พะเยา Learning City กับการแก้ไขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน


บทความพิเศษ

22 พ.ย. 65

กมลรัตน์ เสราดี

Logo Thai PBS
พะเยา Learning City กับการแก้ไขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน

 

ว่าด้วย “พะเยา”

เอ่ยชื่อ จ.พะเยา จังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือตอนบน หลาย ๆ คนอาจจะพอรู้จัก เคยได้ยิน หรือเคยมาเที่ยว เพราะนี่นี่มีกว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ที่อุดมไปด้วยปลาน้ำจืดมากมาย จนทำให้ “ปลาส้ม” กลายเป็นหนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของที่นี่ และถือเป็นเมืองที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานย้อนหลังไปได้จนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 เลยทีเดียวครับ แม้ว่า “พะเยา” จะเพิ่งถูกยกให้เป็นจังหวัดตามรูปแบบการปกครองปัจจุบันไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2520 หรือเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยถือเป็นจังหวัดใหม่ที่ก่อตั้งเป็นลำดับที่ 72 ของประเทศไทย

นอกจากนี้ แม้พะเยาจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 500,000 คนด้วยซ้ำ แต่กลับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การยูเนสโกเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities) ซึ่งในไทยมีแค่ไม่กี่จังหวัดเท่านั้น ถือเป็นความสำเร็จอันน่าสนใจของพะเยาที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ สถาบันการศึกษา เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่นที่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งจนสามารถผลักดันพะเยาให้กลายเป็นหนึ่งใน Learning Cities ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกได้สำเร็จ

ส่วนสาเหตุที่เราย้อนมาพูดถึงเรื่องราวของ จ.พะเยา เนื่องจากทางไทยพีบีเอส มหาวิทยาลัยพะเยา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ร่วมกันเปิดโครงการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นที่ จ.พะเยา เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนในพื้นที่ จ.พะเยา และสร้างฐานข้อมูลเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ให้นักเรียนยากจนสามารถเข้าถึงทุนการศึกษา ที่จะเป็นโอกาสในการเรียนต่อตามศักยภาพ โดยได้มีการจัดเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เองครับ

ซึ่งเมื่อพูดถึง “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” และ “ปํญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา” หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องไกลตัว หรือเรื่องที่ไม่น่าจะใหญ่โตอะไร เพราะเรื่องราวเหล่านี้มักไม่ค่อยถูกพูดถึงกันในพื้นที่สื่อมากนัก แต่ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เชื่อไหมครับว่าประเทศไทยเคยมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2564) แม้ในปัจจุบัน วิกฤติโควิดจะผ่อนคลายลงไปมาก ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น อัตราว่างงานลดลง ภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ก็เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบมากขึ้น ทำให้มีความพยายามที่จะหาทางดึงเด็ก ๆ ที่หลุดออกจากระบบ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง อาทิ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เป็นต้น ซึ่งก็ช่วยให้สถานการณ์เด็กหลุดออกระบบของไทยเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังมีเด็กที่ยังหลุดออกจากระบบมากกว่า 10,000 คนทีเดียวครับ

ซึ่งแม้ว่าวิกฤตโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่อันที่จริงปัญหานี้อาจมีมิติปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิดมาก ทั้งเรื่องครอบครัว ปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ที่เปราะบาง ซึ่งไทยพีบีเอสเองก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนใจและติดตามปัญหานี้มาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการลงพื้นที่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรับรู้ศึกษาสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ในระดับพื้นที่จนถึงระดับประเทศเพื่อที่จะทำความเข้าใจประเด็นปัญหาอย่างรอบด้านและร่วมแสวงหาทางออกในการที่จะดึงเด็กกลับคืนสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด และหาหนทางป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยจังหวัดล่าสุดที่ทางทีมงานได้ไปลงพื้นที่กันก็คือ พะเยา Learning City นี่แหละครับ

 

“พะเยา” First Time (ของผม)

หลังจากที่มีการประสานงานร่วมกันมาได้ระยะหนึ่ง ทีมงานไทยพีบีเอสก็ได้เดินทางมาที่ จ.พะเยา กันครับ ซึ่งการเดินทางมาที่พะเยานั้นอาจจะซับซ้อนอยู่นิดหน่อย เพราะที่พะเยานั้นไม่มีสนามบินครับ เส้นทางรถไฟก็ยังไปไม่ถึง เราจึงต้องเดินทางจากดอนเมืองมาที่จังหวัดเชียงรายกันก่อนครับ แล้วหลังจากนั้นค่อยหารถต่อไปพะเยาอีกประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดครับ ส่วนที่พักในพะเยาก็ไม่ได้ถือว่าหายากมากนัก แต่ถ้าเทียบกับจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ก็ถือว่าอาจจะยังน้อยอยู่ และส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก ตอนที่ไปนี่โรงแรมก็เต็มจนทีมงานต้องแยกโรงแรมกันอยู่เลยทีเดียวครับ 

