EN

แชร์

Copied!

สำรวจ Fake News บนฟีดโลก เมื่อข่าวปลอมกลายเป็นเครื่องมือตีตรากลุ่ม LGBTQ+

25 มิ.ย. 6810:40 น.
สำรวจ Fake News บนฟีดโลก เมื่อข่าวปลอมกลายเป็นเครื่องมือตีตรากลุ่ม LGBTQ+
แม้ใกล้จะผ่านกลิ่นอายบรรยากาศการเฉลิมฉลองในช่วงเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Mouth) ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความคุกรุ่นของอคติ การตีตราทางเพศ ผ่านการส่งต่อข้อมูลเท็จโดยเครื่องมือที่เรียกว่า “ข่าวปลอม” อย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางกระแสโลกที่มีการผลักดันการยอมรับความหลากหลายทางเพศให้เกิดความเท่าเทียม แต่ข้อมูลเท็จที่ยังล่องลอยอยู่ในสังคม สะท้อนถึงแนวคิดของผู้คนในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ 

Thai PBS Verify ชวนดูตัวอย่างข่าวปลอมที่เกิดขึ้นสร้างความเข้าใจผิด ๆ ทั่วมุมโลกต่อกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่พบว่ามีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดังนี้

1. กรณีผู้สมัครรีพับลิกันในนอร์ทแคโรไลนาแพร่ข้อมูลเท็จใน X โจมตี LGBTQ+ อ้างว่า อักษรย่อ “+” ใน LGBTQ+ รวมคำว่า Pedophilia (โรคใคร่เด็ก)

มิเชล มอร์โรว์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวหาว่าคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต โม กรีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสิทธิเพื่อ LGBTQ+ สนับสนุนพฤติกรรมผิดกฎหมายอย่างการล่วงละเมิดเด็ก โดยอ้างเท็จว่าตัวอักษร “+” ใน LGBTQ+ รวมถึง “Pedophillia” (โรคใคร่เด็ก) ด้วย ซึ่งคำกล่าวนี้เคยถูกหักล้างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าไม่เป็นความจริง แต่ยังถูกผลิตซ้ำและนำมาเผยแพร่ใช้โจมตีชุมชน LGBTQ+ อย่างต่อเนื่อง (ลิงก์บันทึก)

2. ข่าวปลอมอ้าง คลิปประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะยุติเทศกาล Pride Month ในเดือนมิถุนายนของทุกปี แท้จริงเป็นคลิปสร้างจาก AI Deepfake

AFP South Korea รายงานว่าพบการแชร์วิดีโอประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะยุติเทศกาล Pride Month บนแอปพลิเคชัน X พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า “ทรัมป์: เดือนแห่งความภาคภูมิใจในเดือนมิถุนายนถูกยกเลิกแล้ว เซ็กส์ทางทวารหนักไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีอะไรให้น่าภาคภูมิใจ”

โดยวิดีโอต้นฉบับนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พูดถึงการที่รำลึกถึงเทศกาลปัสกาของชาวยิว ไม่ได้พูดถึงการยกเลิกเทศกาลเฉลิมฉลองสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือเสียดสีกลุ่ม LGBTQ+ แต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก

โพสต์ที่เผยแพร่ข่าวปลอมพร้อมคำบรรยายที่แสดงถึงอคติทางเพศหลากหลาย

3. การเผยแพร่ข้อมูลตีตรา LGBTQ+ เชื่อมโยงโรคระบาดทางเพศ กรณีฝีดาษวานร ปี 2023

เกิดกระแสดราม่าช่วง Pride Month ปี 2023 หลัง กรมควบคุมโรค โพสต์เตือนภัยโรคฝีดาษวานร โดยใช้ภาพขบวน Pride คู่กับภาพโรคฝีดาษลิง ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นการตีตรากลุ่มชายรักชายและ LGBTQ+ ว่าเป็นพาหะของโรค ทั้งที่โรคฝีดาษลิงมีต้นกำเนิดจากสัตว์ในแอฟริกา และแพร่จากสัตว์สู่คน ก่อนจะกลายเป็นการติดจากคนสู่คน 

ภาพจากแอปพลิเคชัน X ของกรมควบคุมโรค เผยแพร่แนะเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงคู่กับภาพกลุ่ม LGBTQ ก่อนจะลบโพสต์ดังกล่าว ในเวลาถัดมา

นายแพทย์กีรติ  สุรการ แพทย์ประจำคลินิกเวชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นกับกรณีการติดต่อของฝีดาษลิงว่า การติดเชื้อสามารถติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิด กับตุ่ม ผื่น, แผล, น้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ หรือการมีเพศสัมพันธ์ (โดยเฉพาะการสัมผัสผิวหนังและเยื่อบุ) การใช้ของร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า, ผ้าเช็ดตัว, เครื่องนอนที่ปนเปื้อน หรือการหายใจ (ละอองฝอยจากการพูด/จาม/ไอ ขณะใกล้ชิดกันมาก)

กีรติ สุรการ แพทย์ประจำคลินิกเวชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

ทั้งนี้แพทย์ยืนยันว่า ฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่เกิดกับเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ แต่ทุกคนสามารถมีความเสี่ยงได้

“โรคฝีดาษลิง สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะหากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะทางผิวหนังหรือทางเพศที่ไม่ป้องกัน การรวมกลุ่มหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงทำให้เกิดการแพร่ได้ง่าย”

4. กรณี ปี 2020 ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีรายงานข่าวปลอมเกี่ยวการแพร่ระบาดโควิด 19 ใช้ข้อความว่า “แพร่ระบาดจากคลับเกย์” ที่อิแทวอน

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2020 ได้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด 19 ครั้งใหม่ในย่านคลับกลางคืนของอิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่ามีต้นตอมาจากผู้ติดเชื้อรายหนึ่ง ที่เข้าไปเที่ยวในสถานบันเทิงหลายแห่งในย่านนี้ อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวของสื่อบางสำนักของเกาหลี กลับสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน เนื่องจากเน้นย้ำว่าเป็น “เกย์คลับ” และระบุถึงพฤติกรรมทางเพศของผู้ติดเชื้อ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมโรค รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาเตือนว่า การพาดหัวข่าวลักษณะนี้อาจนำไปสู่การตีตรากลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) และขัดขวางความร่วมมือในการควบคุมโรค เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องอาจหลีกเลี่ยงการเข้ารับการตรวจ เนื่องจากกลัวการเปิดเผยตัวตนหรือถูกสังคมประณาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อเผยแพร่รายละเอียดส่วนตัวของผู้ติดเชื้อ เช่น ที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน

คิม อูจู ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเรีย กล่าวว่า “รสนิยมทางเพศไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ แต่กลับถูกยกขึ้นมาพูดซ้ำ ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดี และอาจกลายเป็นการโยนความผิดให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” เขายังเสริมว่า “เราควรตำหนิพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมหน้ากาก มากกว่าที่จะตำหนิกลุ่มคน”

 

ที่มา