สตาร์ตอัปในเท็กซัสคิดค้นผ้าอ้อมที่ย่อยสลายได้ กำจัดขยะครัวเรือนด้วยการนำเชื้อราชนิดกินพลาสติกใส่ในผ้าอ้อมเพื่อย่อยสลาย โดยไม่ต้องใช้สารเคมีอื่นเพิ่มเติม
อุจจาระเด็กและเชื้อราสามารถทำงานร่วมกันได้ดีในการจัดการกับขยะฝังกลบ สตาร์ตอัปผู้ผลิตจากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นและจัดจำหน่ายผ้าอ้อมเด็กพร้อมเชื้อราที่ย่อยพลาสติกได้เอาไว้ใส่ลงไปในผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้งานแล้วที่ต้องการทิ้ง หลังจากผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เชื้อราจะถูกกระตุ้นด้วยความชื้นจากอุจจาระ ปัสสาวะ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อเริ่มกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ
ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมีส่วนทำให้เกิดขยะฝังกลบเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี 2018 ผ้าอ้อมสำเร็จรูปในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกกำจัดไปประมาณ 4 ล้านตัน โดยไม่มีการรีไซเคิลหรือทำปุ๋ยหมักเป็นจำนวนมาก ผ้าอ้อมสำเร็จรูปต้องใช้เวลาหลายร้อยปีจึงจะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
การหันมาใช้เชื้อราเพื่อช่วยย่อยสลายผ้าอ้อมเด็กจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ จากข้อมูลในปี 2011 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลได้ค้นพบเชื้อราชนิดหนึ่งในเอกวาดอร์ที่สามารถกินโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นพอลีเมอร์ทั่วไปในผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งคาดว่าเชื้อราชนิด Pestalotiopsis microspora จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนพลาสติกในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจน เช่น ในหลุมฝังกลบ และในปัจจุบันยังมีผู้ค้นพบว่ามีเชื้อราที่สามารถย่อยพลาสติกได้มากกว่า 100 สายพันธ์ุ
ในขั้นตอนการทดลอง บริษัทได้นำผ้าอ้อมใส่ไว้ในขวดโหล 3 ใบที่ปิดผนึก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการสลายตัวของผ้าอ้อมที่ผ่านการบำบัด เมื่อเวลาผ่านไป 9 เดือน ผ้าอ้อมกลายเป็นดินสีดำ ซึ่งหมายถึงพลาสติกถูกย่อยสลายและกลายเป็นดิน ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตยังมีการทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาวิธีการสลายตัวเมื่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ผ้าอ้อมย่อยสลายได้มีแนวคิดเบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เพียงต้องการแก้ปัญหาทางกายภาพ แต่ยังต้องการเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคให้ตระหนักถึงผลกระทบจากของที่ใช้แล้วทิ้ง เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามกับตนเองว่า “สิ่งที่เราทิ้งไปมันหายไปไหน?”
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: reuters, nonwovens-industry, HIRO Technologies
ที่มาภาพ: HIRO Technologies
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech