ผลการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 คน ในสหราชอาณาจักร ยอมรับว่ารู้สึกสับสนกับคำศัพท์ดิจิทัล อย่างเช่น Hyperlinks, Phishing และ Cloud รวมถึงคำว่า "Smartphone" ด้วย
11 ล้านคนในสหราชอาณาจักร คิดเป็น 18.6% ของประชากรทั้งหมด มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
25% ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ขาดทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างอิสระ
61% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยอมรับว่า การออนไลน์ช่วยให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
การวิจัยใหม่ที่จัดทำโดย BT Group บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของอังกฤษ พบว่า 1 ใน 6 ของผู้สูงอายุยอมรับว่ารู้สึก “งุนงง” กับคำศัพท์ดิจิทัล และ 78% รู้สึกล้าหลังเนื่องจากขาดความรู้
การศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 คน พบว่า Smishing ครองแชมป์ศัพท์ที่คนไม่เข้าใจมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีคำว่า Hyperlinks, Phishing, Cloud, Processor, Malware และ USB-C ยังติด 20 อันดับแรกของคำศัพท์ที่น่าสับสนด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 11 คิดว่าคำศัพท์ดิจิทัลมีความซับซ้อนมากจนภาษาต่างประเทศจะเรียนรู้ได้ง่ายกว่า
การสำรวจยังพบว่า ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีใช้เวลาท่องโลกออนไลน์เพียง 5 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ โดยร้อยละ 78 รู้สึกล้าหลัง เนื่องจากขาดความรู้ และอีกมากกว่าครึ่ง (54%) หวังว่าจะมีความรู้มากขึ้น ขณะที่อีก 17% รู้สึกว่าขาดแรงจูงใจ
สำหรับปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ความรู้สึกว่า “มีอะไรให้เรียนรู้มากเกินไป” หรือต้องการใครสักคนมาแสดงให้เห็นว่าต้องทำอะไร แต่ร้อยละ 16 กังวลว่า ผู้อื่นจะมองว่าตนเป็นภาระหากขอความช่วยเหลือในการทำความเข้าใจเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ขณะที่ ความรู้สึกสำหรับผู้ที่ประสบปัญหากับศัพท์เฉพาะทางออนไลน์ คือ ความหงุดหงิด
จากข้อมูลของ OnePoll.com พบว่า เทคโนโลยีช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความสะดวกสบาย และสะดวกในการติดต่อกับเพื่อนฝูงและครอบครัว ถือเป็นเรื่องดีเกี่ยวกับโลกออนไลน์ แต่หลาย ๆ คนกลับพูดถึงเรื่องเชิงลบ เช่น ร้อยละ 34 กล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาชอบน้อยที่สุดในการออนไลน์ คือ “การหลอกลวง” โดยร้อยละ 14 มีข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ร้อยละ 10 ยังเน้นย้ำว่าข้อมูลบางส่วนที่พวกเขาเห็นทางออนไลน์นั้นไม่น่าเชื่อถือ
วิกตอเรีย จอห์นสัน โฆษกของ BT Group กล่าวว่า เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต คนรุ่นเก่าก็จะเข้าใจคำศัพท์เฉพาะทางออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ยากยิ่งขึ้น แต่สำหรับใครก็ตามที่ไม่ใช่ชาวดิจิทัลและไม่ได้เติบโตมากับสมาร์ตโฟน หรือบรอดแบนด์ความเร็วสูง มันอาจรู้สึกเหมือนเป็นโลกใหม่สำหรับบางคน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เห็นจากการวิจัยว่า ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระเมื่อเข้าขอความช่วยเหลือในเรื่องเทคโนโลยี
