จากกรณีผู้ประข่าวชื่อดัง อนุวัต เฟื่องทองแดง โพสต์วิดีโอผ่านเพจชื่อ อนุวัต จัดให้ ว่าถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์นำรูปไปแอบอ้างเพื่อฉ้อโกงเกี่ยวกับธุรกรรมสินเชื่อ จนมีผู้เสียหายถูกหลอกและแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นทางตำรวจส่งหมายเรียกผู้ต้องหาไปยัง อนุวัต จึงทำให้ผู้ประกาศข่าวรายดังกล่าวออกมาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นผู้เสียหาย
โดย ระบุข้อความในโพสต์ว่า
จากผู้เสียหายเป็นผู้ต้องหา ผู้เสียหายบึงกาฬแจ้งความดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงจากภาพที่มิจฉาชีพเอาไปแอบอ้างที่แปลกคือ ตำรวจรับดำเนินคดีด้วย ผลจากคอลเซนเตอร์ที่ไม่ปราบปราม ปล่อยให้เกิดผลกระทบ #อนุวัตจัดให้
“จากผู้เสียหายถูกแอบอ้างจากแก๊งคอลเซนเตอร์เรื่องของเงินกู้ และแล้ววันนี้ก็มาถึง ผมตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง มีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีผม ในข้อหาฉ้อโกง ตำรวจรับแจ้งความ ที่จังหวัดบึงกาฬ ให้ไปรายงานตัวผู้ต้องหาร่วมฉ้อโกง ครั้งที่ 1 ผมเป็นผู้เสียหาย แต่โดนเรียกเฉยเลย แม้ตำรวจเสนอว่าไม่ต้องไปถึงบึงกาฬ สามารถแต่งตั้งทนายไปคุยแทนที่พหลโยธินก็ตาม มันไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้แต่แรก”
Thai PBS Verify ได้นำกรณีดังกล่าวไปสอบถามกับ ทัศไนย ไชยแขวง อาจารย์วุฒิคุณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตอุปนายกสภาทนายความ ถึงกระบวนการการเรียกผู้ต้องหาลักษณะนี้ว่า ทำได้หรือไม่
อดีตอุปนายกสภาทนายความ กล่าวว่า กระบวนการทางอาญา ถ้าผู้เสียหายในคดีฉ้อโกง แจ้งความกับตำรวจ พนักงานสืบสวนมีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งรวมถึงการสอบถามจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้โอนเงิน และสอบถามจากผู้ที่ถูกกล่าวหา รวมถึงการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง จึงจำเป็นต้องมีจดหมายถึงทางผู้ประกาศข่าว
“ในบางกรณี อาจมีการเรียกผู้ประกาศ มาชี้แจง ซึ่งสามารถอ้างเหตุผลเพื่อส่งตัวแทนไปแทนได้ ไม่เหมือนกับขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะต้องไปด้วยตนเอง เพราะการแจ้งข้อกล่าวหานั้นเกิดขึ้นเมื่อตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยได้กระทำความผิดจริง และจะแจ้งข้อหาว่า ผู้นั้นกระทำความผิดในข้อหาอะไร เช่น ฉ้อโกง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่างกัน”
“กรณีของคุณอนุวัต ตำรวจต้องการให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อชั่งน้ำหนักข้อมูล อาจไม่ถึงขั้นแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเพียงการเรียกมาชี้แจงเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน โดยสามารถชี้แจงทางโทรศัพท์หรือส่งเอกสารแทนได้”
ตำรวจมีอำนาจในการดำเนินคดี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา และอาจยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในเบื้องต้น
อีกทั้ง คุณอนุวัตถือเป็นผู้เสียหาย สามารถแจ้งความกับตำรวจได้ว่ามีผู้นำรูปไปใช้ในการฉ้อโกง หากพบว่าภาพของตนเองถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การหลอกลวง ควรแจ้งความไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐาน หรือเพื่อดำเนินคดี ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาชัดเจน ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการกระทำความผิดนั้น
ทำอย่างไรหากเราโดนมิจฉาชีพนำภาพไปใช้ในทางผิดกฎหมาย
- รีบแจ้งความในฐานะผู้เสียหาย
- รวบรวมหลักฐาน : บันทึกภาพหลักฐานที่มิจฉาชีพขโมยภาพไปใช้
รวมถึงหลักฐานคำให้การหรือข้อความจากเหยื่อที่โดนหลอกซึ่งอ้างว่าเกี่ยวข้องกับเรา
- หากได้รับหมายเรียกจากตำรวจ : อย่าละเลย ไม่ว่าจะในฐานะพยานหรือผู้ถูกกล่าวหาและรีบไปตามหมายเรียก หรือหากไม่สะดวกเดินทาง ให้แต่งตั้งทนายไปแทน และจัดทำเอกสารชี้แจงให้ชัดเจน
วิธีป้องกันเบื้องต้นไม่ให้ถูกขโมยส่วนตัว
- ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ในโซเชียลมีเดียให้มากที่สุด เช่น ไม่ให้บุคคลแปลกหน้าแชร์ภาพหรือโพสต์ของคุณได้
- หลีกเลี่ยงการโพสต์เอกสารสำคัญ หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน เลขบัญชี
- หากพบว่ามีเพจปลอมหรือโปรไฟล์แอบอ้าง ให้ รายงานกับแพลตฟอร์ม เช่น Facebook หรือ Instagram ทันที