แต่ด้วยความที่เป็นจังหวัดเล็ก ทำให้บรรยากาศในเมืองดูเงียบสงบและน่าอยู่มาก ขนาดว่าผมออกมาเดินเล่มตอน 8 โมง (ซึ่งอุณหภูมิยังชิลล์ ๆ แค่ 20 ต้น ๆ) ซึ่งที่อื่นจะถือเป็นช่วง Rush Hour ที่เด็ก ๆ ไปโรงเรียน และคนไปทำงาน แต่บรรยากาศที่นี่กลับดูเงียบ ๆ มีความ ต๊ะ ตอน ยอน แบบเมืองเหนือโบราณมาก ๆ เลยล่ะครับ แถมอาหารก็อร่อยดีด้วย เพราะที่นี่มีกว๊านพะเยาที่เป็นแหล่งปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ก็เลยมีปลาให้เลือกกินกันมากมาย แต่ที่ผมแนะนำก็คงเป็น กุ้งฝอยทอด นี่แหละครับ อร่อยจริง

งานของพวกเราเริ่มต้นในช่วงเช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยพะเยาได้พาทีมงานไทยพีบีเอสไปดูพื้นที่ เริ่มต้นจากแหล่งเรียนรู้บ้านจานไม้ศิริสุขของ คุณสุดา พัวศิริ และ คุณณรงค์ พัวศิริ ซึ่งที่นี่จะมีการจัดอบรมให้เด็ก ๆ ได้นำทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น มาแปรรูปเป็นของใช้ในครัวเรือน ช่วยประหยัดทรัพยากรและลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม 

โดยกิจกรรมที่ทีมงานจะร่วมทำกับเด็ก ๆ ในวันนี้ก็คือ การพิมพ์ลายบนผ้า Eco-Printing ซึ่งจะเป็นการนำดอกไม้ ใบไม้ ตามธรรมชาติมาทำเป็นลวดลายบนเสื้อ ถุงผ้า หรืออะไรก็ได้ที่เป็นผ้า ซึ่งสามารถนำไปใช้งานหรือต่อยอดผลิตเป็นสินค้าวางจำหน่ายได้ด้วยครับ โดยเด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรม ผมขออนุญาตไม่บอกว่า เป็นเด็ก ๆ จากที่ไหน เพราะมันอาจกระทบเรื่องปัญหาสิทธิเด็กในอนาคตได้ เพราะเด็กที่มาก็เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะด้วยปัญหาที่แตกต่างกันไป 

โดยในกลุ่มที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้ จะเป็นเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีปัญหามากกว่าเครื่องความยากจนอย่างเดียว แต่การที่เป็นเด็กกลุ่มชาติพันธุ์นั้น อาจจะมีความแตกต่างทั้งในเรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงศาสนา ที่บางครั้งมันก็อาจไม่ “สอดคล้อง” กับระบบ ซึ่งเป้าหมายของการแก้ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงไม่ใช่แค่การดึงเด็กกลับคืนสู่ระบบ แต่ยังต้องหากลไกที่ทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกันในระบบได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งการจะสร้างกลไกนั้นขึ้นมา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน คนในพื้นที่ ที่จะต้องทำความเข้าใจปัญหาร่วมกันแบบจริงจัง 

ซึ่งจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นวันนี้ เราก็เห็นความหวังเล็กๆ ว่า พะเยา อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในด้านของการเป็น Learning Cities ที่จะใช้การศึกษาในการช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ และสร้างกลไลที่จะทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของเด็กๆ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาลงได้

 

เรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน

วันที่ 4 พฤศจิกายน ได้มีการจัด “งานเปิดตัวโครงการการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นที่พะเยาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน” ขึ้นที่ลานหน้าอุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ซึ่งก็อยู่บริเวณกว๊านพะเยานั่นแหละครับ ถ้ามองในแง่ฮวงจุ้ยก็ถือว่าดีมากๆ เพราะด้านหน้าสามารถมองเห็นกว๊านพะเยา สัญลักษณ์ประจำจังหวัด ที่นอกจากวิวจะสวยแล้ว ลมยังเย็นดีด้วย เหมาะแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้สุดๆ โดยคุณสมยศ เกียรติอร่ามกุล  รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้เป็นตัวแทนของไทยพีบีเอสเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาร่วมกับตัวแทนจากองค์กรต่างๆ อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงาน กศน. องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา. มหาวิทยาลัยพะเยา และตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมากมาย จากข้อมูลที่ได้มีการเสวนาร่วมกัน ทำให้เราพบว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.พะเยา มีเด็กกว่า 1,300 คน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และบางคนหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วด้วย โดยสาเหตุสำคัญมาจากความยากจนของครอบครัวเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กชายขอบ ที่เป็นกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และกลุ่มเด็กพิการ ซึ่งมีปัญหาทับซ้อนตามมาอีกมาก จนนำไปสู่การเปิดโครงการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นที่พะเยา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนในพื้นที่ จ.พะเยา และสร้างฐานข้อมูลเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ให้นักเรียนยากจนสามารถเข้าถึงทุนการศึกษา ที่จะเป็นโอกาสในการเรียนต่อตามศักยภาพ

ที่น่าสนใจก็คือ ทางมหาวิทยาลัยพะเยา กำลังทดลองสร้างระบบการเรียนรู้ที่เด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และเด็กชายขอบ สามารถเข้าถึงได้ ด้วยการดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาเรียนรู้บน Learning space เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัด ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง และเมื่อเรียนแล้วสามารถเก็บหน่วยกิตผ่านมหาวิทยาลัยพะเยา โดยเด็กที่ผ่านการเรียนรู้ด้วยระบบนี้ จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง สามารถนำไปไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือเก็บหน่วยกิตเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยพะเยาในอนาคตได้ด้วย

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดกิจกรรม Learn & Laugh Craft Day เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะนำมาสร้างสรรค์งานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ เกิดเป็นรายได้และอาชีพเสริมในอนาคตได้ด้วย ซึ่งเด็กๆ ที่มาร่วมงานกว่า 20 โรงเรียนก็ดูสนุกสนานและให้ความสนใจเข้าร่วม Workshop กันจนคิวล้นทะลัก ส่วนคนที่เข้ามาจัด Workshop ในงานนี้ก็คือตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนต่างๆ ในจังหวัดพะเยานั่นเองครับ งานนี้จึงเป็นเหมือนการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่นำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์และถ่ายทอดให้กับเด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ไปสืบสานและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวพวกเขาเองและชุมชนนั่นเอง

แน่นอนครับว่า ระยะเวลาแค่วันสองวัน มันคงบอกอะไรไม่ได้ทั้งหมด งานนี้จึงเป็นแค่หมุดหมายเริ่มต้นที่ทำให้ภาคีทุกฝ่ายได้มารู้จักและเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองเห็นปัญหาร่วมกัน จากนั้นก็คือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่จะทำให้พะเยาไปสู่เป้าหมายที่จะลดการเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนด้วยการศึกษา เป็นพะเยา Learning Cities ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทั่วถึงและเท่าเทียม และกลายเป็นต้นแบบของจังหวัดเล็ก ๆ ที่นอกจากปลาและกุ้งฝอยทอดจะอร่อยแล้ว ยังจะกลายเป็นหมุดหมายของเหล่านักเรียนรู้ตัวน้อยๆ ที่จะแวะมาเยี่ยมเยือนและเก็บเกี่ยวภูมิปัญญาพื้นถิ่นของพะเยาไปต่อยอดใช้ประโยชน์ 

และทำให้เรารู้สึกว่า จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ มันทำให้เราเห็นว่า ประเทศของเรายังมีความหวังนะ...

 

📚 The Visual ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจปัญหา ร่วมกันออกแบบระบบการศึกษาไทย เพื่อไม่ให้ใครต้องหลุดออกนอกระบบระหว่างทาง และพา “เพื่อนที่หายไป” กลับห้องเรียน ที่ "เจาะปัญหาการศึกษาไทย กับชีวิตเด็กไทยที่หลุดออกนอกระบบ"

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Learning City พะเยา
กมลรัตน์ เสราดี
ผู้เขียน: กมลรัตน์ เสราดี

ผู้ชำนาญการยุทธศาสตร์เนื้อหา

บทความ NOW แนะนำ