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าใจคำศัพท์เฉพาะทางออนไลน์ได้ดีขึ้น จึงได้สร้างพจนานุกรมดิจิทัลร่วมกับนักเขียนพจนานุกรม ซูซี่ เดนต์ และ abilityNet องค์กรเพื่อการกุศลในสหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกันสร้าง "พจนานุกรมดิจิทัล" ซึ่งประกอบด้วยคำศัพท์ที่เข้าใจผิดบ่อยที่สุดที่ใช้บนอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นแนวทางที่ทำให้คนเข้าใจศัพท์ดิจิทัลมากขึ้น
มาดูกันว่า “ศัพท์ดิจิทัล” ที่คนอายุเกิน 65 ปีไม่เข้าใจ มีอะไรบ้าง
1. Smishing มาจาก SMS Phishing คือ การส่ง SMS มาเพื่อหลอกล่อให้กดลิงก์หรือว่าให้ดาวน์โหลดโปรแกรมมัลแวร์ที่จะแอบติดตั้งเข้าไปอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือได้ เป็นต้น
2. Vishing มาจาก Voice Phishing คือ การหลอกล่อล้วงข้อมูลผ่านทางเสียง โดยแฮกเกอร์หรือผู้ไม่ประสงค์ดีจะใช้วิธีการปลอมตัวแล้วโทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลไป เช่น อาจจะโทรมาแล้วแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วขอเลขบัตรเครดิต หรือเลขบัตรประชาชน
3. Hyperlink ในพจนานุกรมฉบับนี้ เปรียบเทียบว่า เสมือนประตูวิเศษไปยังหน้าเว็บอื่น เช่น พจนานุกรมคำศัพท์ดิจิทัล คลิก www.bt.com เมื่อคลิกที่ตัวหนังสือสีฟ้า จะพาไปที่หน้าเว็บอื่นทันที ข้อสังเกตไฮเปอร์ลิงก์มักจะเป็นสีน้ำเงินและขีดเส้นใต้ ที่สำคัญควรคลิกลิงก์ที่คุณรู้จักจากเว็บไซต์ที่ไว้วางใจเท่านั้น
4. USB-C เป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ คิดเหมือนปลั๊กไฟรุ่นทันสมัย สามารถใช้ USB เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ไปยังเครื่องพิมพ์ ไปยังกล้องเพื่อถ่ายโอนรูปภาพ หรือไปยังโทรศัพท์ เป็นวิธีทั่วไปในการทำให้อุปกรณ์ทำงานได้โดยไม่ต้องใช้สายเคเบิลหลาย ๆ เส้น USB-C เป็นเวอร์ชันที่ใหม่กว่า เร็วกว่า และสะดวกกว่า สายเคเบิลนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความเร็วและความสะดวกในการใช้งาน (อ่านเพิ่มเติมคลิก จอเสริม HDMI กับ USB-C เลือกใช้อะไรดี)
5. Ransomware โปรแกรมที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อล็อกไฟล์สำคัญแล้วขอให้จ่ายเงินค่าไถ่ เพื่อนำไฟล์กลับคืนมา (อ่านเพิ่มเติมคลิก 4 วิธีป้องกัน Ransomware)
6. URL เป็นที่อยู่เว็บเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่พิมพ์ลงไปบนแถบที่อยู่ของเบราว์เซอร์ เพื่อเยี่ยมชมหน้าเว็บเฉพาะ เป็น "ที่อยู่" ออนไลน์ของเว็บไซต์ เพื่อนำทางคอมพิวเตอร์ไปยังหน้าเว็บที่ถูกต้อง เช่น https://www.thaipbs.or.th/
7. Phishing การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตรูปแบบหนึ่งที่จะหลอกล่อให้ “เหยื่อ” กรอกข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเช่น รหัสผ่าน เลขที่บัญชี เพื่อที่แฮกเกอร์จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ โดยอาจจะปลอมแปลงตัวเองเพื่อไปทำธุรกรรมออนไลน์หรือว่านำข้อมูลไปขาย เจาะระบบขององค์กร เป็นต้น ฟิชชิ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งอีเมล โปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย โพสต์ และข้อความ หรือเว็บไซต์ปลอม โดยทั่วไปแล้ว นักต้มตุ๋นจะอ้างตัวว่าเป็นพนักงานจากบริษัทที่มีชื่อเสียงหรือแกล้งปลอมตัวเป็นบุคคลที่คุณรู้จัก เพื่อขอให้คุณให้ข้อมูลรหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ และหากพวกเขาสามารถเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้งานของคุณได้ พวกเขาอาจใช้บัญชีของคุณในการส่งสแปมอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมคลิก 6 วิธีง่าย ๆ ให้ปลอดภัยจากการฟิชชิ่ง)
8. QR code รหัส QR อาจเป็นทางเลือกแทนที่อยู่เว็บ หรือ URL ประกอบด้วยสี่เหลี่ยมและเส้นสีดำเล็ก ๆ และเมื่อสแกนด้วยกล้องของอุปกรณ์เช่น
สมาร์ตโฟนก็สามารถพาคุณเข้าสู่เว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว รหัส QR ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างเช่นร้านอาหาร เมื่อสแกนแล้ว สามารถนำคุณไปยังเว็บไซต์ ซึ่งมีรายละเอียดเมนู เพื่อให้คุณไม่ต้องสัมผัสเล่มเมนูรุ่นกระดาษที่ผ่านมาแล้วหลายมือ
9. Cloud คลาวด์ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตแทนการเก็บไฟล์ทั้งหมดไว้ในอุปกรณ์ของตัวเอง สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ไปไว้บนคลาวด์และเข้าถึงได้ทุกที่ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถจัดเก็บ และใช้งานได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเองก็ตาม
10. Malware มัลแวร์ คือ โปรแกรมที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และสร้างปัญหาด้วยการขโมยข้อมูลหรือทำให้อุปกรณ์หยุดทำงาน (อ่านเพิ่มเติมคลิก How to รู้ทริก มือถือแอนดรอยด์ปลอดภัยจาก “มัลแวร์”)
11. IP address คือ หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง สามารถบอกได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ที่ไหน ซึ่งสามารถระบุได้ผ่าน IP address และแต่ละ IP address จะไม่ซ้ำกัน ช่วยให้รู้ว่าจะส่งและรับข้อมูลจากที่ไหน
12. Cookies คุกกี้ไม่ใช่ชื่อเรียกเบเกอรี่ แต่คือ ไฟล์ขนาดเล็ก เมื่อใดก็ตามที่เข้าไปชมเว็บไซต์ จะถูกถามว่า “คุณต้องการ 'ยอมรับคุกกี้' หรือไม่” คุกกี้ เป็นไฟล์ขนาดเล็กที่เว็บไซต์บันทึกไว้ในอุปกรณ์ของคุณเมื่อเข้าไปชมเว็บไซต์เหล่านั้น ช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น หากเข้าเว็บขายสินค้าออนไลน์ แล้วมีสินค้าใส่เอาไว้ในตะกร้า หากไม่มี Cookie เมื่อเราปิดหน้าเว็บไป สินค้าในตะกร้าก็จะหายไปด้วย แต่อย่างไรก็ดีข้อมูลจะถูกบันทึกหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าได้กดยอมรับคุกกี้เหล่านี้หรือไม่
13. Streaming สตรีมมิ่ง คือ การรับส่งสัญญาณการรับชมทั้งภาพและเสียง เช่น ภาพยนตร์หรือรายการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดลงในอุปกรณ์ ตราบใดที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์หรือรายการจะเล่นต่อแบบเรียลไทม์
14. Tabs เป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปิดหน้าเว็บไซต์หลาย ๆ หน้าพร้อมกัน
15. Processor หน่วยประมวลผลกลาง หรือ CPU เป็นฮาร์ดแวร์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีปฏิสัมพันธ์กับแอปพลิเคชันและโปรแกรมต่าง ๆ
16. Spam หมายถึง การส่งอีเมลหรือข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้รับ ส่วนใหญ่ทำเพื่อการโฆษณาเชิงพาณิชย์ มักจะเป็นสินค้าที่น่าสงสัย หรือการเสนองานที่ทำให้รายได้อย่างรวดเร็ว หรือบริการที่ก้ำกึ่งผิดกฏหมาย ซึ่ง spam mail นี้มีมากและมักก่อความรำคาญให้กับผู้ที่ได้รับ
17. Antivirus โปรแกรมที่ถูกเขียน และพัฒนาขึ้นมาปกป้องระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ คอยตรวจจับ ป้องกัน สิ่งแปลกปลอมหรือไวรัส ที่อาจเข้ามาในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ โปรแกรม Antivirus มี 2 แบบหลัก ๆ คือ Anti-Virus เป็นโปรแกรมป้องกันไวรัสทั่ว ๆ ไป จะค้นหาและทำลายไวรัสในคอมพิวเตอร์ของเรา และ Anti-Spyware เป็นโปรแกรมป้องกันการโจรกรรมข้อมูลจากไวรัสสปายแวร์และจากแฮกเกอร์ รวมถึงการกำจัด Adsware ซึ่งเป็นป๊อปอัปโฆษณาด้วย
18. Hardware อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ มองเห็นด้วยตาและสัมผัสได้ มักจะเป็นอุปกรณ์ เช่น แผงวงจร โปรเซสเซอร์ จอภาพ คีย์บอร์ด เมาส์ และโทรศัพท์
19. Browser หากเครื่องมือค้นหา คือ บรรณารักษ์ เบราว์เซอร์ คือ ห้องสมุด อินเทอร์เน็ตเบราว์เซอร์ช่วยให้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยคุณค้นหาและดูเว็บไซต์ เบราว์เซอร์เป็นแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้การดาวน์โหลด หรืออาจรวมอยู่ในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ เบราว์เซอร์ยอดนิยม ได้แก่ Microsoft Edge, Google Chrome และ Mozilla Firefox
20. Upload เป็นการใส่ไฟล์จากอุปกรณ์เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้อื่นสามารถดูหรือใช้งานได้ ตรงข้ามกับ Download ที่เป็นการการคัดลอกบางสิ่งจากอินเทอร์เน็ตไปยังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ของคุณ
21. USB เป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ คิดเหมือนปลั๊กไฟรุ่นทันสมัย สามารถใช้ USB เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ไปยังเครื่องพิมพ์ ไปยังกล้องเพื่อถ่ายโอนรูปภาพ หรือไปยังโทรศัพท์ เป็นวิธีทั่วไปในการทำให้อุปกรณ์ทำงานได้
โดยไม่ต้องใช้สายเคเบิลหลาย ๆ เส้น
22. Social media โซเชียลมีเดียเป็นสถานที่ออนไลน์ที่ผู้คนแชร์รูปภาพและความคิดและติดต่อกับเพื่อน ๆ เหมือนกับสนามเด็กเล่นดิจิทัลที่สามารถพบคนที่ชอบสิ่งเดียวกันและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก พร้อมทั้งยังเป็นวิธีสะดวกในการติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวแม้ว่าจะไม่อยู่ข้าง ๆ กันก็ตาม หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกันก็ยังแชตหรือแชร์ประสบการณ์ทางออนไลน์ได้ โดยเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีความแตกต่างกันเช่น Instagram เหมาะสำหรับการแชร์รูปภาพ ในขณะที่ Facebook เชื่อมต่อกับเพื่อนและเข้าร่วมกลุ่มความสนใจในพื้นที่ท้องถิ่น หรือกิจกรรมต่าง ๆ
23. Emoji อิโมจิ คือ 😊 รูปภาพหรือสัญลักษณ์เล็ก ๆ ที่สามารถใช้เพื่อส่งข้อความบนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบคำพูดจำนวนมาก ดังนั้นอิโมจิจึงสามารถเพิ่มความสนุกสนาน และการแสดงออกแทนข้อความ โดยมีอิโมจิสำหรับอารมณ์ และยังเป็นตัวแทนของสิ่งของ สัตว์ อาหาร และอื่น ๆ ได้อีกด้วย คำว่า “อิโมจิ” มาจากคำภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า 'รูปภาพ' และ ‘ตัวละคร’ (อ่านเพิ่มเติมคลิก Emoji Kitchen ผสมอิโมจิ 2 ตัว กลายเป็นอิโมจิใหม่ ทำบน Search Engine ได้แล้ว)
24. Webpage เหมือนกับหน้าในหนังสือ เป็นหน้าข้อมูลที่เขียนขึ้นในรูปแบบภาษา HTML ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังเอกสารหน้าอื่นได้ โดยใน Webpage จะแสดงทั้งตัวอักษร รูปภาพ และวิดีโอ หน้าเว็บเพจหลาย ๆ หน้าที่เชื่อมโยงกันจะประกอบกันเป็นเว็บไซต์
25. App หรือ Application แอปพลิเคชัน - มักเรียกสั้น ๆ ว่า “แอปฯ” เป็นเครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต โดยออกแบบมาเพื่อทำงานบางอย่าง เช่น การเล่นเกม ส่งข้อความ แต่งภาพ หรือค้นหาเส้นทางบนแผนที่
26. Google เป็นผู้ให้บริการ Search Engine เครื่องมือค้นหาที่นิยมมากที่สุดและใช้กันอย่างแพร่หลาย จนคนเรียกติดปากว่า “Google” นอกจากนี้บริการของ Google ยังมีอีกมากมาย เช่น เป็น Browser ด้วย มีชื่อว่า Google Chrome และที่รู้จักกันมากคือ Google Maps แผนที่ประเทศและเขตแดน มาพร้อมกับสภาพจราจรและข้อมูลสถานที่ต่าง ๆ
27. Download การดาวน์โหลด คือ การคัดลอกบางสิ่งจากอินเทอร์เน็ตไปยังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ของคุณ เพื่อให้สามารถใช้งานได้แม้ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เหมือนกับการนำของกลับบ้านจากร้านค้า คุณจึงสามารถใช้งานได้ทุกเมื่อที่ต้องการ การดาวน์โหลดช่วยให้เข้าถึงสิ่งต่างๆ เช่น วิดีโอ เอกสาร รายการเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคาร หรือใบเสร็จรับเงินจากอินเทอร์เน็ตและเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการดาวน์โหลด คือ การอัปโหลด (Upload) การใส่ไฟล์จากอุปกรณ์เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้อื่นสามารถดูหรือใช้งานได้
28. Search Engine เครื่องมือค้นหาเหมือนบรรณารักษ์ หากมีคำถามหรือกำลังมองหาบางสิ่งที่เฉพาะเจาะจง ก็สามารถพิมพ์ลงไปบน Search Engine ได้ เมื่อเข้าสู่เครื่องมือค้นหาแล้ว จะพบกับรายชื่อเว็บไซต์และข้อมูลที่จะช่วยค้นหาคำตอบ ซึ่ง Search Engine ที่เป็นที่นิยมได้แก่ Google
29. Software ซอฟต์แวร์ คือ ชุดคำสั่งที่บอกคอมพิวเตอร์ว่าต้องทำอะไร เช่นเดียวกับใช้สูตรในการทำเค้ก ซอฟต์แวร์จะบอกคอมพิวเตอร์ว่าต้องทำอย่างไร เช่น การรันโปรแกรม การแสดงรูปภาพ หรือการเล่นเพลง คือสิ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้ ในด้านอื่น ๆ ซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์เปรียบเสมือนสมอง ไม่ใช่วัตถุทางกายภาพ จึงไม่สามารถสัมผัสได้ ไม่เหมือนฮาร์ดแวร์คือ สิ่งของทางกายภาพที่คุณสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ มักจะเป็นอุปกรณ์ เช่น แผงวงจร โปรเซสเซอร์ จอภาพ คีย์บอร์ด เมาส์ และโทรศัพท์
30. Smartphone สมาร์ตโฟนคืออุปกรณ์ที่รวมโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ไม่เพียงแต่สามารถพูดคุยและส่งข้อความเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ แต่ยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ต ถ่ายรูป และวิดีโอ ตลอดจนดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ สมาร์ตโฟนยังมีระบบสัมผัสหน้าจอแทนปุ่มกดอีกด้วย
อ่านพจนานุกรมคำศัพท์ดิจิทัล คลิก www.bt.com
ที่มา : independent.co.uk / pitch.co.uk / yahoo.com / BT Group / cyfence.com / adpt.news
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech