ศิษย์มีครู! รวม “นักกีฬาคนดัง” กับ “โค้ชคู่ใจ” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ


Lifestyle

16 ม.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
ศิษย์มีครู! รวม “นักกีฬาคนดัง” กับ “โค้ชคู่ใจ” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

16 มกราคมของทุกปี ได้รับการยกย่องให้เป็น “วันครูแห่งชาติ” และเชื่อว่าในช่วงชีวิตของหลาย ๆ คน ต้องเคยได้รับการอบรมสั่งสอนจาก “คุณครู” โดยนอกเหนือจากความรู้ คุณครูยังเปรียบเสมือนสะพานที่ทอดให้พวกเราก้าวไปสู่ความสำเร็จ...

ในแวดวงกีฬา เหล่าบรรดานักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ทุก ๆ คนล้วนมี “ครู” หรือโค้ชที่คอยฝึกสอน บ่มเพาะทักษะด้านกีฬา จากก้าวแรกจนก้าวไปสู่คำว่า...ชัยชนะ

วันครูปีนี้ ไทยพีบีเอสจึงขอนำเรื่องราวเหล่านักกีฬาคนดัง พร้อม “โค้ชคู่ใจ” ที่ช่วยเป็นแรงผลักดันให้ก้าวมาสู่ความสำเร็จ ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ พวกเขาล้วนต่อสู้กันมาไม่น้อย...

ชนาธิป สรงกระสินธุ์ & ก้องภพ สรงกระสินธุ์

ภาพจากเฟซบุ๊ก Chanathip Songkrasin

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า นี่คือ “นักเตะหมายเลข 1 ของเมืองไทย” ในพ.ศ.นี้ แต่กว่าที่ ชนาธิป สรงกระสินธุ์ จะก้าวมาถึงวันนี้ เขาต้องผ่านการต่อสู้ ทั้งกับตัวเอง และกับคู่แข่งมามากมาย แม้ เจ-ชนาธิป จะมีโค้ชผู้ฝึกสอนหลายต่อหลายคน แต่หากจะพูดถึง “โค้ชคู่ใจ” แถมยังเป็นโค้ชคนแรกในชีวิต บุคคลนั้นคือ “ก้องภพ สรงกระสินธุ์” คุณพ่อของเขานั่นเอง

เจเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อที่คาดหวังให้เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติให้จงได้ แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุกลาบ เพราะเจไม่ใช่คนรูปร่างสูงใหญ่ กลับกัน เขามีรูปร่างที่เล็กกว่าเพื่อน ๆ แต่นั่นไม่ทำให้พ่อย่อท้อ และพยายามฝึกซ้อมลูกชายอย่างหนัก

ภาพจากเฟซบุ๊ก Chanathip Songkrasin

“เมื่อก่อนผมซ้อมหนักมาก” เจเคยย้อนเล่าชีวิต โดยมีคุณพ่อเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด เขาซ้อมอย่างหนักทุกวัน แทบไม่เคยได้ไปเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ หลังเลิกเรียน แต่ผลจากความมุ่งมั่น และเสียสละเวลาเหล่านั้น ทำให้เจพัฒนาฝีเท้าแบบก้าวกระโดด มากไปกว่านั้น มันทำให้ปัญหาเรื่องรูปร่างของเขาหมดไป

เจก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยครั้งแรก โดยติดทีมเยาวชนทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 19 ปี กระทั่งในปี 2555 เจ้าตัวได้ก้าวขึ้นสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ลงแข่งขันในศึกฟุตบอลซูซูกิ คัพ และหลังจากนั้น ชื่อเสียงและความสำเร็จก็เดินหน้าเข้ามาอย่างมากมาย 

วันนี้ “เจ-ชนาธิป” ขึ้นแท่นเป็นนักเตะเบอร์หนึ่งของเมืองไทย แถมยังโบยบินไปค้าแข้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น กับทีมชั้นนำอย่างคาวาซากิ ฟรอนตาเล่ รวมทั้งได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยกเครดิตสำคัญให้กับคุณพ่อก้องภพ หากไม่มีพ่อที่อบรมสั่งสอน คงไม่มีนักฟุตบอลชื่อดังอย่าง “เมสซี่เจ” ในวันนี้

