ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แสงส่องแห่งทะเลคู่วิถีชาวเรือ "ประภาคารสันดอน" ประภาคารแห่งแรกในประเทศไทย


ประวัติศาสตร์

9 พ.ย. 66

อาริสา เพียนชะกรณ์

Logo Thai PBS
แชร์

แสงส่องแห่งทะเลคู่วิถีชาวเรือ "ประภาคารสันดอน" ประภาคารแห่งแรกในประเทศไทย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/485

แสงส่องแห่งทะเลคู่วิถีชาวเรือ "ประภาคารสันดอน" ประภาคารแห่งแรกในประเทศไทย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

"แสงส่องท้องทะเลไทย
แสงแรกที่เลือนลับหายตามการเวลา
เป็นจุดประดับประทับบนท้องฟ้า
เจ้าพระยาประภาคารตำนานทะเล"

ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา เป็นประภาคารแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมการก่อสร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 ใช้มาจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 รวมระยะเวลา 55 ปี 22 วัน

“แสงส่องแห่งทะเล”

ประภาคาร (Light house) สิ่งก่อสร้างรูปหอคอย มีตะเกียงส่องไฟอยู่ด้านบน สร้างไว้ในตำแหน่งที่มีความสำคัญมากต่อการเดินเรือ อย่างจุดที่อันตราย จุดเริ่มเข้าใกล้ฝั่ง หรือตำแหน่งที่เรือจะใช้เปลี่ยนเข็มเดินทาง คือ เปลี่ยนทิศทางที่จะเดินเรือต่อไป

ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ข้อมูลตามราชกิจจานุเบกษาในขณะนั้นระบุว่าตั้งอยู่ในละติจูด 13 ( ดีกรี ) องศา 29 มินิศ  ( ลิปดา ) 26 เสกัน ( ฟิลิปดา ) เหนือ นับข้างทิศตะวันออก ลอนยิศจุน 100 ดีกรี ( องศา ) 35 มินิศ ( ลิปดา ) 20 เสกัน ( ฟิลิปดา ) โดยตัวประภาคารสูงพ้นน้ำ 44 ฟุต มีแสงสว่างมองเห็นได้ไกล 10 ไมล์ และมีแหล่งกำเนิดแสงคือตะเกียงจากประภาคารสันดอน

เริ่มมีการก่อสร้างประภาคารในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการค้าขายกับต่างประเทศมีมากขึ้น ปากแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือสินค้าเข้าออกเป็นจำนวนมาก จึงได้สร้างประภาคารขึ้นบริเวณปากแม่น่ำเจ้าพระยา เพื่อให้เรือใช้เป็นที่สังเกตในเวลากลางคืนเพื่อผ่านสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา

ประภาคารสันดอน ประภาคารแห่งแรกในประเทศไทย

ที่ตั้งของประภาคารแห่งแรก

ตามประกาศจากกรมท่า ในราชกิจจานุเบกษาแต่อดีตว่าไว้ "เรือนตะเกียงนั้นตั้งอยู่ข้างตะวันออกริมรั้วช้าง แลติจูต 13 ดีกรี 29 มินิศ 26 เสกัน เหนือ นับข้างทิศตะวันออก ลอนยิศจุน 100 ดีกรี 35 มินิศ 20 เสกัน ข้างไฟสันดอนอยู่ใกล้ทิศตะวันตกริมตลิ่งจะเลี้ยวมาทางตะวันออก เรือนตะเกียงนี้มีแสงสว่างรอบตัว สูงพ้นน้ำ 44 ฟิต เรือไปมาจะเห็นแสงสว่างได้ทาง 10 ไมล์ 

การที่ทำเรือนตะเกียงและการที่จัดเจ้าพนักงานพิทักษ์รักษาและจุดตะเกียงนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มอบธุระให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมาแต่แรกลงมือทำ เรือนตะเกียงนี้ได้ลงมือทำแต่เมื่อปีมะเมียโทศก จุลศักราช 1232 แล้วเสร็จในปีมะแม ตรีศก จุลศักราช 1233 การที่ช้าอยู่ ไม่ได้จุดตะเกียงนั้น เพราะเรือนตะเกียงซุด ต้องรื้อทำใหม่ถึง 2 ครั้ง เพราะเป็นที่เลนอ่อน การที่ได้ทำครั้งหลัง ต้องทิ้งศิลาถมลงเป็นรากแล้ว จึงได้ตั้งเรือนตะเกียงได้ สังเกตดูมา 10 เดือนแล้วก็เห็นว่าจะอยู่ได้ จึงได้ออกประกาศให้ทราบทั่วกัน ผู้ซึ่งจะเป็นพนักงานจุดตะเกียงนั้น มิสเตอร์ฝอดชาวเยอรมันได้รับธุระในการจุดตะเกียงและการที่จะรักษาเรือนตะเกียง"

