เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มนักวิจัยของจีนได้สร้างความก้าวหน้าในการปรับปรุงการคาดการณ์หยาดน้ำฟ้า (Precipitation : ชื่อเรียกการรวมของหยดน้ำและน้ำแข็ง ซึ่งเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำก่อนตกลงมาสู่พื้น เช่น ฝน ลูกเห็บ หิมะ) โดยใช้แนวทางล้ำสมัยที่ผสมผสานฟิสิกส์และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
อนึ่ง การศึกษาข้างต้นซึ่งเผยแพร่ในวารสารจีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช เลตเทอร์ส (Geophysical Research Letters) จัดทำโดยทีมวิจัยที่นำโดยสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน
การศึกษาระบุว่าในยุคของปัญญาประดิษฐ์ แบบจำลองอุตุนิยมวิทยาและสภาพภูมิอากาศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลล้วนกำลังค่อย ๆ ไล่ตามและแซงหน้าแบบจำลองเชิงตัวเลขแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญยังคงมีอยู่ในแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสามารถการคาดการณ์สภาพอากาศและปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่ซับซ้อน อาทิ หยาดน้ำฟ้า กลุ่มนักวิจัยจึงได้เสนอแนวทางใหม่ในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานฟิสิกส์ พลวัตบรรยากาศ และแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึก
ทีมวิจัยใช้ประโยชน์จากเอิร์ธแล็บ (EarthLab) แบบจำลองระบบโลกเชิงตัวเลขวิทยาศาสตร์ใหม่ที่พัฒนาโดยสถาบันฯ ซึ่งอาศัยข้อมูลและพลังการประมวลผลเพื่อยกระดับทักษะการคาดการณ์หยาดน้ำฟ้าของแบบจำลองเชิงตัวเลขนี้ โดยมุ่งไปที่การเชื่อมโยงตัวแปรทางฟิสิกส์ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมแบบกราฟ เพื่อระบุข้อจำกัดทางกายภาพ และปรับปรุงความแม่นยำของการคาดการณ์ “หยาดน้ำฟ้า”
หวงกัง ผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย กล่าวว่าในยุคของปัญญาประดิษฐ์ การบูรณาการฟิสิกส์ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่มาพร้อมแนวทางและมุมมองที่หลากหลาย โดยทีมวิจัยได้ทดลองใช้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นได้กับแบบจำลองจากมุมมองการเชื่อมโยงทางฟิสิกส์ โดยคำนึงถึงพลวัตของบรรยากาศและภูมิอากาศ
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ภาพซินหัว : ผู้คนเดินบนถนนท่ามกลางหิมะตกในเมืองจ่าวจวง มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 21 ก.พ. 2024
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech