ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไม ? ควรประยุกต์ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

29 พ.ย. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ทำไม ? ควรประยุกต์ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/540

ทำไม ? ควรประยุกต์ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” มีประโยชน์มหาศาล Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำข้อดีของการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาหลากหลายวิชา ส่งเสริมนักเรียนพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีอะไรบ้างตามมาอ่านกันให้ไว

“เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ริเริ่มจากการเป็นเครื่องมือสำรวจเพื่อนักวิจัยใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลก แต่ปัจจุบันภูมิสารสนเทศสามารถใช้เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในหลากหลายวิชา ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสูงหรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน ภูมิสารสนเทศสามารถช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดเชิงพื้นที่ เช่น เข้าใจรูปแบบ ความสัมพันธ์ และกระบวนการทางพื้นที่ และนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและสถานการณ์จริง ส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสตร์หรือวิชาอื่น ๆ

นักเรียนสามารถใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศและวิธีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสำรวจในประเด็นที่สนใจ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ เช่น นักเรียนสามารถใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูล GIS เพื่อทำแผนที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หาความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่และเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์เพื่อร้อยเรียงเป็นเรื่องราว เปรียบเทียบแนวโน้มประชากร คำนวณระยะทางและพื้นที่ สำรวจปัญหาทางสิ่งแวดล้อม หรือสร้างผลงานทางศิลปะ เป็นต้น

ประโยชน์ของการประยุกต์ใช้ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา

การประยุกต์ใช้ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ในการศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างมากมาย สำหรับในด้านของผู้เรียนรู้และผู้ถ่ายทอด เช่น การเสริมสร้างความสนใจและกำลังใจในการเรียนรู้ของนักเรียน ส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เสริมสร้างทักษะความเข้าใจและความสามารถการใช้เทคโนโลยี เตรียมนักเรียนให้พร้อมสู่อาชีพและโอกาสในอนาคต การใช้ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” สามารถทำให้กระบวนการเรียนรู้สนุกและน่าสนใจมากขึ้น ส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนสามารถใช้แผนที่ ภาพถ่ายจากดาวเทียม มัลติมีเดีย ฟังก์ชันบนแผนที่ออนไลน์ ข้อมูลผลการวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม  เพื่อการสำรวจตามสิ่งที่นักเรียนสนใจ

นอกจากนี้ยังสร้างความท้าทายนักเรียนในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล ตีความหมายจากข้อมูล และสื่อสารผลการวิเคราะห์ ภูมิสารสนเทศยังช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีอย่างสมเหตุสมผลและรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการเรียนรู้วิธีการเข้าถึง ประเมิน และแบ่งปันข้อมูลในยุคดิจิทัล สามารถทำให้นักเรียนได้เรียนรู้โลกภายนอกห้องเรียนจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เช่น วิเคราะห์หาหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการรั่วไหลของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เป็นต้น ในที่สุดสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21

ความท้าทายการประยุกต์ใช้ “ภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา

การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในสังคมไทย เริ่มเป็นที่แพร่หลายผ่านแอปลิเคชันแผนที่ออนไลน์ หลายคนเริ่มคุ้นเคยกับการสืบค้นหาสถานที่หรือการสร้างแผนที่อย่างง่ายบนแอปฯ แต่หากเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมในเชิงลึกยังมีข้อจำกัดในหลายประการ

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องความซับซ้อนในวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ การเลือกชุดข้อมูลให้ถูกต้องเนื่องจากความหลากหลายของภาพถ่ายจากดาวเทียม อีกทั้งโปรแกรมวิเคราะห์ยังคงต้องอาศัยทักษะความรู้เฉพาะด้าน ทำให้บุคลากรด้านการศึกษา จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติม พัฒนาทักษะความเป็นมืออาชีพด้านภูมิสารสนเทศ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเรียนรู้วิธีการประยุกต์ใช้อยู่เสมอ

ตัวอย่างโครงการด้าน “ภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา

โครงการด้านภูมิสารสนเทศสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสาขาวิชา หลากหลายระดับชั้น และ และวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ การใช้ GIS เพื่อจำทำแผนที่ผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งในพื้นที่ท้องถิ่นของนักเรียนและระดับโลก การสำรวจสาเหตุและผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในจังหวัดของนักเรียน การสร้างแผนที่นำเสนอเรื่องราวในชุมชนของตนเอง เป็นต้น

นอกจากนี้เทคนิคทาง “ภูมิสารสนเทศ” ยังสามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อศึกษาอีกหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงภัยพิบัติธรรมชาติ การดำเนินโครงการด้านภูมิสารสนเทศเหล่านี้ เป็นโอกาสให้นักเรียนสามารถเพิ่มพูนความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาทักษะในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นไม่ว่าในอนาคตจะทำงานในสาขาวิชาชีพใด ๆ

แหล่งทรัพยากรสำหรับ “ภูมิสารสนเทศ” เพื่อการศึกษา

ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลทางด้านภูมิสารสนเทศ ทั้งข้อมูล GIS ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมไปกรณีศึกษางานค้นคว้าต่าง ๆ ที่นำเสนอด้วยเทคนิคแบบ Story map เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตมากมาย เข้าถึงง่ายและสะดวกกว่าแต่ก่อน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการศึกษาได้เลยทันที

ตัวอย่างเช่น Esri เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้าน GIS และได้จัดสรรผลิตภัณฑ์สำหรับด้านการศึกษา เช่น ArcGIS Online, ArcGIS StoryMaps, ArcGIS Learn และ Esri Academy เป็นต้น ในส่วนของภาพถ่ายจากดาวเทียมเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ NASA, ESA และเฟซบุ๊กของ GISTDA ที่เป็นข้อมูลให้เข้าถึงได้ฟรี

เว็บไซต์ GIS Lounge ยังเป็นแหล่งความรู้จากต่างประเทศเกี่ยวกับเทคนิควิธีการวิเคราะห์ GIS เช่น ข้อมูล ซอฟต์แวร์ สื่อการสอน และข่าวสาร นอกจากนี้เฟซบุ๊ก มิตรเอิร์ธ - mitrearth แหล่งรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข้อมูลภูมิสารสนเทศเกี่ยวกับประเทศไทย การวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศในมุมมองของ “ภูมิสารสนเทศ” อีกทั้งแจกข้อมูลให้โหลดกันได้ฟรีเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา 

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภูมิสารสนเทศเทคโนโลยีTechnologyThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech Thai Innovation Tech World
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด