ด้วยในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น Fact-Checking Day หรือ วันตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล ซึ่งหลายองค์กรในประเทศไทยให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, Cofact และภาคี Cofact ชุมชน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, AFP Thailand, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาองค์กรของผู้บริโภค, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF) รวมถึงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยมีการจัดงาน สงครามข้อมูล 2025: โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น" The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age เพื่อทำภารกิจรับมือและต่อต้านกระแสการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมถึงเสริมสร้างทักษะและสร้างภูมิคุ้มกันกับวิธีการเช็กข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ (อ่านข่าวเพิ่มเติม https://org.thaipbs.or.th/content/8017 )
ไทยพีบีเอส ได้ร่วมนำเสนอหัวข้อ “การยกระดับ รับมือ ข้อมูลบิดเบือน 4.0” โดย นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล กล่าวว่า Thai PBS Verify ไม่เพียงแค่เป็นแพลตฟอร์มตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางข้อมูลให้กับประชาชน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การรวบรวม ตรวจสอบ วิเคราะห์ข่าวสารเชิงลึก รวมไปถึงการให้ความรู้ ข้อสังเกตในการป้องกันอันตราย เรียนรู้เทคนิคการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนได้มี หลักการและเห็นถึงกรณีศึกษา ตัวอย่างของภัยข่าวลวง ข้อมูลเท็จที่มาในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้กับข่าวปลอมอีกด้วย โดยรวบรวมองค์ความรู้และทักษะด้านการตรวจสอบข่าวปลอมผ่านสื่อออนไลน์บนเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/Verify , สื่อสังคมออนไลน์ Facebook, Instagram, TikTok และ LINE @ThaiPBSVerify บริการให้กับผู้ชม สามารถตรวจสอบข่าวปลอมและไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลลวงในสื่อสังคมออนไลน์
เนื่องในโอกาสเปิดตัวบริการ Thai PBS Verify อย่างเป็นทางการ ไทยพีบีเอส ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ชมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเท่าทันภัยข่าวลวง/ข้อมูลเท็จ รวมถึงสอบถามถึงความคาดหวังของการให้บริการ Thai PBS Verify ที่จะตอบโจทย์กับผู้ชมได้ในอนาคต ผ่านแบบสำรวจในช่วงวันที่ 2 – 20 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดจำนวน 1,451 คน
เมื่อถามถึงประเด็นที่ผู้ชมอยากให้ไทยพีบีเอสตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า จำนวนร้อยละ 29 ต้องการให้ Thai PBS Verify ตรวจสอบข่าวประเภท สวัสดิการ/สิทธิประโยชน์ เนื่องจากเป็นประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากรัฐหรือองค์กร อาจเป็นรูปแบบของสิทธิหรือกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะที่ ร้อยละ 25 ต้องการให้ตรวจข้อเท็จจริงด้าน สุขภาพ ปากท้อง เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัยของการใช้ชีวิต รวมไปถึงค่าครองชีพ และร้อยละ 20 อยากให้ตรวจข้อเท็จจริงด้านข่าวภัยพิบัติ เนื่องจากเป็นภัยที่สร้างความสูญเสียและสร้างความตื่นตระหนกในสังคม เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดในประเทศไทย มีข้อมูลและข่าวที่แพร่กระจายจำนวนมากที่สร้างความสับสน และความแตกตื่นในสังคม สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนยังคงต้องการความมั่นใจ และความรอบด้านของข้อมูลที่เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน และการดำรงชีวิตเป็นอันดับแรก