“ผมมีทุกวันนี้ได้เพราะพ่อ เพราะโค้ชทุกคนที่มาสอน เด็ก ๆ ทุกคนก็เป็นแบบผมได้ ต้องมีเบสิกที่ดี ขอบคุณพ่อมาก ๆ”

รัชนก อินทนนท์ & ก่อเกียรติ ชัยประสิทธิ์โชค (เซียะ จื่อหัว) & ภัททพล เงินศรีสุข

ภาพจากเฟซบุ๊ก Ratchanok Intanon

ภาพจากเฟซบุ๊ก Ratchanok Intanon

ในแวดงกีฬาแบดมินตัน “เมย์-รัชนก อินทนนท์” คือนักแบดมินตันหญิงเบอร์หนึ่งของประเทศ แต่กว่าจะมีวันนี้ เมย์ต้องผ่านการฝึกฝน โดยมีโค้ชคู่ใจอยู่สองคน คนแรกคือ “เซียะ จื่อหัว” โค้ชที่เปรียบเสมือนผู้เปิดโลกการเป็นนักแบดมินตันอาชีพให้กับเธอ 

โค้ชเซียะเป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติจีน ก่อนจะผันตัวมาอยู่เมืองไทย พร้อมกับมีชื่อไทยว่า ก่อเกียรติ ชัยประสิทธิ์โชค เขาเริ่มต้นฝึกแบดมินตันให้กับเมย์ตั้งแต่อายุราว 6 ขวบ และเห็นพรสวรรค์ในตัวเธอ โดยเฉพาะเรื่องความละเอียดในการเล่น และหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งเกินเด็ก กระทั่งได้เมย์ได้ลงแข่งในระดับเยาวชนของประเทศ และประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์เยาวชนโลกได้สามสมัยซ้อน (ปี 2009-2010-2011)

ภาพจากเฟซบุ๊ก Ratchanok Intanon

เมย์ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ในฐานะนักแบดมินตันอาชีพ ด้วยการคว้าแชมป์โลกหญิงเดี่ยวในปี 2013 โดยมีโค้ชเซียะเป็นผู้ฝึกสอน และดูแลเธออย่างดี ในเวลาต่อมา เมย์ยังได้โค้ชคู่ใจเพิ่มอีกหนึ่งคน นั่นคือ “โค้ชเป้-ภัททพล เงินศรีสุข” อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย โดยเข้ามาเป็นผู้เสริมความแข็งแกร่งให้กับเมย์ พร้อมลงแข่งขันล่ารางวัลอีกมากมาย 

ในปี 2017 เมย์ลงแข่งแบดมินตันระดับโลกหลายรายการ จนสามารถก้าวขึ้นสู่มือวางอันดับหนึ่งของโลกได้ พร้อมกับทำสถิติคว้าแชมป์ในรายการระดับโลกได้สามรายการติด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แบดมินตันของประเทศ 

ทั้งหมดทั้งมวล เป็นผลจากความมุ่งมั่นฝึกซ้อม และผ่านการอบรมจากยอดโค้ชทั้งสอง โดยทั้งคู่มองคล้าย ๆ กันว่า หากจะปลุกปั้นนักแบดมินตันไทยให้ขึ้นสู่ระดับโลก สิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นประการแรก นั่นคือ ความมีระเบียบวินัย และการให้เวลาในการพัฒนานักกีฬาที่มีพรสวรรค์ เพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ & ชัชชัย ชเว (เชยองซอก)

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tennis panipak wongpattanakit

พูดชื่อกีฬา “เทควันโด” แฟนกีฬาหลายคนย่อมนึกถึง “เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” นักกีฬาสาวเทควันโดขวัญใจชาวไทย เธอเป็นแชมป์โลกเทควันโด้สองสมัย (ปี 2015 และปี 2019) รวมทั้งเป็นนักเทควันโดหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ปี 2020 มาครองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ แต่เบื้องหลังความสำเร็จของนักเทควันโดหญิงคนนี้ มีโค้ชคู่ใจที่ชื่อ “ชัชชัย ชเว” หรือ “โค้ชเช” ที่แฟนกีฬาชาวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี

เทนนิสเริ่มต้นเล่นกีฬาเทควันโดตั้งแต่อายุราว 9 ขวบ โดยมีคุณพ่อเป็นผู้ฝึกสอน กระทั่งอายุ 13 ปี เธอสามารถคว้าเหรียญทองในกีฬาเยาวชนแห่งชาติมาครองได้ จนทำให้ไปเตะตา “โค้ชเช” ผู้ฝึกสอนเทควันโดชาวเกาหลีใต้ และเรียกเทนนิสเข้ามาร่วมฝึกซ้อมและคัดเลือกเป็นนักกีฬาเทควันโดตัวแทนทีมชาติไทย

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tennis panipak wongpattanakit

ในเวลานั้น เทนนิสต้องฝึกซ้อมอย่างหนักจากโค้ชชาวเกาหลีใต้ ทั้งคู่ใช้เวลาผ่านความยากลำบาก ผ่านการพ่ายแพ้ รวมทั้งผ่านการเป็นผู้ชนะมากว่าสิบปี จนเทนนิสเก็บเกี่ยวประสบการณ์และคว้าตำแหน่งแชมป์โลกเทควันโด รุ่น 46 กก. ได้สำเร็จในปี 2015 และรุ่น 49 กก. ในปี 2019

แต่การแข่งขันที่เรียกว่าเป็น “จุดพีก” ที่สุดของเธอ คือในรอบชิงชนะเลิศในกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น เทนนิสสามารถเอาชนะนักกีฬาเทควันโดชาวสเปน ด้วยคะแนน 11-10 ทำให้เธอคว้าเหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาเทควันโดไทยอีกด้วย

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tennis panipak wongpattanakit

ภาพที่โค้ชเชและเทนนิสวิ่งชูธงชาติไทย ยังคงติดตาแฟน ๆ กีฬาชาวไทยเป็นอย่างดี แต่ความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากการทุ่มเทของทั้งคู่ ซึ่งครั้งหนึ่งโค้ชเชเคยกล่าวว่า ความเชื่อใจของโค้ชกับลูกทีมเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจด้วยการวางเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

“วิธีการของผมคือ ถามนักกีฬาทุกคนซ้ำ ๆ ว่า เป้าหมายของคุณคืออะไร ทุกคนตอบว่า อยากได้เหรียญทองโอลิมปิก เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามต่อ คุณต้องพยายามเขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ พรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า ผมให้ตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ เสมอ”

วันนี้ เทนนิสเดินทางมาถึงจุดที่ฝัน แต่เธอยังก้าวต่อไปในรุ่นน้ำหนักตัวที่มากขึ้น เพื่อเก็บเกี่ยวความสำเร็จต่อไป พร้อม ๆ กับโค้ชคู่ใจที่ชื่อ ชัชชัย ชเว...

วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย & เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร & ดนัย ศรีวัชรเมธากุล

อีกหนึ่งทีมกีฬาขวัญใจมหาชน นั่นคือ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย กว่า 20 ปีมาแล้ว ที่พวกเธอสร้างชื่อเสียงและความสำเร็จมาสู่ประเทศ โดยมีโค้ชผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอย่าง “โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร” รวมถึง “โค้ชด่วน-ดนัย ศรีวัชรเมธากุล” ซึ่งทั้งสองร่วมฝึกซ้อม ตลอดจนทำงานร่วมกับสต๊าฟคนอื่น ๆ นำพาให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยก้าวมาไกลจนกลายเป็นทีมระดับโลก

เรื่องราวการปลุกปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เริ่มต้นราวปี 2541 โดยโค้ชอ๊อตก้าวเข้ามารับงานเป็นผู้ฝึกสอนทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติชุดใหญ่ พร้อมกับสร้างนักกีฬาสายเลือดใหม่ในเวลานั้น อาทิ ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ, วรรณา บัวแก้ว, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, อรอุมา สิทธิรักษ์, อำพร หญ้าผา จนสามารถเข้าไปเล่นในรายการเวิลด์แชมเปียนชิพได้สำเร็จ

แต่กว่ามาถึงจุดที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” โค้ชอ๊อตต้องเจออุปสรรคมากมาย ทั้งการขาดแคลนเงินสนับสนุน รวมถึงขาดแคลนอุปกรณ์ในการฝึกซ้อม เขาเคยเล่าว่า ทีมวอลเลย์บอลหญิงมีลูกวอลเลย์บอลใช้ในการฝึกไม่เกิน 20 ลูกเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำคัญเท่ากับหัวใจที่มุ่งมั่น จนทำให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงชุดนี้สร้างชื่อเสียงขึ้นเป็นลำดับ

“ผมมีความเป็นครูมากกว่าเป็นโค้ช เพราะคนเป็นครูต้องอดทน รักก็ต้องอดทน คุณต้องอดทนที่จะสอนเขา ให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดี และสิ่งที่เก่งด้วย”

โค้ชอ๊อตทำทีมวอลเลย์บอลจนเกิดกระแสฟีเวอร์ขึ้นในเมืองไทย พร้อมกับส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น โดยตัวเขาได้ส่งไม้ต่อการทำทีมให้กับ “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ที่ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในสต๊าฟโค้ชตั้งแต่ปี 2544 หลังจากนั้น โค้ชด่วนก็นำพาทีมที่มีทั้งนักกีฬารุ่นพี่และรุ่นน้อง สร้างสมชื่อเสียงและผลงานต่อไป

กระทั่งล่าสุด ทีมรุ่นพี่ที่ได้รับการขนานนามว่า “7 เซียนหญิงวอลเลย์บอล” ได้ประกาศอำลาทีมชาติ และส่งภารกิจต่อให้กับทีมวอลเลย์บอลหญิงรุ่นน้อง อาทิ .พรพรรณ เกิดปราชญ์, ปิยะนุช แป้นน้อย,อัจฉราพร คงยศ,พิมพิชยา ก๊กรัมย์, ชัชชุอร โมกศรี, ทัดดาว นึกแจ้ง ซึ่งพวกเธอก็ไม่ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยผิดหวัง โดยเมื่อปีก่อน ทำผลงานจบอันดับที่ 7 ในศึกวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 และมีชื่อเป็น 1 ใน 24 ทีมชาติที่เข้าร่วมคัดเลือกไปแข่งขันในรายการโอลิมปิกปี 2024 อีกด้วย

จากวันที่สร้างทีมขึ้นมาด้วยหัวใจ วันนี้ทั้งโค้ชอ๊อตและโค้ชด่วน รวมถึงเหล่าทีมงานวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ยังมุ่งมั่นนำพาทีมให้เดินหน้าต่อไป ปัจจุบันทีมวอลเลย์บอลสาวไทยก้าวขึ้นมาเป็นทีมอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย และรั้งอันดับที่ 15 ของโลก นี่คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจอย่างแท้จริง

เดวิด เบ็คแฮม & เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

ปิดท้ายด้วยนักฟุตบอลชื่อก้องโลก “เดวิด เบ็คแฮม” ปัจจุบันแม้เจ้าตัวจะเลิกราจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพไปแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขายังคงได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และหากว่าจะย้อนเวลากลับไปสู่เส้นทางอาชีพฟุตบอลของอดีตนักเตะหมายเลข 7 ผู้เกรียงไกรคนนี้ บุคคลที่เป็นเสมือน “ครู” ที่เคี่ยวกรำและผลักดันให้เบ็คแฮมมีวันนี้ได้ เขาคนนั้นคือ “เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน”

เรื่องราวของ “ศิษย์เอก” กับ “ครูใหญ่แห่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1991 เมื่อเดวิด เบ็คแฮม เซ็นสัญญาเข้าเป็นนักเตะฝึกหัดของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้น เบ็คแฮมถูกส่งไปเล่นให้กับทีมเปรสตัน นอร์ธ เอนด์ เนื่องจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังเห็นว่า เขามีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกัน จึงตัดสินใจส่งไปฝึกฝนฝีเท้าให้แกร่งกล้ายิ่งขึ้น

เบ็คแฮมไม่เสียใจ และตั้งใจฝึกซ้อมจนทำผลงานได้ดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่นานนัก เขาก็ถูกเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ดึงกลับมาร่วมต้นสังกัดเดิมอีกครั้ง พร้อมบอกเหตุผลในความประทับใจนักเตะคนนี้ว่า...

“เขาฝึกซ้อมด้วยความมีระเบียบวินัย เพื่อให้ทุกสิ่งถูกต้องแม่นยำในสนามแข่งขันจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเตะคนอื่นไม่เคยสนใจ”

ในปี 1992 เบ็คแฮมถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ และสร้างผลงานเป็นที่พอใจต่อเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเป็นอย่างมาก ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในทีมนักเตะที่ได้รับฉายาว่า “Class of 1992” สร้างความสำเร็จให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอีกนานนับสิบปี

เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังเคยพูดถึงลูกทีม ซึ่งเปรียบเสมือน “ลูกรัก” คนนี้ของเขาอีกว่า

 “เขาไม่ได้เป็นนักเตะที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ที่เปี่ยมล้น แต่สิ่งที่เบ็คแฮมมีเสมอมา นั่นคือ การฝึกซ้อมอย่างหนัก จนสามารถก้าวมาเป็นยอดนักเตะระดับโลกได้”

“เบ็คแฮม มักใช้เวลาหลังจากการฝึกซ้อมประจำวันของทีม เพื่ออยู่ซ้อมต่อเพียงคนเดียว โดยเขามักเน้นไปที่การซัดลูกนิ่งในรูปแบบต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเบ็คแฮม ถึงก้าวมาประสบความสำเร็จ นั่นเพราะเขาหมั่นฝึกซ้อมอย่างบ้าคลั่ง นี่คือสิ่งที่ทำให้เขามีความแตกต่างจากนักเตะคนอื่น”

เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ภูมิใจในตัวลูกศิษย์คนนี้อย่างมาก แม้ว่าในช่วงหนึ่ง ทั้งคู่จะเคยมีปัญหาบาดหมางกัน จนทำให้เบ็คแฮมย้ายออกจากทีมไปอยู่สโมสรในสเปนอย่างเรอัล มาดริด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็กลับมาดีดังเดิม เพราะในสายตาของเบ็คแฮมแล้ว เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คือ “ครู” ผู้มีพระคุณต่อเขา และยกย่องให้เป็นคุณพ่ออีกคนหนึ่งของเขาเลยทีเดียว

เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจ จะทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่การระลึกถึงพระคุณของ “ครู” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ จะช่วยเติมเต็มให้ทุกๆ คนมีความภาคภูมิใจ...

ข้อมูลอ้างอิง:
-www.sportingnews.com/th/football/newsเปิดตำราสร้าง-“ชนาธิป”-เบื้องหลังความสำเร็จที่แข้งเยาวชนทุกคนสามารถเดินรอยตาม/fut7rqz5ovopbmilxbijcbtx
-www.thaipbs.or.th/news/content/145310
-www.thaipbs.or.th/news/content/266831

-www.thaipbs.or.th/news/content/143457
-www.readthecloud.co/chatchai-choi-young-seok/
-www.readthecloud.co/kiattipong-radchatagriengkai/
-www.longtunman.com/15389
 

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ : https://www.thaipbs.or.th/now/content     

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โค้ชกีฬาวันครูคนดังนักกีฬาคนดัง
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