“อนึ่งเรือลูกค้าที่ไปมาค้าขายนั้นต้องเสียเงินช่วยในการจุดตะเกียงคิดเอาตามน้ำหนักสินค้า ตันหนึ่งเป็นเงินเซนครึ่งตามอย่างเมืองสิงคโปร์ ถ้าจะคิดเป็นหาบเป็นเงินตามธรรมเนียมไทย ก็จะต้องแบ่งเป็นอัฐเป็นฬศ จะเป็นการลำบากแก่ลูกค้า เพราะเรือลูกค้าที่ไปมาค้าขายนั้นเป็นเรือชาวต่างประเทศมากกว่าลูกค้าในกรุงเทพฯ จึงได้คิดน้ำหนักเป็นตอน คิดเป็นเงินเซนตามอย่างเมืองสิงคโปร์ เรือใบแลเรือกลไฟเรือรูปต่างๆที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ต้องเสียทั้งขาเข้าและขาออกเป็นตอนละ 3 เซน เรือที่เป็นเรือใหญ่ทอดอยู่นอกสันดอนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ เสียแต่ตอนละเซนครึ่งเท่านั้น เรือกลไฟแลเรือรูปต่างๆ ที่ไปมาจะต้องเสียค่าเรือนตะเกียงนั้น เรือจุสินค้าตั้งแต่ 50 ตัน คิดเป็น 800 หาบ ขึ้นไป จะต้องเสียค่าเงินตะเกียง เรือที่จะต้องเสียค่าเรือนตะเกียงนั้นเป็นแต่เรือบรรทุกสินค้าไปขายต่างเมือง ถ้าเป็นเรือสินค้าลำเลียงบรรทุกสินค้าไปส่งเรือใหญ่แลเรือกลไฟที่เป็นเรือสำหรับจ้างลากเรือเข้าออกไม่ต้องเสียค่าตะเกียง”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้คิดสร้างประภาคารนี้ขึ้น

สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้คิดสร้างประภาคารนี้ขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปากแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือเข้าออกจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากการค้าขายกับต่างชาติที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการก่อสร้าง ซึ่งราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 กล่าวว่า ค่าก่อสร้างเป็นเงิน 225 ชั่ง 5 ตำลึง 5 สลึง (18,021.25 บาท) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ส่งพระสยามธุรพาห์ กุงสุลไทย ณ กรุงลอนดอน เป็นผู้ซื้อเรือนตะเกียงมายังสยาม ระหว่างการก่อสร้างประภาคารได้เกิดทรุดตัวลง ทำให้ก่อสร้างช้ากว่ากำหนด หลังจากแก้ไขใหม่จนก่อสร้างเสร็จแล้ว  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ยกให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ภาษาอังกฤษเรียกประภาคารแห่งนี้ว่า "รีเยนท์ไลท์เฮาส์" (Regent Lighthouse; ประภาคารผู้สำเร็จราชการ)  หลักฐานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เรียก "ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา" คนทั่วไปเรียก "กระโจมไฟสันดอน" สิ่งก่อสร้างรูปหอคอย มีตะเกียงส่องไฟอยู่ข้างบน สร้างไว้ในตำแหน่งที่มีความสำคัญมากต่อการเดินเรือ เช่น แสดงที่อันตราย แสดงจุดเริ่มเข้าใกล้ฝั่ง หลังจากรอนแรมอยู่ในทะเลมาหลายวัน หรือจุดที่เรือจะใช้เปลี่ยนเข็มเดินทาง คือ เปลี่ยนทิศทางที่จะเดินเรือต่อไป

ประภาคารนี้ได้เลิกใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 เพราะร่องน้ำเปลี่ยนไป รวมเวลาที่ได้ในราชการ 55 ปี 22 วัน หลังยุติการใช้งาน

ในช่วงปี พ.ศ. 2450 ได้มีการนำเรือทุ่นไฟมาใช้งานแทนที่ตัวประภาคาร แต่ต่อมาได้ยุติการใช้เรือเนื่องจากราคาการดูแลที่สูง และสร้างประภาคารหลังใหม่แทนที่ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งอยู่จากจุดที่ตั้งเดิมและยุติการใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2502 และมีการก่อสร้างสถานีนำร่องของกรมเจ้าท่าขึ้นมาที่บริเวณสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
ตำแหน่งปัจจุบันของประภาคาร ตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิมคือละติจูดที่ 13 องศา 27 ลิปดา 26 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 35 ลิปดา 20 ฟิลิปดาตะวันออก มีจุดสังเกตคือทุ่นสีแดง หมายเลข 14 มองตั้งฉากกับแนวทุ่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทาง 2.5 กิโลเมตร คือตำแหน่งที่ตั้งของประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

อ้างอิง
ที่ระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์
ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา  
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีตวันสำคัญประภาคารสันดอน
อาริสา เพียนชะกรณ์
ผู้เขียน: อาริสา เพียนชะกรณ์

นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ผู้มีความสนใจการผลิตเนื้อหาข่าวและรายการ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด