เพิ่งสังเกตเห็น ! ค้นพบ “ภูเขาไฟขนาดยักษ์” ซ่อนตัวอยู่บน “ดาวอังคาร”


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

29 มี.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
เพิ่งสังเกตเห็น ! ค้นพบ “ภูเขาไฟขนาดยักษ์” ซ่อนตัวอยู่บน “ดาวอังคาร”

นักวิทยาศาสตร์พบภูเขาไฟขนาดยักษ์ลูกใหม่ บริเวณฝั่งตะวันออกของหย่อมภูเขาไฟธาร์สิส (Tharsis volcanic province) ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรของ “ดาวอังคาร” แต่เนื่องจากการกัดกร่อนที่เกิดขึ้น ทำให้ “ภูเขาไฟ” ลูกนี้มีสภาพที่ยากต่อการตรวจพบ และแม้ว่าในปี ค.ศ. 1971 ยานมารีเนอร์ 9 จะเคยถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารบริเวณนี้มาแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการระบุว่ามีภูเขาไฟลูกใหญ่ซ่อนตัวอยู่บริเวณนี้ และไม่มีผู้ใดสังเกตเห็นมานานนับหลายทศวรรษ

จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์รวมข้อมูลจากเหล่ายานโคจรรอบดาว (orbiter) ของ NASA หลายลำ ได้แก่ ยานมารีเนอร์ 9, ยานไวกิง ออร์บิเตอร์ 1 และ 2, ยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์, ยานมาร์ส โอดิสซีย์ และยานมาร์ส รีคอนเนสเซนส์ ออร์บิเตอร์ รวมถึง ยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) นำมาสู่การค้นพบภูเขาไฟยักษ์ดวงนี้ และได้นำเสนอครั้งแรกในการประชุมวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ครั้งที่ 55 (LPSC 2024) ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ

ความน่าสนใจของภูเขาไฟยักษ์ลูกนี้คือ มันถูกกัดกร่อนจนไม่มีใครสังเกตเห็นทั้งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศอันโดดเด่นของดาวอังคาร ทั้ง “น็อกติส ลาบรินธุส” (Noctis Labyrinthus : ชื่อภาษาละตินแปลว่า “เขาวงกตแห่งราตรี”) และแนวหุบเหวขนาดใหญ่ “วัลเลส มารีเนอริส” (Valles Marineris) รวมถึงภูเขาไฟยักษ์สามสหายอันโดดเด่น ได้แก่ ภูเขาไฟอัสกรายอุส (Ascraeus Mons), ภูเขาไฟปาโวนิส (Pavonis Mons) และภูเขาไฟอาร์เซีย (Arsia Mons) เรียกได้ว่าถ้าเคยดูภาพถ่ายดาวอังคารก็ต้องเคยเห็นภูมิประเทศทั้งหมดนี้อย่างแน่นอน

แม้ว่าภูเขาไฟลูกที่ค้นพบใหม่ลูกนี้จะถูกกัดกร่อนมากกว่าจนเตี้ยกว่าเหล่าภูเขาไฟขนาดยักษ์ 3 ลูกนี้ แต่ก็มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใกล้เคียงกัน โดยภูเขาไฟขนาดยักษ์ลูกที่ค้นพบใหม่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 450 กิโลเมตร (ประมาณระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น) และมีความสูงประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งทางสถาบัน SETI (SETI Institute) ยังได้มองว่าการค้นพบดังกล่าวช่วยบ่งชี้สถานที่ที่น่าตรวจหาสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตเพิ่มเติม และอาจเป็นตัวเลือกของจุดหมายที่จะมีภารกิจสำรวจในอนาคต

ภูเขาไฟขนาดยักษ์ ซ่อนตัวอยู่บน “ดาวอังคาร” ภาพจาก NASA, USGS Mars globe, Pascal Lee & Sourabh Shubham

Pascal Lee นักวิจัยหลักในงานวิจัยครั้งนี้ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของทางสถาบัน SETI และสถาบันดาวอังคาร ในศูนย์วิจัยเอมส์ของ NASA กล่าวว่า “พวกเราได้ศึกษาตรวจสอบธรณีวิทยาของพื้นที่ที่เราเคยพบซากธารน้ำแข็งเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่เราจะพบว่าตรงนี้คือภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ถูกกัดกร่อนไปมากแล้ว”

ขนาดที่ใหญ่มากและประวัติการเปลี่ยนสภาพที่ซับซ้อนของภูเขาไฟ บ่งชี้ว่าภูเขาไฟลูกนี้เคยคุกรุ่นมาเป็นระยะเวลานานมาก นอกจากนี้ ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาไฟขนาดยักษ์ลูกนี้มีชั้นตะกอนภูเขาไฟทับถมบาง ๆ ที่มีอายุน้อยซึ่งอาจมีธารน้ำแข็งฝังอยู่ในนั้น

“นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าบริเวณนี้บนดาวอังคารมีแร่ต่าง ๆ ที่มีโมเลกุลน้ำเป็นองค์ประกอบหลายชนิดที่เกิดขึ้นครอบคลุมยุคสมัยต่าง ๆ ของดาวอังคาร” Sourabh Shubham นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในสหรัฐฯ และเป็นผู้ร่วมวิจัยในงานวิจัยครั้งนี้กล่าว

“มีการคาดการณ์ถึงการมีอยู่ของภูเขาไฟจากการกระจายตัวของแร่เหล่านี้มานานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเจอภูเขาไฟที่นี่” Shubham เพิ่มเติม

การค้นพบครั้งใหม่นี้ ยังเน้นย้ำถึงปริศนาบางข้อ เช่น

- ภูเขาไฟลูกนี้เกิดขึ้นในช่วงแรกเริ่มของดาวอังคารและเคยคุกรุ่นมานานมาก แต่ยังไม่ทราบว่าภูเขาไฟเกิดขึ้นเมื่อไร
- แม้ว่าภูเขาไฟลูกนี้จะปะทุในช่วงเวลาไม่นาน “ในทางธรณีวิทยา” (ที่อาจเป็นระดับหลายพันไปจนถึงหลายแสนปี) แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบแน่ชัดว่าภูเขาไฟลูกนี้ยังคงคุกรุ่นและจะปะทุอีกครั้งในอนาคตหรือไม่
- หากภูเขาไฟลูกนี้คุกรุ่นมานาน สภาพแวดล้อมในบริเวณนี้ที่ผสมผสานระหว่างความร้อนจากภายในภูเขาไฟกับน้ำที่ละลายจากน้ำแข็ง จะทำให้พื้นที่แห่งนี้มีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ?

“ความผสมผสานดังกล่าวทำให้บริเวณภูเขาไฟบริเวณน็อกติส ลาบุรินธุส น่าสนใจ” Lee กล่าวเพิ่มเติม “ภูเขาไฟลูกนี้เป็นภูเขาไฟที่เก่าแก่และคุกรุ่นเป็นเวลานาน แต่ถูกกัดกร่อนไปมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าสำรวจ เก็บตัวอย่างหิน และระบุอายุของส่วนต่าง ๆ ภายในภูเขาไฟ เพื่อศึกษาต่อไปถึงวิวัฒนาการของดาวอังคาร”

Lee ได้สรุปว่าการที่ความร้อนจากภายในภูเขาไฟทำอันตรกิริยากับน้ำและน้ำแข็งมาอย่างยาวนาน ร่วมกับธารน้ำแข็งที่อาจมีอยู่ใต้พื้นผิวบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคารที่ค่อนข้างอบอุ่น ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับภารกิจสำรวจและการศึกษาทางชีวดาราศาสตร์

ความเป็นไปได้ถึงน้ำแข็งใต้ผิวดินในระดับตื้นบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร ยังสนับสนุนถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์อาจสามารถสำรวจบริเวณที่หนาวเย็นน้อยกว่าในขณะที่สามารถสกัดน้ำออกมาเพื่อการบริโภคและสร้างเชื้อเพลิงจรวดสำหรับภารกิจการสำรวจดาวอังคารโดยนักบินอวกาศในอนาคตได้


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภูเขาไฟขนาดยักษ์ภูเขาไฟดาวอังคารสำรวจดาวอังคารThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)