จากกรณี วันที่ 28 เมษายน 2568 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้บุกเข้าจับกุมหยางจิน ชาวจีน กลางห้างดังย่านประตูน้ำ พบการลักลอบจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องประดับแบรนด์ปลอม และขนมปลอมกว่า 20,000 ชิ้น พร้อมเตือนภัยผู้บริโภคว่าขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตปลอมที่พบ อาจมีสารอันตรายที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ
แหล่งที่มา : Facebook
พ.ต.ท.วิวัฒนชัย คลื่นแก้ว รอง ผกก.1 บก.ปอศ. ให้สัมภาษณ์กับทาง Thai PBS Verify ถึงผลการส่งตรวจกับทางกรมวิชาการเกษตร โดยระบุว่า พบส่วนผสมในขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลต มีการใช้วัตถุดิบเสื่อมคุณภาพหรือสารทดแทนราคาถูก เช่น น้ำมันปาล์มเกรดต่ำ สีผสมอาหารต้องห้าม หรือสารกันเสียเกินมาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ พิษสะสมในตับไต และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้
และยังกล่าวอีกว่าทางร้านที่ถูกจับกุม ได้ขายขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตแบรนด์จริง แต่พอจำหน่ายได้สักพักได้รับความนิยม เลยนำสินค้าจริง ไปให้โรงงานผลิตเลียนแบบและนำมาวางขายข้าง ๆ สินค้าจริง ในราคาเท่ากัน เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความสับสน แต่ไม่มีเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงาน อย. บนบรรจุภัณฑ์
Thai PBS Verify แนะวิธีสังเกต “ช็อกโกแลตปลอม” ก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนี้
เช็กวิธีสังเกตง่าย ๆ ก่อนซื้อ
- สังเกตอักษรบนบรรจุภัณฑ์
แม้บรรจุภัณฑ์จะพยายามเลียนแบบคล้ายของแท้ แต่มีจุดสังเกตได้ อย่างการใช้ตัวสะกดแตกต่างกัน เช่น ตัว i เปลี่ยนเป็นเลข 1 ตัว U เป็นตัว O
- สังเกตสีบนบรรจุภัณฑ์ สังเกตความคมชัดของสีและภาพ ของเลียนแบบอาจมีสีที่จางและไม่สม่ำเสมอ หรือรูปที่ไม่ชัดกว่าสินค้าจริง
- สังเกตเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงาน เช่น อย. ว่ามีหรือไม่
- สังเกตบาร์โค้ด ว่าบาร์โค้ดสามารถสแกนได้หรือไม่ ขณะจ่ายสินค้า
- พิจารณาราคา หากขายถูกเกินไปให้สงสัยไว้ก่อน
- สังเกตรสชาติ เนื่องจากสินค้าเลียนแบบใช้ส่วนประกอบที่มีคุณภาพต่ำ อาจมีกลิ่นเหม็นหืนได้
- ซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ หรือร้านนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย