นักเขียนการ์ตูนไทย ผู้เนรมิตพระพุทธเจ้ามุมมองใหม่ คว้ารางวัลระดับโลก


Interview

26 ก.พ. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
นักเขียนการ์ตูนไทย ผู้เนรมิตพระพุทธเจ้ามุมมองใหม่  คว้ารางวัลระดับโลก

“นักเขียนการ์ตูนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก”

ไม่ได้กล่าวเกินจริงไปนัก เพราะหากใครที่ติดตามแวดวงการ์ตูนไทย จะทราบดีว่า ที่ผ่านมา มีบรรดาเหล่า “การ์ตูนนิสต์ไทย” นำผลงานไปคว้ารางวัลการ์ตูนระดับนานาชาติอยู่มากมาย 

และล่าสุด “ด๊าส” อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์ นักเขียนการ์ตูนสายเลือดไทย เพิ่งสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลประเภท Bronze Award จากการประกวด Japan International MANGA Award ครั้งที่ 17 จากการส่งผลงานการ์ตูนที่ชื่อ Before Becoming Buddha โดยเป็นหนึ่งในผลงานที่ร่วมประกวดกว่า 587 ชิ้น จากเหล่านักเขียนการ์ตูนทั่วโลกกว่า 82 ชาติ 

ผลงานครั้งนี้การันตีว่า นักเขียนการ์ตูนไทย มีฝีมือระดับนานาชาติ และหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ผลงานการ์ตูน Before Becoming Buddha ยังเป็นงานเขียนที่นำเรื่องราว “พระพุทธเจ้า” ในช่วงก่อนตรัสรู้ มาเนรมิตลายเส้นด้วยความงดงาม จัดทำทั้งหมด 3 เล่ม แต่แค่เพียงเล่มแรก สามารถคว้ารางวัลใหญ่มาครองได้สำเร็จ

“เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผมมาตั้งแต่เด็ก” อดิศักดิ์บอกถึงที่มาของการลงมือเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าตัวเคยลงมือวาดรูปพระพุทธรูปตั้งแต่อายุ 7 -8  ขวบ แต่สำหรับโปรเจคท์นี้ เขาใช้เวลากว่า 4 ปีในการเนรมิตลายเส้นอันงดงาม จนออกมาเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว 

เหตุผลใดที่ทำให้นักเขียนการ์ตูนวัย 43 ปีคนนี้ สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนแนว “พุทธประวัติ” ขึ้นมา แถมยังเนรมิตออกมาได้ใน “มุมมองใหม่” ที่แปลกไปกว่าที่เคย และรางวัลที่ได้รับมา สร้างการรับรู้ให้ “การ์ตูนไทย” มีที่หยัดยืนบนเวทีการ์ตูนระดับนานาชาติได้แค่ไหน ทั้งหมดมีคำตอบจากสนทนาครั้งนี้

ที่มาของการได้รางวัล Japan International MANGA Award ครั้งที่ 17 

เริ่มต้นพูดคุยกับ ด๊าส - อดิศักดิ์ ถึงที่มาที่ไปของการส่งผลงาน Before Becoming Buddha ไปประกวดยังรายการ Japan International MANGA Award ครั้งที่ 17 เขาบอกว่า อยากนำการ์ตูนไทยในสไตล์ใหม่ ๆ ไปให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก

“ผลงานที่ส่งเข้าไปประกวดมีหลากหลายแนวมากครับ แต่ที่ผมส่งไปเป็นแนวเกี่ยวกับศาสนา เอาจริง ๆ ก็ไม่มั่นใจว่างานจะผ่านหรือเปล่า เพราะลักษณะผลงานแนวนี้ ดูไม่ค่อยเป็นมังงะสักเท่าไร โอกาสที่จะได้รางวัล ส่วนตัวคิดว่าน้อย แต่เราคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว จึงอยากลองส่งไปเพื่อสื่อสารกับคนอ่านชาติอื่น ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา”

อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์ นักเขียนการ์ตูนไทย

อดิศักดิ์เล่าต่อว่า รายการ Japan International MANGA Award  เป็นรายการประกวดการ์ตูนที่ค่อนข้างใหญ่ รางวัลที่มอบให้จัดว่าเป็นระดับโลก ที่ผ่านมา เคยมีนักเขียนการ์ตูนไทยส่งผลงานเข้าประกวด และเคยได้รับรางวัลมาบ้าง แต่สำหรับปี 2023 ที่ผ่านมา ผลงาน Before Becoming Buddha ของเขา เป็นหนึ่งเดียวของงานการ์ตูนไทยที่ได้รางวัลมาครอง

“ปี 2023 มีผลงานส่งเข้าไปประกวดราว ๆ 587 ชิ้น จากนักเขียนการ์ตูนกว่า 82 ชาติ มีหลากหลายแนว และหลากหลายสไตล์ โชคดีที่หนังสือการ์ตูนเล่มนี้พิมพ์เสร็จทันก่อนที่จะปิดรับสมัคร ผมจึงส่งผลงานไปที่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเขาจะมีกระบวนการคัดสรร นำผลงานไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกรอบหนึ่งก่อน จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการตัดสินอีกรอบหนึ่ง”

“แต่อย่างที่บอกไป โอกาสเราค่อนข้างน้อย เพราะดูจากรางวัลที่ได้รับที่ผ่านมา เป็นมังงะแนว feel good เสียมากกว่า แนวเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างนี้ เราคิดว่าน่าจะยาก แต่ก็อยากลองส่ง (หัวเราะ) จนเวลาผ่านไป มีอยู่วันหนึ่ง ทางสถานทูตญี่ปุ่นในไทยติดต่อมา เขาบอกว่าเราได้รับรางวัลนะ ตอนเขาโทรมาผมอยู่ในห้องน้ำ เราก็อึ้ง ๆ ไป จริงเหรอ (หัวเราะ) รู้สึกดีใจมาก ส่วนตัวต้องบอกว่า บรรลุในความตั้งใจในวัยเด็ก ที่อยากวาดรูปพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ 7 -8 ขวบแล้ว”

แรงบันดาลใจการวาดรูปพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย

ย้อนเวลากลับไปในวัยเยาว์ของอดิศักดิ์ เขาบอกว่า ชอบวาดการ์ตูนมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แต่ความชื่นชอบในการวาดรูปพระพุทธเจ้า มาเกิดขึ้นตอนราวอายุ 7 -8 ขวบ ซึ่งเป็นความบังเอิญที่ทำให้เขาฝังใจจำเรื่อยมา

“พอดีแถวบ้านมีวัดที่กำลังสร้างประตูโบสถ์อยู่ เขากำลังปั้นรูปปูนนูนต่ำ เป็นรูปพระพุทธเจ้ากำลังแสดงปฐมเทศนากับปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผมเดินเข้าไปดู เกิดความรู้สึกชอบมาก เข้าไปดูใกล้ ๆ ว่า มีรายละเอียดอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีกล้องมือถือไว้ถ่ายรูป ผมจึงอาศัยจ้องดู จากนั้นก็วิ่งกลับไปที่บ้าน เพื่อเอาไปวาดลงสมุด ตรงไหนจำไม่ได้ ก็วิ่งกลับไปดู วิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้หลายรอบ (หัวเราะ) พอวาดเสร็จ พ่อแม่ทึ่งมาก เด็กอายุขนาดนั้นสนใจวาดรูปพระพุทธเจ้า”

“แต่ด้วยความที่ยังเด็ก เรายังวาดไม่สวยพอ เลยตัดสินใจหยุดวาด ไปเอาดีด้านวาดการ์ตูนก่อน พวกโดเรมอน ดรากอนบอล โดยลืมเรื่องพระพุทธเจ้าไปตั้งแต่ตอนนั้นเลย”

แม้จะหยุดวาดภาพรูปพระพุทธเจ้า แต่อดิศักดิ์บอกว่า เขายังฝึกปรือการวาดการ์ตูนเรื่อยมา จนอายุราว 14 -15 ปี เขาลองส่งผลงานไปยังสำนักพิมพ์ และได้งานเป็นนักเขียนการ์ตูนฟรีแลนซ์ ก่อนที่ในเวลาต่อมา จึงได้ก้าวเข้าไปเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

เวลาผ่านมาหลายสิบปี กระทั่งวันหนึ่ง เจ้าตัวเดินทางไปยังหอศิลป์ในประเทศรัสเซีย ซึ่ง ณ หอศิลป์แห่งนั้น มีพระพุทธรูปตั้งแสดงผลงานอยู่ด้วย ความรักความชอบที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็ก จึงถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

“จำได้ว่าเป็นงานพระพุทธรูปยุคคันธาระ (Gandhara) เป็นพระพุทธรูปยุคแรกที่ถูกสร้างขึ้น ราว ๆ พ.ศ. 663 – 705 พอเห็นเข้าก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและจุดประกายความทรงจำตอนเด็ก ๆ ขึ้นมาว่า ฉันอยากวาดพระพุทธเจ้า หรือวาดพุทธประวัติแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่แนวที่เป็นพระพุทธรูปในไทย”

“หลังจากนั้นจึงกลับมาหาข้อมูล ได้รู้เพิ่มเติมว่า ความงามของพระพุทธรูปยุคนี้ เป็นศิลปะสไตล์กรีก ซึ่งเราจะวาดแบบนี้แหละ อยากสะท้อนออกมาถึงความงามของมหาบุรุษแบบสไตล์กรีก แต่เล่าเป็นพุทธประวัติที่อิงทางสายเถรวาท นั่นคือแรงบันดาลใจทั้งหมดที่เกิดขึ้นมา”

ลงมือเนรมิต “พระพุทธเจ้า” มุมมองใหม่ 

เมื่อปักความตั้งใจลงในความนึกคิดแล้ว อดิศักดิ์จึงเริ่มต้นร่างแบบการ์ตูน “พระพุทธเจ้า” ในสไตล์อย่างที่จินตนาการไว้ เขาบอกว่า ใช้เวลาร่างแบบอยู่นาน แก้แล้วเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วแก้ อยู่พักใหญ่จนเจอแบบที่พอใจ

“เริ่มต้นเราต้องออกแบบลายเส้นพระพุทธเจ้าก่อน ตั้งใจว่าอยากให้เป็นลายเส้นที่ดูเรียลริสติกขึ้นมาหน่อย เพราะเมื่อก่อน ลายเส้นงานของเราจะไปทางการ์ตูนมังงะ เป็นแนวคอมิก ๆ (Comic) หน่อย”

“ทีนี้จึงมาหาลายเส้นที่คิดว่าใช่จริง ๆ สำหรับงานนี้ ตั้งต้นที่พระพุทธรูปในยุคคันธาระ ที่มีอิทธิพลของกรีก-โรมัน ซึ่งโจทย์ของเราคือ ทำไมยังไงให้คนเห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า นี่ล่ะมหาบุรุษ นี่ล่ะพระพุทธเจ้า นี่ล่ะความงาม เราต้องสื่อออกมาให้ได้อย่างนั้น ใช้เวลาสเกตแบบอยู่นานมาก หาเรฟเฟอเรนซ์แบบหน้าคนอินเดียบ้าง ดูศิลปกรรมต่าง ๆ บ้าง”

“จนได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ไปที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ไปเห็นรูปปั้นเดวิด ซึ่งพอดูแล้ว นี่ล่ะ ใช่เลย นี่คือความงาม มหาบุรุษต้องเป็นอย่างนี้ สุดท้ายเราจึงพยายามสเกตออกมาด้วยแนวทางเหล่านี้”

พฤศจิกายน ปี 2022 คือช่วงเวลาที่อดิศักดิ์จบเรื่องลายเส้นการ์ตูนพระพุทธเจ้าของเขา สรุปรวมใช้เวลาราว ๆ 4 ปี นับตั้งแต่เกิดแรงบันดาลใจ จนเมื่อลงมือวาดอย่างจริงจัง เขากำหนดขอบเขตเรื่องราวของการ์ตูนชิ้นนี้ ว่าเป็นเรื่องราว “ก่อนตรัสรู้” ของพระพุทธเจ้า จนเป็นที่มาของชื่อหนังสือ “Before Becoming Buddha” และโจทย์สำคัญต่อมาอีกอย่างก็คือ เนื้อหาของเรื่องที่ข้อมูลต้องถูกต้องและครบถ้วน

“เรื่องพุทธประวัติ ผมอ่านมาตั้งแต่เด็ก เคยอ่านพระไตรปิฎกครบทั้ง 40 กว่าเล่มมาตั้งแต่เด็ก แม้จะยังไม่ได้เขียน แต่เราเป็นคนชอบด้านนี้ มีเวลาเราก็อ่าน เราก็ศึกษามาตลอด จึงต้องบอกว่า พุทธประวัติอยู่ในหัว นึกว่าอยากค้นหาข้อมูลตรงไหน ก็จะอยู่ในหัวตลอด”

“ส่วนสาเหตุที่เลือกเป็นตอนก่อนตรัสรู้ คือถ้าจะเล่าตั้งแต่แรกเลย มันจะยาวไป อาจจะเกิดความท้อก่อน เราน่าจะหยิบสักเหตุการณ์หนึ่ง ตอนแรกจะเป็นแค่ช่วงตรัสรู้ไปเลย แต่จุดประสงค์เปลี่ยน ตอนไปฝรั่งเศส ไปเห็นงานศิลป์ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ( Louvre Museum) แล้วเห็นรูปปั้น ประติมากรรมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กำลังทรงม้า ในหัวเราแวบขึ้นมา น่าจะมีฉากออกบวช เจ้าชายสิทธัตถะขี่ม้าออกมาแบบสวยๆ งั้นเล่าย้อนกลับไปสักหน่อย เอาตอนที่เริ่มออกบวช แล้วพยายามจบภาคก่อนตรัสรู้ให้ได้ภายใน 3 เล่ม”

“ส่วนความกังวลเรื่องข้อมูล กลัวจะไม่ถูกต้อง ผมทำการบ้านเยอะมาก เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือน จะมีก็แต่เรื่องรูปลักษณะของพระพุทธเจ้าที่เราสร้างขึ้นใหม่ อย่างที่บอกว่าผมได้แรงบันดาลใจมาจากยุคคันธาระ ซึ่งตอนเราอธิบายให้หลาย ๆ คนฟัง ก็ไม่มีใครค้าน เพราะเอาเข้าจริง ศิลปะทางพุทธศาสนาที่รับเข้ามาในไทย มีการผ่านการดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัยเช่นกัน”

อดิศักดิ์เพิ่มเติมว่า เขาไม่ได้กังวลประเด็นดรามา โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะนอกจากจะศึกษามาอย่างดี บางกรณีเขายังกล้าที่จะปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้นด้วย

“อย่างเรื่องจีวรที่นุ่งห่ม ถ้าไปดูโยคี หรือนักบวชในอินเดีย แม้แต่ในปัจจุบัน เขาก็ไม่ได้มีระเบียบแบบแผนในการนุ่งห่มเครื่องแต่งกายของพระ บางคนนุ่งลมห่มฟ้าด้วยซ้ำ ผมว่าน่าจะใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาล ในการ์ตูนจึงดีไซน์ผ้าหรือการนุ่งห่มออกมาให้ออกมาเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับตอนนั้นที่สุด แต่หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ค่อยออกแบบเครื่องนุ่งห่ม หรือส่วนอื่น ๆ ให้เหมือนอย่างในปัจจุบัน”

“พองานออกไป แทบไม่มีฟีดแบคเรื่องการคัดค้าน เพราะเราอธิบายเหตุผลที่มาที่ไปไว้หมด ไม่มีดรามาเลย ผมคิดว่าทุกฝ่ายเข้าใจ ศิลปินมีแรงบันดาลใจและเหตุผลในการสร้างจากจุดนี้ แล้วยิ่งไปอ่านเหตุการณ์ ไม่มีตรงไหนที่บิดเบือน เราอ้างจากพระไตรปิฎก เรื่องบางอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราพยายามอธิบายว่าไม่ใช่นะ ตามพระไตรปิฎก ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่เราศึกษามาเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลายเป็นการเติมความรู้ลงไปในการ์ตูนอีกด้วย”

แผนงานที่ต้องไปต่อ นำการ์ตูน “พุทธศาสนา” สู่ตลาดโลก

หลังมีข่าวคว้ารางวัลจากเวที Japan International MANGA Award ครั้งที่ 17 อดิศักดิ์เล่าว่า มีผู้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อการ์ตูน Before Becoming Buddha เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แม้ว่าขณะนี้จะยังมีเพียงเล่มหนึ่ง แต่เจ้าตัวบอกว่า เร็ว ๆ นี้เล่มสองกำลังจะพิมพ์ออกขาย และปิดท้ายซีรีส์ก่อนตรัสรู้นี้ที่เล่มสามราวเดือนพฤษภาคม 

นอกจากแฟนการ์ตูนคนไทย ที่มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ อดิศักดิ์บอกว่า มีนักอ่านชาวต่างชาติ ติดต่อขอซื้อการ์ตูนเล่มนี้เช่นกัน

“มีที่ถามว่า เมื่อไรเราจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ อย่างชาวอินเดีย เนปาลก็ติดต่อเข้ามา ขอให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเขาจะช่วยดำเนินการเรื่องการนำไปวางขายให้อีกที”

“ด้วยความที่ยุคนี้มีสื่อโซเชียล ทำให้ผลงานของเรากระจายออกไปได้ไกล บางทีเราเองก็เอางานไปโพสต์ในกลุ่มการ์ตูนต่างประเทศ เขาก็สอบถามเข้ามา ซื้อได้ที่ไหน สั่งยังไง บางคนอยู่อเมริกา บอกให้ช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษหน่อยได้ไหม ต่อให้ค่าจัดส่งจะแพงกว่าค่าหนังสือ เขาก็ยินดีซื้อ”

อดิศักดิ์บอกว่า หาก Before Becoming Buddha จบครบทั้ง 3 เล่มแล้ว เขาคงเตรียมแผนการผลิตซีรีส์การ์ตูนแนวพุทธศาสนาต่อไป รวมถึงขยายตลาดไปสู่ชาวต่างชาติมากขึ้น 

“ผมมองว่านี่เป็นโอกาสอันดีมาก ๆ ที่การ์ตูนไทยจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น และน่าจะทำให้วงการนักเขียนการ์ตูนไทยมีความคึกคักมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

“นักเขียนการ์ตูนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก” หากได้รับการสนับสนุนเพียงพอ

อดิศักดิ์ยืนยันว่า ฝีไม้ลายมือของนักเขียนการ์ตูนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือแม้แต่กลุ่มคนอ่าน ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมก เพื่อที่จะทำให้พวกเขาเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ มีคุณภาพออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ

“วงการนักเขียนการ์ตูนไทย มีบุคลากรที่มีคุณภาพเยอะ ทั้งทำงานที่ต่างประเทศ หรือขายงานให้ต่างประเทศ มีหลายระดับ ตั้งแต่เด็กวัยรุ่น ไปจนถึงระดับมืออาชีพ คือมีหลากหลายแนวมาก และยืนยันได้เลยว่า นักเขียนการ์ตูนไทยไม่แพ้ชาติใด เพียงแต่ว่าบางครั้งการสนับสนุนอาจจะยังไม่มากพอ ที่จะทำให้เขายึดเป็นอาชีพต่อได้ บางทีมีกระแสแค่ช่วงหนึ่ง จากนั้นเขาก็ทำต่อไม่ไหว ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน สุดท้ายต้องผันตัวเองไปทำด้านอื่นต่อไป”

“แต่ถ้าหากได้รับการสนับสนุน มันจะทำให้เรามีทรัพยากร มีกำลัง มีพลังในการหาข้อมูล เพื่อผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน ทั้งการสนับสนุน และการพัฒนาของนักเขียนการ์ตูนเอง อาชีพนักเขียนการ์ตูนไทย ต้องใช้คำว่า ความพยายามต้องสูง คุณต้องทุ่มเทลงไปจริง ๆ อย่าเพิ่งท้อ แล้วผลที่ตอบรับกลับมา มันจะโอเค แต่ถ้าท้อก่อน ก็จบเลย”

ปิดท้าย เส้นทางชีวิตนักเขียนการ์ตูน จะอยู่ได้ต้อง “เชื่อในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ”

นับตั้งแต่อายุ 15 ปีที่ได้รับโอกาสเขียนต้นฉบับการ์ตูนส่งรายเดือน เวลาผ่านมากว่า 27 ปีบนเส้นทางอาชีพ “นักเขียนการ์ตูน” อดิศักดิ์ยืนยันว่า อาชีพนี้ส่งเสียเขาจนเรียนจบ แถมยังสร้างเนื้อสร้างตัวให้กับเขาได้ ซึ่งกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอาชีพนี้ นั่นก็คือ ความต่อเนื่อง

เหล่าผลงานการ์ตูนของอดิศักดิ์

“ผลงานเล่มแรกๆ คนอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่ชอบ แต่คุณต้องสร้างงานต่อเนื่อง เมื่อสร้างงานต่อเนื่อง คนจะเริ่มมาสนใจและติดตาม พอรู้ว่าเคยเขียนงานอะไรมาก่อน งานเดิมมีอะไรบ้าง เขาก็จะตามไล่อ่านย้อนไป สำคัญคือ อย่าเพิ่งท้อ”

อีกหนึ่งปัจจัยที่มากกว่าความต่อเนื่อง คือความขยัน อดทน และต้องทุ่มเท ซึ่งอดิศักดิ์เคยผ่านจุดนี้มาหมดแล้ว ปัจจุบันเขาทำสำนักพิมพ์เอง 2 แห่ง แห่งหนึ่งชื่อ Das Art และอีกแห่งคือ Steak Comic เจ้าตัวบริหารงานเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ตั้งแต่ลงมือเขียนงานเอง ส่งพิมพ์เอง แพกของเอง และจัดส่งเอง 

“ผมยังยืนยันว่า กลุ่มคนอ่านการ์ตูนยังมีจำนวนอยู่เยอะ แม้ปัจจุบันเขาอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปอ่านบนออนไลน์บ้าง ซึ่งกลุ่มนี้ต้องลงให้อ่านฟรีก่อน ถึงจะติดตามมาสนับสนุนผลงานอีกที เราอาจจะได้เป็นค่าต้นฉบับ หรือค่าซัพพอร์ตจากแฟนคลับ แต่จากที่ผมเคยลองทำมา ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย”

“ผมจึงเปลี่ยนใหม่ ไม่ลงแบบอ่านฟรี ผมทำเป็นเล่มขาย แล้วคนที่ซื้อคือกลุ่มคนที่เขาอยากอ่านแบบเป็นเล่มมากกว่า เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อพอสมควร กลุ่มนี้โตมากับหนังสือตั้งแต่ยุค 90 ซึ่งติดตามการ์ตูนมาตลอด การตอบรับเลยดีกว่าแบบอ่านฟรี”

กว่า 27 ปี บนเส้นทางอาชีพนักเขียนการ์ตูน ทั้งหมดที่ทำลงไป เกิดจากความรัก ความหลงใหลในโลกแห่งการ์ตูนอย่างแท้จริง และเขามองว่า การ์ตูนไม่เคยทำร้ายใคร กลับกัน การ์ตูนยังทำให้ชีวิตก้าวมาไกลจนถึงวันนี้

“ถ้าเราชอบสิ่งไหน ตั้งใจอยากจะเป็นอะไร อยากให้ทำจนถึงที่สุด อย่าเพิ่งท้อ เพราะในระหว่างทาง จะมีอุปสรรคเข้ามาเสมอ แต่ถ้าเราผ่านมันไปได้ เราจะได้รับผลสำเร็จตามที่เราตั้งใจไว้ ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม ไม่เฉพาะนักเขียนการ์ตูน ขอให้ทำให้เป็นให้ได้ จนบรรลุผลสำเร็จครับ”

เมื่อรักแล้ว ก็ต้องอดทน ฝึกฝน จนไปสู่ความสำเร็จ สามารถติดตามผลงานการ์ตูนไทย จากนักเขียนไทยคนนี้ได้ บนช่องทางโซเชียลมีเดีย Steak Comic ซึ่งเตรียมทยอยปล่อยผลงานดี ๆ มีคุณภาพออกมา ให้คนไทยได้อ่าน และให้โลกได้ชื่นชมกันต่อไป

ภาพโดย : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน  

Did You Know ?

พระพุทธรูปยุคคันธาระ (Gandhara) หรือ คันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปยุคแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอิทธิพลทางศิลปะแบบกรีก ในดินแดนตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเคยตกอยู่ใต้การครอบครองของชาวกรีกตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

แต่เดิมศิลปินถิ่นนี้ไม่นิยมการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า โดยมักใช้สัญลักษณ์แทนพระองค์เสียมากกว่า แต่เมื่อได้รับอิทธิพลศิลปะจากกรีก จึงหันมาทำรูปเหมือน จนกลายมาเป็นพุทธศิลป์ที่รู้จักกันในชื่อ “พระคันธารราฐ” ซึ่งเป็นชื่อแคว้นที่ศิลปะดังกล่าวเจริญรุ่งเรือง ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศปากีสถาน

ที่มา : พระพุทธรูป “คันธารราฐ” สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศิลปะแบบคันธารราฐ

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์นักเขียนการ์ตูนไทยการ์ตูน Before Becoming Buddhaการ์ตูนพุทธศาสนาJapan International MANGA Award
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