ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหตุใด “สุนัข” จึง “กินช็อกโกแลต” ไม่ได้ รู้จักสิ่งที่เป็นพิษต่อน้องหมา


แชร์

เหตุใด “สุนัข” จึง “กินช็อกโกแลต” ไม่ได้ รู้จักสิ่งที่เป็นพิษต่อน้องหมา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2886

เหตุใด “สุนัข” จึง “กินช็อกโกแลต” ไม่ได้ รู้จักสิ่งที่เป็นพิษต่อน้องหมา

เราอาจจะได้ยินกันมาต่อ ๆ กันว่าห้ามให้สุนัข (หมา) กินช็อกโกแลต แต่รู้หรือไม่ว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรให้สุนัขกินช็อกโกแลต รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการนำอาหารหรือขนมของมนุษย์ให้สุนัขกิน นั่นเป็นเพราะว่าอาหารหลาย ๆ อย่างของมนุษย์เป็นพิษต่อสุนัขนั่นเอง

สุนัข (น้องหมา) ถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ทำให้มันสัมผัสกับอาหารของมนุษย์อย่างใกล้ชิด และหลายครั้งก็ได้กินอาหารที่ปรุงสำหรับมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาหารเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุนัขในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เราจะมาสำรวจอาหารบางประเภทที่น่าอร่อยสำหรับมนุษย์ แต่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพสุนัข

สาร Theobromine พบในช็อกโกแลต เป็นพิษต่อสุนัข

ช็อกโกแลตเป็นหนึ่งในขนมที่เป็นพิษต่อสุนัขอย่างร้ายแรง สารออกฤทธิ์หลักที่เป็นพิษในโกโก้คือ ทีโอโบรมีน (Theobromine) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเมทิลแซนทีน (Methylxanthine) เช่นเดียวกับกาเฟอีน (Caffeine) สารกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) และหัวใจ ทำให้เกิดการหลั่งสารจำพวกแคเทโคลามีน (Catecholamine) อย่างอะดรีนาลีน (Adrenaline) ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อสั่น และอาจถึงขั้นชักหรือหัวใจล้มเหลวได้หากได้รับในปริมาณมาก

ทีโอโบรมีนจะไปยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phosphodiesterase) ในเซลล์ เอนไซม์นี้มีหน้าที่ย่อยสลายไซคลิกเอเอ็มพี (cyclic AMP หรือ cAMP) ผลคือเกิดการสะสมของ cAMP ภายในเซลล์ ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์หัวใจและระบบประสาทเกินขนาด พร้อมทั้งยับยั้งตัวรับอะดีโนซีน (Adenosine) ที่ปกติช่วยควบคุมการตื่นตัวและการเต้นหัวใจ

ในมนุษย์ ร่างกายสามารถจัดการทีโอโบรมีนได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านกระบวนการเติมสารเมทิล (Methylation) ที่ตับ โดยอาศัยเอนไซม์ไซโทโครม (Cytochrome) P450 1A2 หรือ CYP1A2 ซึ่งสุนัขมีปริมาณเอนไซม์นี้ต่ำมาก ทำให้สุนัขกำจัดทีโอโบรมีนช้ากว่ามนุษย์หลายเท่า ค่าครึ่งชีวิต (Half-life) หรือช่วงเวลาที่ปริมาณสารลดลงไปครึ่งหนึ่ง ของทีโอโบรมีนในเลือดของสุนัขอยู่ที่ประมาณ 17.5 ชั่วโมง เทียบกับเพียง 8–12 ชั่วโมงในมนุษย์ ดังนั้นแม้ปริมาณเล็กน้อยของโกโก้ก็สามารถสะสมในร่างกายสัตว์เลี้ยงจนเกิดพิษได้

ค่าความเป็นพิษเฉียบพลันหรือ LD50 (Lethal Dose 50% ปริมาณสารต่อน้ำหนักตัวที่จะทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50%) ของทีโอโบรมีน ในสุนัขอยู่ที่ประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวกิโลกรัม ขณะที่มนุษย์มี LD50 อยู่ที่ประมาณ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

อาการแสดงทางคลินิกของสุนัขที่ได้รับทีโอโบรมีนเกินขนาดได้แก่ หอบ ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหมดสติ โดยสัตวแพทย์จะรักษาด้วยการทำให้อาเจียน (Emesis) ให้ถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) เพื่อดูดซับสารพิษ การให้ยากันชัก รวมถึงยาควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

Xylitol เป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลซึ่งพบในลูกอมและหมากฝรั่ง เป็นพิษต่อสุนัข

ไซลิทอล (Xylitol) เป็นสารให้ความหวานที่นิยมใช้แทนน้ำตาลในลูกอม หมากฝรั่ง และขนมคาร์โบไฮเดรตปริมาณต่ำ โดยไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดในมนุษย์ แต่ในสุนัข กลับมีผลตรงกันข้าม เพราะไซลิทอลกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) นอกจากนี้ไซลิทอล ยังอาจทำให้เกิดภาวะตับล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Hepatic Failure) อีกด้วย

อโวคาโดมีไขมันสูงและมีสาร Persin ซึ่งเป็นพิษต่อสุนัข

อะโวคาโดมีสารต้านเชื้อราชื่อเพอร์ซิน (Persin) แต่กลับเป็นพิษต่อสัตว์หลายชนิด รวมถึงสุนัข เพอร์ซินมีผลต่อระบบหัวใจ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Necrosis) และอาจก่อให้เกิดการสะสมของของเหลวในช่องอกหรือช่องท้อง (Effusion) ในสัตว์บางชนิด

นอกจากนี้ อะโวคาโดมีปริมาณไขมันสูง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ได้ในสุนัขที่มีความไวต่อไขมัน กลไกเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเอนไซม์ย่อยอาหารในตับอ่อนให้ทำงานก่อนเวลาอันควร ทำให้ย่อยทำลายเนื้อเยื่อตับอ่อนของตัวเอง

องุ่นและลูกเกดอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในสุนัขได้

องุ่นและลูกเกดเป็นอีกหนึ่งอาหารที่เสี่ยงเป็นพิษต่อสุนัขโดยมักทำให้สุนัขเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Disease หรือ AKD) จากเนื้อเยื่อท่อไตตายหรือเสียหาย (Proximal Renal Tubular Necrosis) อย่างไรก็ตาม กลไกการเกิดโรคในสุนัขจากการกินองุ่นหรือลูกเกดยังไม่ชัดเจน การรักษามักเป็นการกระตุ้นให้อาเจียน และประคองอาการ รวมถึงการฟอกไตหรือกระตุ้นให้ฉี่ด้วยยาขับปัสสาวะ

เรียบเรียงโดย 
Chottiwatt Jittprasong
Prince of Wales Hospital
Department of Orthopaedics & Traumatology
Faculty of Medicine, The Chinese University of Hong Kong


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สุนัขสุนัขท้องเสียกินช็อกโกแลตหมากินช็อกโกแลตหมากินช็อกโกแลตไม่ได้ช็อกโกแลตน้องหมาทาสหมาหมาวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech

ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด