปลี่ยน “เปลือกหอยแมลงภู่” ขยะซึ่งภาระในการกำจัด ให้กลายเป็น “สารเคลือบกระดาษ” และ “สารดูดซับคราบน้ำมัน” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันดำเนินโครงการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง”
เนื่องด้วยเปลือกหอยมีสารแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCo3) ซึ่งสารประกอบหลักมากกว่าร้อยละ 95 ทีมวิจัยจึงร่วมกันศึกษาหาวิธีนำสารชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยผลิตภัณฑ์แรกที่พัฒนาได้สำเร็จคือ “สารเคลือบกันน้ำ” ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้เพิ่มสมบัติกันน้ำให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมกระดาษ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสารเติมเต็ม (filler) เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคลือบกระดาษชนิดย่อยสลายได้ 100% เช่น สารประเภทเซลลูโลสเบส (cellulose-based) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิตได้ เอื้อให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
โดยการผลิตสารเคลือบ ทีมวิจัยใช้กระบวนการแยกสารอินทรีย์ออกจากเปลือกหอยด้วยพลังงานความร้อนต่ำ เพื่อให้ได้ “สารแคลเซียมคาร์บอเนต” ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ 97 ก่อนนำมาลดขนาดให้เหลือประมาณ 100 นาโนเมตรเพื่อเพิ่มพื้นผิวสัมผัส แล้วนำไปเพิ่มคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) ด้วยสารสเตียริกแอซิด (stearic acid) ที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้สารที่ได้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเคลือบกระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยสารที่ผลิตนี้สามารถใช้เป็นสารเติมเต็มสารเคลือบกระดาษที่นำเข้าจากต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสารเคลือบให้มีคุณสมบัติพิเศษ “ดูดซับน้ำมัน” 2 ผลิตภัณฑ์ก็คือ “ฟองน้ำดูดซับคราบน้ำมัน” ที่เช็ดสะอาด ไม่ทิ้งคราบ ใช้งานได้นาน และ “สารฉีดพ่นเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน” ที่ใช้งานง่าย เพียงฉีดพ่นลงบนคราบน้ำมัน น้ำมันจะจับตัวเป็นก้อน สามารถนำผ้าหรือกระดาษเช็ดออกได้โดยไม่ทิ้งคราบ
เป้าหมายต่อไปคือการนำ “สารดูดซับน้ำมัน” ที่พัฒนาขึ้น มาใช้เป็น “สารเคลือบแผ่นกรองในระบบบำบัดน้ำ” เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบำบัดคราบน้ำมันบริเวณท่าเรือ
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)