“ทักค่ะ น่ารักจัง แลกรูปกันไหม”
บทสนทนา-ภาพถ่ายที่อยู่ในที่ลับแต่กลับกลายเป็นอาวุธที่ถูกข่มขู่ว่าจะปล่อยในที่แจ้ง เมื่อ Cyber Sextortion หรือการแบล็กเมลทางเพศผ่านโลกออนไลน์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของภัยร้ายที่กำลังคุกคามและคร่าชีวิตเหยื่อหลายคน โดยเฉพาะเยาวชนที่ตกเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ ด้วยกลอุบายแฝงความใกล้ชิด ความไว้ใจ และการหลอกลวงอย่างแนบเนียนผ่านแอปพลิเคชันส่วนตัว
“เยาวชน” เครื่องมือของมิจฉาชีพออนไลน์
เคยมีกรณีที่เยาวชนในสหรัฐ ต้องจบชีวิตตัวเองจากการแบกรับความกดดันจากการถูกแบล็กเมลรีดเงิน โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นหญิงสาววัยใกล้เคียงมาตีสนิทและส่งภาพยั่วยุให้แลกภาพทางเพศก่อนจะถูกขู่กรรโชกเงินหลายร้อยปอนด์ เพื่อแลกกับการไม่เผยแพร่สู่โลกออนไลน์
นอกจากนี้ในประเทศไทย บ่อยครั้งมีกรณีที่มิจฉาชีพพยายามล่อลวงเยาวชนให้ส่งภาพโป๊เปลือยเพื่อแลกไอเทมเกม ก่อนจะขู่แบล็กเมล หรือกรณีเด็กหญิงอายุเพียง 8 ขวบ ที่ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นหมอดูทักผ่านแอปพลิเคชัน Instagram ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรหากอยากสอบเข้าแพทย์ได้ โน้มน้าวให้ส่งรูปโป๊เปลือยพร้อมบัตรประชาชนจะทำการดูดวงให้ พอมิจฉาชีพได้ข้อมูลและภาพครบก็หายไป หลังจากนั้นไม่นานก็ทักมาให้ส่งภาพโป๊เปลือยอีกครั้ง ข่มขู่ว่าถ้าไม่ส่งให้เพิ่มจะเผยแพร่ภาพเหล่านั้นในโลกออนไลน์
กรณีเหล่านี้ ไม่เพียงแค่เกิดกับเยาวชน แต่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ก็เป็นเหยื่อลักษณะนี้เช่นกัน จากการที่มิจฉาชีพมาพูดคุย ตีสนิท ชวนคุยเชิงชู้สาว คล้ายจะมาจีบ ก่อนจะขอแลกรูปหรือขอมีกิจกรรมทางเพศผ่านหน้าจอ และถูกบันทึกเป็นภาพและคลิปเพื่อมาแบล็กเมล
กลลวงชักจูงผ่านหน้าจอของมิจฉาชีพ
- มิจฉาชีพเริ่มต้นติดต่อผ่านแอปพลิเคชันส่วนตัว เช่น Line
– ใช้วิธีพูดคุยตีสนิท คล้ายการทำความรู้จักเชิงชู้สาว เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ - เมื่อผู้เสียหายเริ่มเชื่อใจ ถูกชักชวนให้ส่ง "ภาพถ่ายส่วนตัว"
– ถูกชวนคุยในลักษณะสองแง่สองง่าม หรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ - มิจฉาชีพนำภาพไป ดัดแปลง หรือ ใช้เทคโนโลยี AI สร้างภาพลามก
– ทำให้ดูเสมือนว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมล่อแหลมทางเพศ - จากนั้นจึงใช้ภาพดังกล่าวในการขู่กรรโชก
– ข่มขู่ว่า “หากไม่จ่ายเงิน จะเผยแพร่ภาพลงโซเชียล”
– บางรายอ้างว่าจะส่งภาพให้คนในครอบครัว เพื่อน หรือโพสต์ลงโลกออนไลน์
การรับมือหากเป็นเหยื่อและการป้องกัน
- หากถูกข่มขู่ อย่าเพิ่งทำตามที่มิจฉาชีพบังคับ เช่น การโอนเงิน หรือส่งภาพเพิ่ม หากไม่ทำตามจะเผยแพร่ภาพดังกล่าว
- เก็บหลักฐาน ข้อมูล เพื่อดำเนินการแจ้งความกับสถานีตำรวจในพื้นที่หรือตำรวจไซเบอร์
- ระมัดระวังก่อนจะส่งภาพหรือข้อมูลส่วนตัวให้คนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์
- การเปิดกล้องวิดีโอคอลในลักษณะส่วนตัวกับคนแปลกหน้าถือว่ามีความเสี่ยง
- ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในโซเชียล ระวังเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่มิจฉาชีพจะสามารถนำไปดัดแปลงหรือข่มขู่ได้
ที่มา
- ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.
- BBC Thai - เสียชีวิตใน 6 ชั่วโมง แม่เหยื่อวัยรุ่นในสหรัฐฯ เล่าวิธีนักต้มตุ๋นแบล็กเมลทางเพศลูกชายเสียชีวิตใน 6 ชั่วโมง แม่เหยื่อวัยรุ่นในสหรัฐฯ เล่าวิธีนักต้มตุ๋นแบล็กเมลทางเพศลูกชาย