EN

แชร์

Copied!

รับมือให้ทัน “ข่าวปลอม” ภัยคุกคามสมัยใหม่ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง

23 มิ.ย. 6810:17 น.
รับมือให้ทัน “ข่าวปลอม” ภัยคุกคามสมัยใหม่ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง
ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับความขัดแย้งรอบด้าน ตั้งแต่สงครามระหว่างประเทศไปจนถึงวิกฤตในภูมิภาคข่าวปลอมกลับกลายเป็นอาวุธใหม่ที่ถูกใช้เพื่อชี้นำความคิดและปลุกปั่นอารมณ์สาธารณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมั่นคงและวารสารศาสตร์ แนะประชาชนต้องรู้เท่าทันและช่วยกันตรวจสอบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับความขัดแย้งในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สงครามรัสเซีย-ยูเครน, วิกฤตมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า, สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย, รวมถึง ความขัดแย้งเชิงการทูตระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ บางครั้งข้อมูลเท็จส่งผลกระทบแบบฉายภาพไปเกินจริง ทั้ง ๆ ที่ในโลกความเป็นจริงไม่มีความขัดแย้ง เช่น กรณีสร้างข้อมูลเท็จต่อความสัมพันธ์ประเทศไทย-ลาว หรืออคติต่อชนชาติและชาติพันธุ์อื่น ๆ 

สถานการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่เปราะบางที่ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและสร้างผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากความขัดแย้งมักมาพร้อมกับ ความตึงเครียดทางอารมณ์, แรงกดดันทางสังคม, และ ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะ เชื่อและส่งต่อข้อมูล โดยไม่ทันได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

การรับมือกับข่าวปลอมในสถานการณ์ความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องใช้ “ภูมิคุ้มกันทางข้อมูล” ที่แข็งแรงกว่าปกติ ทั้งในแง่ของการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวก่อนทุกครั้ง

ข่าวปลอมและความมั่นคง

เราได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ กล่าวว่า ข่าวปลอม (Fake News) ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสมัยใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับผลกระทบจากข่าวปลอมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อ “ความมั่นคงแบบใหม่” (non-traditional security threats) อย่างรุนแรง

ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งหรือวิกฤตต่าง ๆ ข่าวปลอมถูกใช้เป็นเครื่องมือใน “สงครามข้อมูลข่าวสาร” (information warfare) หรือที่ในอดีตเรียกว่า “สงครามจิตวิทยา” (psychological warfare) โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้นำความคิดของประชาชน สร้างความหวาดระแวง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ปณิธาณให้ความคิดเห็นว่าการสกัดดั้นข่าวปลอมที่ได้ผลที่ดีที่สุดคือ การสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการบริโภคข่าวสารในหมู่ประชาชน 

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้เร็วและเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าข่าวจริงหลายเท่าตัว ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับข่าวปลอม คือการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการบริโภคข่าวสารในหมู่ประชาชน บางครั้งการปิดกั้นข่าวปลอมทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากจะกระทบกับสิทธิในการรับรู้ โดยเฉพาะในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อ เช่น สหรัฐอเมริกา”

ความโกลาหลของข่าวปลอมในโลกดิจิทัล

อ.ดร.บัณฑูร พานแก้ว อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ข่าวปลอมมีพลังในการจุดกระแสและกระตุ้นอารมณ์ของผู้รับสาร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ความรักชาติ” หรือ “ความเกลียดชัง” ซึ่งมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกในสังคม 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ในช่วงภายใต้สถาณการณ์ความขัดแย้งข้อมูลเท็จจะเดินทางได้ไวกว่าในช่วงเวลาปกติ แต่ในขณะเดียวกันความน่ากังวลของช่วงสถาณการณ์ปกตินั้น ข่าวปลอมมักค่อย ๆ แทรกซึมเข้าสู่ระบบข่าวสารอย่างแนบเนียน และอาจสร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงได้มากกว่าช่วงวิกฤตด้วยซ้ำ เพราะตรวจสอบได้ยากกว่า 

“สาเหตุของการเกิดข่าวปลอม เกิดจากความไม่รู้ของผู้เผยแพร่  บางครั้งผู้คนแชร์ข้อมูลโดยไม่ตั้งใจ เพราะไม่ทราบว่าเป็นข่าวปลอม อย่างที่สองคือ การมีเจตนาแอบแฝง  มีบางกลุ่มที่เผยแพร่ข่าวปลอมเพื่อหวังผลประโยชน์ เช่น รายได้จากยอดวิว ชื่อเสียง หรือผลทางการเมือง หรือการแข่งขันในโลกออนไลน์  ในยุคที่ความเร็ว มีความสำคัญกว่าความจริง ผู้คนจำนวนมากรีบแชร์ข่าวโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน”

แนวทางในการตรวจสอบข่าวปลอม

  • ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ ตั้งคำถามกับข้อมูลก่อนส่งต่อ ตรวจสอบแหล่งที่มาให้ชัดเจน
  • ตรวจสอบที่มาให้หลายแหล่ง  หาข้อมูลจากช่องทางที่เชื่อถือได้ แบบมากกว่า 1 แหล่งที่มาขึ้นไป
  • หัดเป็นคนช่างสงสัย เมื่อพบข่าวที่ดูน่าตื่นเต้นหรือขัดแย้งมากผิดปกติ ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน อย่าไปเพิ่งส่งต่อเพียงเพราะข่าวเร้าอารมณ์ใจหรือได้ยอด

เครื่องมือเช็กข่าวปลอม

  1. กรณีตรวจสอบภาพ/วิดีโอ ใช้เครื่องมือ : เช่น Google Lens หรือ InVid-WeVerify เพื่อดูว่าภาพนั้นเคยปรากฏที่ใดมาก่อน หรือถูกตัดต่อหรือไม่
  2. กรณีตรวจสอบภาพ/วิดีโอ ที่สร้างจาก AI ใช้เครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้น : hivemoderation.com, https://isitai.com/