ส่วนประเด็นถัดมาเป็นการสอบถามเรื่องการใช้แพลตฟอร์มในการติดตามข่าวสารของผู้ชม พบว่า ร้อยละ 50.3 ติดตามข่าวสารผ่านช่องทาง Facebook ซึ่งถึงว่าเกินครึ่งของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม เนื่องจากยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเข้าถึงง่ายของคนในยุคปัจจุบัน มีการรวบรวมเนื้อหาไว้หลากหลาย ในขณะที่รองลงมาเป็นการติดตามผ่าน LINE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทยในรูปแบบการสื่อสารที่เน้นการแชทหรือข้อความ และร้อยละ 11 เป็นการติดตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ ที่ยังคงได้รับความสนใจแม้ว่าจะเป็นสื่อดั้งเดิม จากผลสำรวจในประเด็นคำถามนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการติดตามข่าวสารในยุค Digital Frist ช่องทาง Facebook และ LINE ยังคงเป็นอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนเลือกติดตามข่าวสาร แต่ก็ยังมีผู้ชมที่รับข้อมูลผ่านโทรทัศน์อยู่ แม้จะไม่รวดเร็วเหมือนสื่อออนไลน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โทรทัศน์ ยังเป็นสื่อหรือแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้
ในด้านของปัจจัยอะไร? ที่ทำให้ผู้ชมผู้ฟังเชื่อข่าวใดข่าวหนึ่ง ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 73.6 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงโดดเด่นจากเหตุผลอื่น ๆ คือ จะพิจารณาจาก “แหล่งที่มาของข่าว” ดังนั้นการรักษามาตรฐานขององค์กรสื่อให้มีความน่าเชื่อถือนั้น ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี ในขณะที่รองลงมายังคงเชื่อข่าวจากปัจจัยของช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่ได้รับมา เพราะเป็นความคุ้นเคย ความเชื่อใจ และการนำเสนอในช่องทางนั้น ๆ ทำให้หลายครั้งเชื่อข่าวนั้น โดยไม่ทราบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
ประเด็นสุดท้ายจากการสำรวจในครั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมของผู้ชมผู้ฟังว่าเคยมีแชร์ข่าวปลอมหรือส่งต่อข่าวปลอมโดยไม่รู้มาก่อนหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 48.9 มั่นใจว่าไม่เคยแชร์ข่าวปลอมมาก่อน เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของข่าว แพลตฟอร์มการติดตามข่าวสาร ทำให้เห็นว่าส่วนใหญ่ยังมีความรู้ ความเข้าใจ และระมัดระวังตัวมากขึ้น ในขณะที่รองลงมากว่าร้อยละ 24.9 บอกว่า เคยแชร์และรู้ภายหลังว่าเป็นข่าวปลอม อาจเกิดจากความไว้ใจ และเร่งรีบ ไม่มีการตรวจสอบก่อน จึงทำให้มีการแชร์เนื้อหานั้นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง
ดังนั้น ด้วยบทบาทของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ และเป็นหนึ่งในพันธกิจที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข่าวปลอมที่มีการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และเพื่อช่วยให้ผู้ชมมีทักษะในการรู้เท่าทันข่าวสาร จึงเปิดให้บริการ Thai PBS Verify ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยตรวจสอบและยุติข่าวปลอม รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ชม รวมถึงให้ผู้ชมได้เข้าถึงความจริงได้ง่ายที่สุด (Making truth easy to find) และเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า Thai PBS Verify สามารถเป็นบริการที่ใช้ในการตรวจสอบข่าวได้
และจากความคิดเห็นในประเด็นความต้องการมีส่วนร่วมกับ Thai PBS Verify สามารถเลือกตัวเลือกได้มากกว่า 1 ตัวเลือก จากผลสำรวจจากผู้ชมผู้ฟังส่วนใหญ่จากจำนวนการตอบทั้งหมด 1,451 คน พบว่า
- ร้อยละ 1 ต้องการรับบริการแจ้งหรือเตือนข่าวจริง/ข่าวปลอม จำนวน 1,075 คน
- ร้อยละ 1 ต้องการมีส่วนร่วมกับ Thai PBS Verify โดยการเข้าร่วม Event และกิจกรรมร่วมสนุก จำนวน 742 คน
- ร้อยละ 6 ต้องการเข้าร่วม Workshop/อบรมการตรวจสอบข่าวปลอมจำนวน 516 คน
- ร้อยละ 6% ต้องการเป็นผู้ส่งข้อมูลให้ไทยพีบีเอสตรวจสอบ จำนวน 502
- ร้อยละ 5.2 ไม่เป็นไร ไว้ก่อน 76 คน
(หมายเหตุ : สามารถเลือกตัวเลือกได้มากกว่า 1 ตัวเลือก)
ประมวลภาพกิจกรรมงานวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568
-------------
เกี่ยวกับ Thai PBS Verify:
ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข่าวปลอมที่มีการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ไร้การตรวจสอบ และเพื่อช่วยให้ประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทันข่าวสาร จึงเปิดให้บริการ Thai PBS Verify ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยในการตรวจสอบและยุติข่าวปลอม รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ติดตามข่าวสารและตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง เสริมภูมิคุ้มกันก่อนตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้ทาง www.thaipbs.or.th/Verify และที่ Facebook, Instagram, TikTok และ LINE @ThaiPBSVerify