จากกรณีที่ นักแสดงหญิง เบสท์ ชนิดาภา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์ ยื่นคำร้องกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงผ่านบัญชีม้า หลังตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่แอบอ้างรับสมัครงานรีวิวโรงแรมร่วมกับบริษัทเอเจนซีชื่อดัง ถูกหลอกให้โอนเงินไปกว่า 1.2 ล้านบาท เบื้องต้นทางนักแสดงได้แจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พร้อมนำเอกสารหลักฐาน ทั้งข้อความแชตกับกลุ่มมิจฉาชีพ หลักฐานการโอนเงิน และใบแจ้งความมายื่นประกอบ
ซึ่งก่อนหน้านี้ Thai PBS Verify เคยตรวจสอบพบเพจที่มีลัษณะหลอกลวงคล้ายกัน มีการโพสต์รับสมัครงานนักรีวิวโรงแรม มีผู้คนสนใจงานจากเพจดังกล่าวจำนวนมาก และจากการตรวจสอบพบว่า เพจปลอมดังกล่าวเคยมีประวัติปิดบัญชีเฟซบุ๊กไป และใช้เพจใหม่ จากชื่อ Perfect Marketing เป็น Property Perfect Marketing (ลิงก์บันทึก) แต่มีผู้ติดตามและถูกใจเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนคน เมื่อดูความโปร่งใสของเพจจะพบว่า มีการเปลี่ยนชื่อถึง 6 ครั้ง และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจปัจจุบัน รวมถึงผู้จัดการเพจ ที่มี 9 ประเทศ เพจมิจฉาชีพดังกล่าว ถือว่ามีผู้ติดตามจำนวนมาก และด้วยการนำเอาภาพการจัดการอบรมที่มาจากแหล่งอื่น ๆ แอบอ้างบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลและผู้สมัครงานได้ (อ่านต่อ เพจอ้างรับอินฟลูฯ รีวิวโรงแรม แท้จริงสวมรอยบริษัทอสังหาฯ หลอกเงินค่าสมัคร)
ภาพประกาศรับสมัครงานทาง Facebook
กลโกงออนไลน์ที่อาศัย “ความน่าเชื่อถือของเพจ” และ “หน้าม้า”
มิจฉาชีพมักเริ่มต้นด้วยการสร้างเพจปลอมบนแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อและภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือ พร้อมยิงโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก อ้างว่ารับสมัครงานประเภทนักรีวิวโรงแรม อินฟลูเอนเซอร์ หรือนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พร้อมโปรยข้อเสนอสร้างแรงจูงใจ “รายได้สูง ทำงานง่าย” นอกจากนี้ยังมีการนำรูปภาพจากเพจอื่น ๆ มาใช้ในลักษณะงานจัดงานอบรมด้านอสังหาริมทรัพย์โดยอ้างชื่อผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง และมีการสร้างประกาศรายชื่อผลการสัมภาษณ์ให้น่าเชื่อถือ
เมื่อผู้เสียหายเริ่มสนใจจากประกาศเหล่านั้นและทักไปคุย มิจฉาชีพจะชวนไปพูดคุยต่อในแอปพลิเคชันส่วนตัว ในกรณีนี้คือ เทเลแกรม หลังจากนั้นจะให้ทำแบบทดสอบเบื้องต้น เช่น โจทย์ที่ให้มาคือการเขียนรีวิวโรงแรมตามภาพที่ส่งให้เหยื่อ พร้อมชวนทำกิจกรรมที่อ้างว่ามีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทเอเจนซีชื่อดังในธุรกิจท่องเที่ยว บริษัทจองที่พักหรืออสังหาริมทรัพย์ โดยมีการจ่ายเงินรางวัลตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม เหยื่อจะถูกเรียกเก็บค่าสมัครหรือค่าเข้าร่วมโครงการตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นบาท โดยไม่มีหลักฐานยืนยันใด ๆ และตลอดกระบวนการจะมีหน้าม้าในกลุ่มแชตที่มีสมาชิกนับร้อย ทำทีเป็นผู้ร่วมโครงการ ส่งสลิปปลอมและบทสนทนาปลอมเป็นลักษณะพูดคุยกันในกลุ่มแชตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีการขอเอกสารสมัครงานอย่างจริงจัง มักขอเพียงข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น และเมื่อเหยื่อทำกิจกรรมไปจนเห็นยอดรายได้สะสมในระบบแล้ว กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้จริง
สรุปรูปแบบกลลวงของเพจปลอม ดังนี้
- สร้างเพจปลอม
- พาเหยื่อไปคุยต่อในแอปพลิเคชันส่วนตัว
- หลอกให้จ่ายค่าสมัคร
- ใช้หน้าม้าในกลุ่มแชต
- ใช้ชื่อ-ภาพปลอมของผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทจริง
- ไม่ขอเอกสารสมัครงานจริงจัง
- เหยื่อไม่สามารถถอนเงินรายได้ที่เห็นในระบบได้จริง
เห็นยอดรายได้จากการทำงานทั้งหมดแต่ถอนไม่ได้
พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เคยให้ข้อมูลกับ Thai PBS Verify ถึงรูปแบบการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่นอกจากจะวางแผนอย่างเป็นระบบโดยทำเป็นขบวนการ และใช้จิตวิทยาหมู่ผ่านการสร้าง "หน้าม้า" เพื่อสร้างแรงจูงใจและชักจูงให้เหยื่อหลงเชื่อเข้าร่วมงาน
ลักษณะการหลอกลวงจะเริ่มจากการให้ผู้เสียหายทำงานเล็ก ๆ เช่น การส่งภาพถ่าย ซึ่งมีการจ่ายเงินจริงจำนวนเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ หลังจากนั้นจะมีการชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มที่อ้างว่ามีงานเสริม พร้อมให้เห็นหลักฐานการโอนเงินปลอม ๆ จากสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งที่แท้จริงแล้วคือบัญชีอวตารหรือหน้าม้าของกลุ่มมิจฉาชีพเอง
เมื่อเหยื่อเริ่มเชื่อและแสดงความสนใจ จะถูกดึงเข้ากลุ่มใหม่ที่มีการเรียกเก็บค่าสมัครหรือค่าเริ่มต้นในการทำงานหลักร้อยบาท ระหว่างทำงาน ผู้เสียหายจะเห็นยอดรายได้สะสมที่ดูเหมือนจะสามารถถอนออกมาได้ แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถเบิกถอนเงินดังกล่าวได้จริง
ข้อแนะนำหากพบการรับสมัครงานรูปแบบนี้
- เช็กความน่าเชื่อถือก่อนให้ข้อมูลส่วนตัว
หากมีการให้ชำระเงินก่อนสมัครงาน หรือให้ส่งข้อมูลส่วนตัว (เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน) ควรตรวจสอบให้ละเอียดก่อนทันที
- ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนโอนเงิน
นำชื่อบัญชีที่มีการระบุว่าเป็นบัญชีปลายทางไปทำการตรวจสอบกับเว็บไซต์อื่น ๆ เช่น https://www.blacklistseller.com เพื่อเช็กประวัติของเบอร์และบัญชีปลายทางว่าเคยมีประวัติฉ้อโกงหรือไม่
- ตรวจสอบชื่อเพจหรือบริษัท ผ่านช่องทางทางการ
ค้นชื่อเพจหรือชื่อบริษัทในกูเกิลหรือเฟซบุ๊กพร้อมคำว่า “โกง” “หลอกลวง” หรือ “เตือนภัย”
- ระวังการชักชวนให้ย้ายไปแอปพลิเคชันอื่นที่ไม่เป็นทางการ
มิจฉาชีพมักหลอกให้ย้ายแพลตฟอร์มเพื่อหลบการตรวจสอบ เช่น ไลน์ (LINE) หรือเทเลแกรม (Telegram)
- สังเกตความผิดปกติของภาพและข้อมูล
ภาพอบรม ภาพสำนักงาน หรือใบประกาศนียบัตร อาจถูกตัดต่อหรือนำมาจากที่อื่น ให้ลองใช้ Google lens ค้นหารูปภาพย้อนกลับดูแหล่งที่มา
- รายงานและแจ้งเตือนผู้อื่น
กดรายงานเพจและโพสต์เตือนคนอื่นในกลุ่มหรือสื่อโซเชียล เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อเช่นกัน
- หากได้รับความเสียหาย
ควรแจ้งความทันทีและเก็บหลักฐานทุกอย่าง เช่น สลิปการโอน แชตหรือภาพโฆษณา
- ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือข้อมูลผู้ประกอบการ
ควรตรวจสอบให้มั่นใจถึงกิจกรรมของบริษัทนั้น ๆ ว่ามีความเคลื่อนไหวมากน้อยขนาดไหน จากข่าว หรือ กูเกิล
วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจ
- ตรวจวจสสอบภาพในโพสต์ด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens
- ด้วยการนำภาพที่สงสัยหรือต้องการตรวจสอบ มาตรวจสอบด้วยเครื่องมือ Google Lens ซึ่งทำให้พบว่าภาพที่ตรวจสอบไปตรงกับภาพจากแหล่งอื่นหรือไม่
- การค้นหาด้วยคำสำคัญและประวัติของเพจเฟซบุ๊ก
นำชื่อหรือสถานที่ที่มิจฉาชีพใช้แอบอ้างไปค้นในช่องค้นหาเฟซบุ๊กหรือกูเกิล ผลค้นหาจะแสดงให้เห็นว่า เคยมีการเผยแพร่หรือร่องรอยดิจิทัลอย่างไรบ้าง
- ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก
ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ซึ่งจะแสดงข้อมูลว่าเพจดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อใด รวมถึงเคยมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่
อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่ม :