ดวงตามืดมิด หัวใจไม่มืดมน “ดำเกิง มุ่งธัญญา” ครูผู้ทุ่มทั้งชีวิตเพื่อการสอน


บทความพิเศษ

16 ม.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
ดวงตามืดมิด หัวใจไม่มืดมน “ดำเกิง มุ่งธัญญา” ครูผู้ทุ่มทั้งชีวิตเพื่อการสอน

 “คนตาบอด มาสอนเด็กปกติ จะสอนได้หรือเปล่า? ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคำถามลักษณะนี้เกิดขึ้นมา คนที่เห็นเราสอน ก็เข้าใจว่าเราสอนได้ แต่ในมุมของคนที่ไม่เคยเห็นเลย ก็อาจจะเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาได้” นายดำเกิง มุ่งธัญญา ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

“วันครู” ในปีนี้ ครูดำเกิง มุ่งธัญญา หรือ ครูไอซ์ “แม่พิมพ์ของชาติ” ครูผู้ใช้หัวใจในการสอนนักเรียน สะท้อนมุมมองที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนตาบอด รวมทั้งคนตาดี ได้รับรู้เรื่องราวในมุมที่ “คุณอาจไม่เคยคิดมาก่อน” ท่ามกลางทัศนคติของคนในสังคม (บางกลุ่ม) ที่มองว่า “คนเก่งไม่มีใครอยากเป็นครู”

 

 

จากการสอนรุ่นน้อง สู่การเป็นแม่พิมพ์ของชาติ

ครูดำเกิง เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ จากนั้น ได้ก้าวเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล หลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งมีโควตาให้ทุนนักเรียนตาบอดมาเรียนร่วมปีละ 2 คน ความมุ่งมั่นและความพยายาม ทำให้ครูดำเกิง เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำเร็จ

เมื่อจบปริญญาตรี ได้สอบบรรจุและเข้ามาเป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย หลังจากนั้น สอบชิงทุน Fulbright ไปเรียนในด้านการสอนที่ Portland State University ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2020 ปัจจุบันทำงานได้ 6 ปีแล้ว

สำหรับจุดเริ่มต้นของการเป็น “ครู” นั้น ครูดำเกิง ค้นพบความสุขจากการสอนรุ่นน้อง เมื่อได้ลองอธิบายแล้วรุ่นน้องเข้าใจ จึงเกิดความรู้สึกปลื้มใจ และคิดว่า “อาชีพครู” น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ทั้งกับนักเรียน และตัวผู้สอนที่ได้พัฒนาไปเรื่อย ๆ

“สอบครู” ท้าทาย ไร้ข้อสอบอักษรเบรลล์ ใช้เวลาสอบเท่าคนตาดี

พูดถึงระบบการสอบบรรจุครูนั้น ครูดำเกิง เล่าว่า ใช้ระบบการสอบแบบคนปกติ ไม่มีข้อสอบอักษรเบลล์ ดังนั้น ตอนที่สอบจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยอ่านข้อสอบให้ แต่เป็นเรื่องท้าทายเมื่อต้องเจอกับโจทย์คำนวณ และโจทย์บทความ

“วิชาอื่นไม่เป็นปัญหา แต่วิชาที่ต้องจำเยอะ ๆ ต้องขอให้เจ้าหน้าที่อ่านทวนบ่อย ๆ แล้วต้องจำโจทย์ให้ดี พร้อมกับต้องคิดไปด้วย ก็เป็นเรื่องท้าทายครับ ผมจะทำไม่ค่อยทัน อย่างภาษาอังกฤษหมวด Reading หากเป็นอักษรเบลล์ผมสามารถเลื่อนมือไปย้อนอ่านได้ ซึ่งจะเร็วกว่าให้อ่านทวน”

ไม่ง่าย! สอนหนังสือท่ามกลางความมืดมิด ยิ่งต้องพยายาม

“อาชีพครู” นั้น กว่าจะเตรียมสอนนักเรียนในแต่ละคาบเรียนได้ ทั้งงานสอน งานเอกสาร และงานอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบ ขนาดครูที่ปกติทั่วไปยังเหนื่อย ยิ่งทำให้ครูดำเกิง ต้องพยายามและหาเทคนิคการสอนเข้ามาทดแทนในสิ่งที่ตามองไม่เห็น

ครูดำเกิง รีบอธิบายก่อนเลยว่า  ไม่ได้บอกว่าตัวเองทำหนักกว่าคนอื่นนะ เพียงแต่ขั้นตอนการทำงานอาจจะต้องพลิกแพลง และหาวิธีการสอนที่ทำให้น่าสนใจมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การเขียนกระดานคงทำไม่ได้ ต้องใช้การทำสไลด์ PowerPoint แทน แต่จะทำให้สวยงามดึงดูดนักเรียนอาจจะยาก ก็ต้องหากิจกรรมมาเสริม เช่น การตอบคำถาม การเล่นเกมในห้อง

ส่วน “รูปภาพ” แน่นอนว่าไม่รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร รูปไหนเป็นรูปไหน ซึ่งต้องให้คนช่วยดูให้ และจะบันทึกพร้อมตั้งชื่อไฟล์ไว้ เมื่อต้องการใช้งานครั้งต่อไปจะได้เลือกใช้ได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ อาจจะต้องจดเนื้อหาการสอนเป็นอักษรเบลล์อีกครั้ง เพื่อเวลาสอนนักเรียนในห้องจะได้ไม่ติดขัด

“ครูปกติหากมีหนังสือดี ๆ สักเล่มหนึ่ง บางครั้งเขาก็หยิบไปสอนได้ทันทีเลย แต่ผมทำแบบนั้นไม่ได้ เมื่อได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ก็จะต้องไปสแกนเพื่อให้เป็นไฟล์ที่สามารถอ่านได้ จากนั้น ก็จะต้องให้ใครช่วยตรวจสอบให้ เพราะการสแกนไม่ได้ถูกต้อง 100% เมื่อได้เนื้อหาก็นำไปทำ PowerPoint ต่อไป” ครูอธิบายขั้นตอนเตรียมการสอน

ลูกศิษย์นับร้อย ครูมองไม่เห็น จะจำนักเรียนอย่างไร ?

ครูดำเกิง กล่าวว่า “ทุกคนมักจะตั้งคำถามว่า แล้วเราจำเด็กได้อย่างไร ? ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นหน้า แต่ว่าจำเสียงได้ โดยในช่วงต้นเทอมผมจะให้เด็กเขาแนะนำตัว จุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเอง เพื่อจะได้รู้จักนักเรียนมากขึ้น”

“ไหนลองบอกหนึ่งอย่าง ที่จะให้ครูจำได้ ?” ครูดำเกิง ยกตัวอย่าง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้จำได้ว่าใครเป็นใคร แต่การฟังครั้งเดียวคงไม่สามารถจำได้หมด จึงต้องอาศัยการสังเกตในคาบเรียนด้วย

สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเลยคือ เวลาสอนตนพยายามใช้คำถามค่อนข้างเยอะ เพื่อเช็กว่านักเรียนเข้าใจในสิ่งครูสอนอยู่หรือไม่ แต่ถ้าถามแล้วไม่มีใครตอบ ก็สันนิษฐานได้หลายอย่าง เช่น นักเรียนไม่เข้าใจ นักเรียนอาจจะหลับ หรืออาจจะทำอย่างอื่นอยู่ ซึ่งไม่อาจรู้ได้โดยตรงว่าเด็กทำอะไรอยู่ แต่ถ้าเด็กไม่สามารถตอบคำถามในทันที อาจจะกำลังคิดอยู่ หรือกำลังเหม่อ ซึ่งพอสอนไปเรื่อย ๆ จะเริ่มรู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีลักษณะเป็นอย่างไร หรืออย่างบางคนตอบคำถามตลอด แต่วันนี้ดูเงียบ ๆ ก็จะรู้ว่าเป็นอะไรไปหรือเปล่า

พ่อแม่ไม่มั่นใจ “ครูตาบอด” จะสอนลูกได้ดี

“คนตาบอด มาสอนเด็กปกติ จะสอนได้หรือเปล่า? ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคำถามลักษณะนี้เกิดขึ้นมา คนที่เห็นเราสอน ก็เข้าใจว่าเราสอนได้ แต่ในมุมของคนที่ไม่เคยเห็นเลย ก็อาจจะเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาได้”

เมื่อมีกำแพงแห่งความไม่เชื่อใจเกิดขึ้นมา พ่อแม่ไม่เข้าใจว่า “ครูที่มองไม่เห็น” จะสามารถสอนลูกตัวเองให้ได้ดี ถึงแม้จะไม่ได้ยินกับหูตัวเอง แต่ก็ได้รับสารผ่านมาจากทางโรงเรียน ครูดำเกิงเข้าใจในความกังวลดังกล่าว แต่ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะมองว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการลงมือทำและพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ

“คิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้คือการที่เรามี ‘ความกันเอง’ เพื่อเด็กจะกล้ามาถามเวลาเรียนไม่เข้าใจ ทำให้สามารถดึงเด็กบางคนที่เรียนไม่เข้าใจในห้อง หรือไม่ถนัดภาษาอังกฤษมีทักษะที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเด็กเรียนแล้วเข้าใจก็จะไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง จนความสงสัยต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดไปให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ดีกว่าครับ”

ไม่ใช่แค่สอนได้ แต่เด็กต้องได้ความรู้

ครูดำเกิง เผยบททดสอบของการเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” ไม่ใช่แค่สอนได้ แต่สอนอย่างไรให้เด็กได้ความรู้กลับไปจริง ๆ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี

“กดดันตัวเองอยู่เหมือนกัน เวลาสอนก็คาดหวังว่าเด็กจะทำได้ แต่ก็จะมีบางช่วงที่เด็กไม่ได้ตั้งใจเรียน เล่นกันในห้อง หรือบางคนดื้อเงียบ ก็แอบเสียใจนะ ‘ทำไมเวลาเราพูดเขาไม่ฟังเราเลยนะ’ ก็จะใช้วิธีการเรียกมาคุย หรือดูว่าเด็กคนนี้สนิทกับใคร ก็อาจจะฝากเพื่อนไปบอก เพราะวัยรุ่นบางทีจะเชื่อเพื่อนมากกว่าครู”

นอกจากเรื่องในห้องเรียนแล้ว การเป็นครู จะต้องเข้ารับการประเมินการสอน ซึ่งเรื่องที่หนักใจสำหรับครูดำเกิงเป็นเรื่องของเอกสารบางอย่างที่ต้องใช้ภาพประกอบ และไม่ได้เก็บภาพไว้ จึงไม่มีภาพมาโชว์ แต่ทางคณะกรรมการที่ประเมินให้กำลังใจ มีคอมเมนต์ในเชิงบวก สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ยก 3 ข้อ ที่สุดของครู แม้เรื่องเล็กน้อยแต่หัวใจพองโต

ต้องยอมรับว่า ทัศนคติของคนบางกลุ่ม เลือกที่จะมองว่า “คนเก่งไม่มีใครเขาเป็นครูกันหรอก?” อาจจะด้วยภาระหน้าที่หลายอย่างทั้งงานสอน ทั้งงานเอกสาร รวมทั้งระบบในองค์กร

ครูดำเกิง แชร์ความภาคภูมิใจในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ ว่า ข้อแรก ภูมิใจที่สามารถทำงานได้ มีเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ ข้อสอง คือ ทุก ๆ ปี  นักเรียนที่จบไปจะรายงานความคืบหน้าให้รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้รู้สึกภูมิใจว่าสิ่งที่ได้ทำ ถึงแม้จะเหนื่อย หรือจะต้องสู้กับงานเอกสารมากมาย แต่ก็ได้ผลผลิตเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของเด็ก

ข้อสาม รู้สึกว่าการเป็นครูมี “คอนเน็กชัน” ความผูกพันที่มีให้กัน เด็กหลายคนไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังติดต่อกันอยู่

“เด็กบางคนไปเจอกันข้างนอกทักทายกัน แต่ละคนก็เหมือนมีแนวคิดที่โตขึ้น บางคนเรียนด้วยกันแทบจะเกลียดกัน (หัวเราะ) เพราะว่าดื้อมาก พอได้คุยกันอีกครั้ง ก็ได้พูดไปว่า ‘นักเรียน ครูว่าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเยอะเลย ทำไมตอนอยู่กับครูไม่เห็นเป็นอย่างนี้เลย’ (หัวเราะ) มันก็เป็นความภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตของเด็ก ๆ” ครูดำเกิง เล่าด้วยอาการชื่นมื่น

นอกจากนี้ ทั้งครูและนักเรียนต่างก็พึ่งพาช่วยเหลือกันและกัน บางครั้งครูดำเกิงสอนพิเศษฟรีในวันเสาร์ หรือช่วงเย็นเด็กเรียนไม่เข้าใจก็เข้ามาปรึกษา

“เหมือนเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรารู้ว่าความรู้ที่เราให้มันมีประโยชน์และเด็กเขาก็ได้รับ”

ขณะที่ เมื่อคนเป็นครู ต้องการความช่วยเหลือในบางครั้ง เด็ก ๆ ก็มีน้ำใจกลับเช่นกัน ยกตัวอย่างเรื่องการเดินทาง ครูดำเกิงโดยสารรถไฟฟ้ามาทำงาน แต่ไม่สามารถข้ามถนนเองได้ นักเรียนจะคอยมารับที่สถานีรถไฟฟ้า เพื่อเดินมาด้วยกันตอนเช้า หรือช่วงเลิกเรียนก็เดินไปส่ง

“ผมก็เคยถามว่า ปกตินักเรียนกลับทางนั้นหรือ เขาก็จะบอกว่า บ้านหนูไม่ได้อยู่ไกล เดินไปส่งนิดเดียว เราก็รู้สึกดีที่เขาให้ใจกับเรา”

“กำลังใจ” สิ่งที่ทำให้ยังเป็น “ครู” จนถึงทุกวันนี้

ถามว่า คิดจะไปทำอาชีพอื่นบ้างไหม ? ครูดำเกิง ตอบว่า ตอนนี้ยังไม่ได้วางแผน รู้สึกว่ามีความสุขในการสอนอยู่ หากไปทำอาชีพอื่นจริง ก็คงอยู่ในสายการสอน เพราะเวลาได้สอนมีความสนุก ยิ่งถ้าคิดกิจกรรมดี ๆ แล้วนำมาเล่นกับนักเรียนจะสนุกมาก

“ผมคิดว่า...สิ่งหนึ่งเลยที่ทำให้ผมยังเป็นครูอยู่ได้ทุกวันนี้ คือ ‘กำลังใจ’ เด็กเขาก็จะมีมุมมองบางอย่างที่เราคิดไม่ถึง เด็กจะอยู่กับความหวังที่มันเป็นไปได้ มันทำให้เราเปลี่ยนมุมมองอะไรบางอย่าง นักเรียนเคยบอกกับผมว่า ‘ครู..ถึงแม้เพื่อนบางคนอาจจะไม่เรียน แต่ก็ยังมีบางคนเรียนและเห็นว่าครูทำอยู่นะ’ หรืออย่างบางคนบอกว่า ‘ครูพักผ่อนบ้าง’ ได้ยินแค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว”

จาก “ศิษย์” ถึง “ครู” ผู้ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อต้นกล้าที่เตรียมเติบใหญ่

นักเรียนชั้น ม. 6/5 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ลูกศิษย์ครูดำเกิง เล่าถึงบรรยากาศการเรียนในห้องด้วยว่า ค่อนข้างสนุก มีเกมมาให้เล่นตลอด เมื่อนักเรียนเกิดคำถาม ครูก็จะพยายามหาคำตอบมาให้ และยังทุ่มเทสอนนอกเวลาอย่างเช่นวันเสาร์ ซึ่งสอนให้ฟรีด้วย

“ครูไอซ์เตรียมเนื้อหาการสอนได้ดีมาก ๆ จะเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนสอนเสมอ ถ้ามีการปรับเปลี่ยนกะทันหัน ก็พยายามเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดที่จะมาสอน และยังใส่ใจคอยถามนักเรียนตลอดว่าเข้าใจในสิ่งที่สอนหรือไม่ และหากมีความรู้ใหม่ ๆ ก็จะนำมาแบ่งปันในห้องด้วย”

นอกจากนี้  แม้จะอยู่คนละซีกโลก แต่กลับไม่เคยทิ้งการสอน ช่วงที่ครูดำเกิงต้องไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ก็ตื่นแต่เช้า เพื่อมาสอนนักเรียนผ่านทางออนไลน์

“มีช่วงหนึ่งที่มีปัญหาในชีวิต ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร ก็เลยมาปรึกษาครูไอซ์ ซึ่งครูไอซ์ได้ให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ถึงขนาดที่ว่าโทรศัพท์มาคุย เป็นทั้งครูและเป็นทั้งที่ปรึกษาชีวิตด้วย หนูรู้สึกว่า หนูไม่เคยเจอครูคนไหนที่ทุ่มเทให้กับนักเรียนมากขนาดนี้”

ถามว่าครอบครัวกังวลหรือไม่ว่าครูไอซ์จะสอนได้ดีจริงหรือเปล่านั้น ลูกศิษย์ครูไอซ์ ชั้น ม.6/5 ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่ค่ะ แม่หนูชมครูไอซ์ด้วยซ้ำ ขนาดเขามองไม่เห็น เขายังสอนพวกหนูได้  แม่ก็ชมด้วยว่าครูไอซ์เก่งมากเลย”

เปิดเหตุผลเลือก “ครูดำเกิง” เข้ามาสอนที่โรงเรียน

ครูสุทธิชัย อาจฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ซึ่งได้ร่วมงานกับครูไอซ์มาเกือบ 5 ปี ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เลือกครูดำเกิงเข้ามาสอนที่โรงเรียนนี้ เนื่องจากมองว่า เป็นบุคลากรคนหนึ่งของโรงเรียน สามารถทำงานได้อย่างดีเหมือนกับครูปกติทั่วไป

ถึงแม้ว่าตาจะมองไม่เห็น แต่สามารถใช้สื่ออื่น ๆ ชดเชยสิ่งที่ขาดไปได้ เช่น สื่อคอมพิวเตอร์จะช่วยซัปพอร์ตในการสอนได้ หรือครูท่านอื่น ๆ ก็ช่วยเติมเต็ม เช่น หากเป็นการสอบแบบข้อเขียน จะมีการมอบหมายครูที่สอนรหัสวิชาเดียวกันเป็นผู้ตรวจข้อสอบอัตนัยหรือข้อเขียนแทน ส่วนข้อสอบแบบปรนัยทางโรงเรียนจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการตรวจข้อสอบ จึงมองว่าการรับครูดำเกิงเข้ามาสอนที่นี่ ไม่เป็นปัญหากับการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ความสามารถของครูดำเกิงในด้านภาษา ถือว่าสำเนียงภาษาค่อนข้างดี เพราะได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามาด้วย


 
เส้นทางการเป็นครู โอกาสในการทำงานของผู้พิการ

ครูดำเกิง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ระดับการศึกษานั้น การที่คนพิการประเภทต่าง ๆ จะก้าวขึ้นมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ได้มีการเปิดโอกาสมากขึ้น ได้เรียนจริง แต่อุปกรณ์ไม่พร้อม กลายเป็นว่าพวกเขาจะต้องหาจากแหล่งอื่นที่จะช่วยสนับสนุนในด้านการเรียนแทน

ขณะที่ ในเรื่องการทำงานก็มีหลายองค์กรที่เปิดรับผู้พิการมากขึ้น แต่กลับพบว่า “เพื่อนร่วมงาน” ยังไม่เข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ สามารถทำงานในส่วนไหนได้ หรือการมอบหมายงานในสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ จึงกลายเป็นว่า “คนพิการทำงานไม่ได้” อาจเพราะงานไม่ได้ตรงกับความสามารถที่เขามี

อย่างสำนวนที่ว่า “Put the right man on the right job” ใช้คนให้เหมาะกับงาน เพราะแต่ละความพิการก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้งานบางอย่างออกมาได้ไม่เต็มที่

“ผมมองว่า ถ้าทุกคนพยายามมองข้ามข้อจำกัด แล้วดึงความสามารถของคนพิการแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันออกมา ผมว่าโอกาส และคุณภาพจะมีมากขึ้น ทั้งในเรื่องการเรียนและการทำงาน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของ ‘ความเข้าใจ’ จะอยู่ร่วมกันอย่างไรมากกว่า”

กล้าลองในสิ่งที่ใช่ มั่นคงกับสิ่งที่เป็น โอกาสจะมาเอง

ท้ายที่สุดของการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ครูดำเกิง มองว่า การที่มายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้เป็นครู คนมองว่าประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้แปลว่า ทุกอย่างมันจบ ไม่เจอปัญหาอะไรอีกแล้ว เพราะปัญหามีมาเรื่อย ๆ อยู่ที่ว่า ตัวเรายังมั่นคงกับสิ่งที่เป็น ยังเห็นคุณค่าในสิ่งที่เทำ มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังขอส่งต่อมุมมองพลังบวก เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกคน เพราะเชื่อว่าไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบตน แต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นขอให้พยายามลองหาว่า ตรงไหนคือสิ่งที่ทำได้ดี เป็นในแบบที่เป็น พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ

“โอกาสบางทีมันจะมาโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราก็พยายามไขว่คว้า พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่ง จะมีคนเห็นความสามารถของเรา เราจะอยู่ในจุดที่เราภูมิใจกับตัวเอง ขอให้ทำต่อไปเรื่อย ๆ ครับ ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำ มันคือสิ่งที่ใช่สำหรับเรา ขอแค่ให้ลองเริ่มที่จะทำก่อน” 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันครูวันครู2566ครูตาบอดครูดำเกิงดำเกิง มุ่งธัญญา
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media